8 ม.ค.61 นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการปฏิรูปอาชีวศึกษาใหม่ให้เป็นรูปธรรม และถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ แม้จะมีระยะเวลาไม่นานแต่ถือเป็นการเริ่มต้นเพื่อวางแนวทางสำหรับอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน
โดยเบื้องต้น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการมี 3 แนวทาง คือ ยกประสิทธิภาพ และคุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนตอบโจทย์ยุทธุ์ศาสตร์ในการพัฒนาประเทศให้ได้ ซึ่งคิดว่าตอนนี้ หน่วยงานที่จะเป็นต้นแบบได้ทันทีคือ แนวทางของวิทยาลัยแห่งชาติว่าด้วยเทคโนโลยีโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเท่าที่ทราบบางวิทยาลัยที่มีศักยภาพใช้หลักสูตรของโคเซ็นอยู่แล้ว ดังนั้น แนวทางอาจจะกระจายหลักสูตร 5 ปี และวิธีการเรียนการสอนแบบโคเซ็นให้มากขึ้น
2.การพัฒนาศักยภาพ ผู้เรียนอาชีวะฯ ให้มีความเชื่อมโยงกับระบบมหาวิทยาลัย เนื่องจากรายวิชาของอาชีวะไทยไม่อยู่ในแนวเดียวกับหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด จึงเกิดปัญหากรณีที่ผู้จบอาชีวะฯไม่สามารถไปเทียบโอนเข้าศึกษาต่อในหาวิทยาลัยราชมงคล (มทร.) ได้ หรือมหาวิทยาลัยอื่นที่อยู่ในสาขาเดียวกัน
ทั้งนี้ จึงต้องมีการปรับมาตรฐานหลักสูตรทั้งของ สอศ.และของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้เชื่อมโยงกันอย่างจริงจัง โดยต่อไปการเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่าระดับอนุปริญญา จะให้มาใช้มาตรฐานหลักสูตรเดียวกับมาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี เพื่อให้สามารถเรียนต่อเนื่องได้ทันที
รมช.ศธ.กล่าวต่อว่า ช่องทางการพัฒนาศักยภาพอาชีวะฯ เพื่อให้ได้ปริญญาตรี เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ควรทำ แต่ส่วนตัวไม่อยากให้ผู้ที่เรียนสายอาชีพมาใช้ช่องทางนี้ทั้งหมด เพราะจุดเด่นของอาชีวะ เป็นเรื่องของการเรียนสายปฏิบัติ เป็นการเรียนเพื่อเพิ่มสมรรถนะ ดังนั้น อยากให้ผู้เรียนทางด้านนี้ เติมโตทางสายอาชีพโดยตรง ให้พัฒนาสมรรถนะใช้ทักษะชั้นสูง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ดังนั้น แนวทางที่ 3 คือ จะต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ปรับฐานเงินเดือนให้ผู้ที่จบสายอาชีพ
ทั้งนี้ หากสายวิชาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ว่าที่จะการันตีเงินเดือนให้ได้สูงกว่าระดับปริญญาตรี เพราะเราไม่ต้องการให้ผู้เรียนสายอาชีพ มาเรียนปริญญาตรีทั้งหมด เดี๋ยวจะกลายเป็นนักวิชาการ ดังนั้น จึงอยากให้คงความเข้มข้นในสายปฏิบัติไว้ อย่างเช่น วิชาชีพแพทย์ศาสตร์ ซึ่งได้รับการรันตี เงินเดือนในระดับปริญญาเอก
"วันที่ 10 ม.ค.นี้ ผมจะเชิญมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกดรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาหารือในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง
เชื่อว่า การปฏิรูปอาชีวศึกษาใหม่นี้ จะสามารถทำได้แน่นอน เพราะช่วงเริ่มต้นเราไม่ได้ทำกับสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทั้ง 400 กว่าแห่ง แต่จะคัดเลือกนำร่องสถานศึกษาที่มีศักยภาพ 10 - 20 แห่งก่อน แล้วค่อยขยายเพิ่มขึ้นเลื่อยๆ โดยผมเสนอให้เริ่มตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 (ปวช.3) เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาตรี หรือสูงขึ้นกว่านั้น และนายกฯ เองก็กังวลว่า หากเริ่มตั้งระดับ ปวช.ปี 1 อาจจะไม่ทัน ดังนั้น เป็นไปได้ว่า จะเริ่มให้ทุนผู้ที่จบ ปวช.ปี 3 ที่จะเข้าเรียนต่อ ปวส.และ ป.ตรี ก่อน ซึ่งหากสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ใดทำได้ ก็จะให้งบประมาณเป็นเงินรายหัว แต่ต้องเป็นสาขาที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เช่น สาขารถไฟฟ้าระบบราง , ช่างอากาศยาน , หลักสูตรโรโบติกส์ , หลักสูตรแมคคาทรอนิกส์ , หลักสูตรการท่องเที่ยว และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์" นพ.อุดม กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี