บัญทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์
เรื่อง การจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ข้าพเจ้า ผู้บริหาร / เจ้าของ / บรรณาธิการ ผู้มีอำนาจเต็ม ของหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ รวมทั้งผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ได้ลงนามท้ายบันทึกเจตนารมณ์ฉบับนี้ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรให้มีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อันเป็นองค์กรอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพ หนังสือพิมพ์ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ ยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะประกอบด้วย คณะกรรมการที่คัดเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ จำนวน 11 คน ผู้ทรงคุณวุฒิและประชาชนทั่วไปที่สังคมยอมรับอีกจำนวน 10 คน ทำหน้าที่รับและวินิจฉัยคำร้องเรียน เมื่อมีการละเมิดหลักจริยธรรม เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นธรรมแล้วว่าเป็นผู้ ละเมิด ได้แสดงความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด
ข้าพเจ้าผู้ลงนามท้ายบันทึกฉบับนี้ จะยอมลงนามผูกพันตามธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการอันประกอบด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน นางบัญญัติ ทัศนียะเวช และรองศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช เป็นรองประธาน นายมานิจ สุขสมจิตร นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ศาสตราจารย์นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ นายเกษม สรศักดิ์เกษม นายกำแหง ภริตานนท์ นายพนา จันทรวิโรจน์ นายไพศาล ศรีจรัสจรรยา และนายสุวัฒน์ ทองธนากุล เป็นกรรมการ ได้ร่างขึ้นตามกรอบแห่งเจตนารมณ์ข้างบนนี้ และเห็นชอบด้วยแล้ว
จึงได้ลงนามไว้เป็นสำคัญ
กำเนิดของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
เนื่องจากความเห็นร่วมกันในการประชุมสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ประชุมได้มีมติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตัดข้อความว่าองค์กรอิสระตามกฎหมายกำหนดออก จากมาตรา 40 ซึ่งกำหนดให้มีองค์กรอิสระควบคุมหนังสือพิมพ์ แล้วให้นำไปบัญญัติไว้ในหมวด 5 ว่าด้วยหลักการพื้นฐานในการกำหนดนโยบายของรัฐ เพราะสื่อมวลชนต้องการให้องค์กรนี้เป็นอิสระจริงๆ ปราศจากการแทรกแซงของทางราชการและการเมืองในขณะที่สื่อมวลชนก็พร้อมที่จะ ตั้งองค์กรขึ้นมาควบคุมกันเอง
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ว่า มาตรา 40 ที่ระบุรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของพนักงานหรือ ลูกจ้างเอกชนที่ประกอบกิจการด้านสื่อมวลชน รวมทั้งเจ้าพนักงานของรัฐ โดยไม่ต้องขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพภายใต้การควบคุมของ "องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ" นั้น เป็นหลักการที่ดี แต่องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว จำเป็นต้องมีหลักประกันในความเป็นอิสระ ภายใต้หลักการควบคุมกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ หรือวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องมีการพิจารณากันโดยละเอียดรอบคอบในขั้นของการออกกฎหมาย ประกอบตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
ในการประชุมสมาพันธ์ฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ที่ประชุมมีมติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญตัดข้อความว่า องค์กรอิสระตามกฎหมายกำหนดออกจากมาตรา 40 แล้วนำไปบัญญัติไว้ในหมวด 5 ว่าด้วยหลักการพื้นฐานในการกำหนดนโยบายของรัฐ และในการประชุมเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2540 ที่ประชุมมีความเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน 7 คน ได้แก่ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายวีระ ประทีปชัยกูร นายพนา จันทรวิโรจน์ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายวิทูร พึงประเสริฐ นายวันชัย วงศ์มีชัย และนายวรวิทย์ ศรีอนันตรักษา มีนายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นที่ปรึกษา คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่สอบถามความต้องการของเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ถึงเรื่องให้องค์กรอิสระโดยไม่ต้องให้กฎหมายบังคับ
คณะทำงานชุดนี้ ทำงานในรูปของการฟังความคิดเห็นจากเจ้าของหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ว่าจะมีองค์กรอิสระควบคุมกันเองหรือไม่ และได้มีข้อสรุปให้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้น โดยในขั้นแรกให้มีการจัดตั้งกรรมการยกร่างธรรมนูญ "สภาการหนังสือพิมพ์แห่ง ชาติ"
สมาพันธ์ฯ ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 แต่งตั้งกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีใจความว่า ตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มีเจตนารมณ์ที่จะจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองโดยสมัครใจ เจ้าของและบรรณาธิการผู้มีอำนาจเต็มของหนังสือพิมพ์และสมาคมฯ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ชอบด้วยกฎหมายได้ให้ความเห็นชอบที่จะลงนามร่วมกันในวัน ที่ 4 กรกฎาคม 2540 เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพทั้งมวลพร้อมที่จะดำเนินการควบคุมกัน เอง เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานในเรื่องเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นหลักประกันความรับผิดชอบในการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพนี้
ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทย อังกฤษ 25 ฉบับ จากจำนวนทั้งสิ้น 32 ฉบับ รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ 10 องค์กร ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกเจตนารมณ์จัดตั้ง "สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ" เพื่อเป็นองค์กรควบคุมกันเอง และส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และ กิจการหนังสือพิมพ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยมีตัวแทนสถานทูตสหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ที่สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการยกร่างฯ แถลงผลสำเร็จการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า คณะกรรมการยกร่างฯ ได้ดำเนินการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ตามเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้ลงนามในบันทึกร่วมกันเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ศ.นพ.ประเวศ แถลงว่า หลักการสำคัญของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตามธรรมนูญดังกล่าว เป็นไปเพื่อให้วงการหนังสือพิมพ์ได้ควบคุมดูแลกันเอง ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาร่วมในคณะกรรมการสภาการหนังสือ พิมพ์ฯ ดังกล่าวด้วย องค์ประกอบของกรรมการประกอบด้วย 4 ส่วน คือ เจ้าของหรือผู้บริหารหรือผู้ประกอบการซึ่งเลือกกันเอง 5 คน บรรณาธิการหรือตัวแทนผู้มีอำนาจจากกองบรรณาธิการซึ่งเลือกกันเอง 5 คน ผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์ซึ่งเลือกโดยสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ อีก 7 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอาวุโสและประสบการสูงด้านหนังสือพิมพ์ซึ่ง ไม่สังกัดหนังสือพิมพ์ใด2คน
อีกหลักการหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมกันเองของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กำหนดไว้ในหมวดความรับผิดชอบทางจริยธรรม เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ใน สังกัดสมาชิกละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ก็จะแจ้งให้หนังสือพิมพ์ฉบับที่ถูกร้องเรียนลงตีพิมพ์คำวินิจฉัยดังกล่าวภาย ใน 7 วัน และอาจแจ้งให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นตีพิมพ์ข้อความคำขอโทษผู้เสียหาย ส่วนกรณีมีผู้ถูกร้องว่าประพฤติผิดจริยธรรมสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะแจ้งไปยังต้นสังกัดเพื่อดำเนินการลงโทษแล้วแจ้งผลให้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทราบโดยเร็ว ในการนี้สภาอาจเผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะได้ คณะกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะยกร่างข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้มีการเลือกกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นเป็นคณะแรกภายใน ระยะเวลา 120 วัน หลังจากนั้นสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะดำเนินการเพื่อให้มีการควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต่อไป
การเลือกตั้งกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ในวันที่ 9 ตุลาคม 2540 นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการคือ ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ และนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ได้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติชุดแรกตามธรรมนูญ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 9 ซึ่งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะมีด้วยกันไม่เกิน 21 คน โดยจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ ประเภท 1, 2, และ 3 ก่อน จำนวน 14 คน เพื่อไปดำเนินการเลือกตั้งกรรมการในประเภทที่ 4 อีกจำนวน 7 คน ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยกรรมการทั้ง 3 ประเภท มาจากกลุ่มผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ไม่เกินกลุ่มละ1คน
ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 ได้มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2540 โดยที่ประชุมได้มีการเลือกตั้งประธาน รองประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกให้นายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นาย พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 1 ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เป็นรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ 2 นายสุวัฒน์ ทองธนากุล เป็นเลขาธิการ และนางผุสดี คีตวรนาฏ เป็นเหรัญญิก
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิก ไปดำเนินการร่างนโยบายในการทำงานและศึกษาการร่างระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เช่น ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อบังคับว่าด้วยการรับและพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ฯลฯ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2540
ในการประชุมนี้ นอกจากจะมีผู้แทนจากเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแมกไซไซ ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาแพทยสภา ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และนายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย
ล่าสุด สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้อนุมัติข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์จำนวน 30 ข้อ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 และเริ่มเปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนและผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อพิจารณากลั่น กรองเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยมีนักวิชาการและผู้แทนองค์กรเอกชนทางด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมเป็น กรรมการด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาการฯเสียดาย'แนวหน้า'ออก ยืนยันยังมีอีก50ฉบับเป็นสมาชิก
'ชัย ราชวัตร'ชื่นชม'แนวหน้า' ตัดสินใจลาออกจาก'สภาการฯ'
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี