ข่าวดีปีหน้าลุ้นใช้วัคซีนโควิด
‘บิ๊กตู่’เร่งเดินเครื่อง
ประสบผลสำเร็จในหนูทดลอง
สัปดาห์หน้าทดสอบกับลิง
พบป่วยเพิ่ม2คน-ไม่มีตาย
เตือนทุกฝ่ายการ์ดห้ามตก
ไทยพบติดเชื้อใหม่ 2 ราย สัมผัสคนในครอบครัว โหลดแอพฯไทยชนะกว่า 3.6 ล้าน ร้านอาหารลงทะเบียนมากสุด ย้ำปชช.เช็คอินแล้วเช็คเอาท์ด้วยผลประเมินกิจกรรม-กิจการให้บริการ ถ้าคะแนนต่ำส่งต่อศปม.ลงพื้นที่ตรวจสอบ กำชับกิจการอื่นนอกห้างต้องลงทะเบียนด้วย เพื่อความรวดเร็วในการติดตามสอบสวนโรค โฆษก
ศบค.ยันร้านเสริมสวยตัดผมได้อย่างเดียว ทำสี-ดัดผมไม่ได้ ชี้ยืนเลขติดเชื้อหลักเดียวได้นาน คลายล็อคเฟส3-4ตามมาแน่ แนะผับ-บาร์คิดนวัตกรรมนั่งดื่มปลอดติดโรค นายกฯลั่นคุมโควิด-19ระบาดได้ แต่ยังต้องแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่สาหัสไม่แพ้กันต่อ’สธ.’เตือนซ้ำออกนอกบ้านเสี่ยงสูง เลี่ยงจุดคนเบียดเสียดแออัด ด้านวัคซีนอว.เผยข่าวดี อาจได้ใช้ต้นปี64 หลังผ่านทดลองในหนูแล้ว เตรียมทดสอบในลิงสัปดาห์หน้า
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)หรือ ศบค. แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ประจำวันที่ทำเนียบรัฐบาล
ติดเชื้อใหม่2จากคนในครอบครัว
โดยนพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม จำนวนสะสมยังอยู่ที่ 56 ราย รักษาหายสะสมที่ 2,857 ราย อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) 118 ราย และพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มใหม่ 2 ราย สะสมอยู่ที่ 3,033 ราย พบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนนทบุรี 1,705 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 393 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคใต้ 729 ราย โดยผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 97 ปี โดยเฉลี่ยคืออายุ 39 ปี พบผู้ป่วยมากในอายุ 20-29 ปี
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 2 รายนั้น เป็นหญิงไทย อายุ 36 ปี ลูกสาวของผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า จ.นราธิวาส และชายไทย อายุ 42 ปี ลูกเขยของผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า จ.นราธิวาส ซึ่งผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันที่เข้ารักษาตัวโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ที่ จ.นราธิวาส และผู้ป่วย 2 รายใหม่ เข้ารับการตรวจหาเชื้อวันที่ 14 พฤษภาคม
“พูดง่ายๆคือการไปเฝ้าไข้คุณพ่อ และสัมผัสใกล้ชิดกับพ่อที่ป่วยเป็นปอดอักเสบและเข้ารับการรักษา โดยทั้งสองรายนี้ตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 8 พฤษภาคม แต่ไม่พบ มาตรวจซ้ำวันที่ 14 พฤษภาคมจึงพบเชื้อ คาดว่าครั้งแรกอาจตรวจเร็วไปหน่อยจึงไม่พบ อย่างไรก็ตาม ระบบการควบคุมโรคทำงานได้เป็นอย่างดี เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดจึงมีการติดตามต่อ ทั้ง 2 รายนี้อาศัยอยู่ในบ้านไม่มีผู้สัมผัสอื่น“ นพ.ทวีศิลป์กล่าว
โหลดไทยชนะ3.6ล.-ร้านอาหารแชมป์
นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงการใช้งานแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 21:00 น.พบ ภาพรวมการใช้งานยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 1.จำนวนร้านค้าลงทะเบียนมี 60,853 ร้าน 2.จำนวนผู้ใช้งาน 3,660,081 คน และ 3.จำนวนการเข้าใช้งาน การเช็กอิน 5,562,344 ครั้ง / เช็คเอาท์ 4,052,259 ครั้ง / ประเมินร้าน 2,617,781 ครั้ง ทั้งนี้ มี 10 จังหวัด ผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนร้านค้าสูงสุด ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 19,556 ร้าน 2.ชลบุรี 3,544 ร้าน 3.นนทบุรี 3,338 ร้าน 4.สมุทรปราการ 2,523 ร้าน 5.ปทุมธานี 2,403 ร้าน 6.เชียงใหม่ 2.152 ร้าน 7.นครราชสีมา 1,828 ร้าน 8.ภูเก็ต 1,574 ร้าน 9.ขอนแก่น 1,283 ร้าน และ 10.สุราษฎร์ธานี 1,228 ร้าน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า โดย 10 ประเภทกิจการ ผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนสูงสุด ได้แก่ 1 ร้านอาหาร, เครื่องดื่ม, ภัตตาคาร, ศูนย์อาหาร 15,578 ร้าน 2.ห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า, คอมมูนิตี้มอลล์ 12,770 ร้าน 3.ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง 10,225 ร้าน 4.ธนาคาร 4,178 ร้าน 5.การให้บริการ 3,954 ร้าน 6.การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 3,671 ร้าน 7.คลินิกเสริมความงาน, ร้านเสริมสวย 2.853 ร้าน 8.ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 2,724 ร้าน 9.สินค้าเบ็ดเคล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต 2,148 ร้าน และ 10.ร้านขายยา 814 ร้าน
เช็คอินห้างเยอะสุด-ย้ำเช็คเอ้าท์
“ขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมมือ โดยเช็คอินมากที่สุดคือ ห้างสรรพสินค้า ที่เช็คอินถึง 2,860,095 ครั้ง แต่จำนวนการเช็กเอาท์น้อย ซึ่งอาจต้องนำมาพูดกันบ่อยๆ เพื่อให้ประชาชนคุ้นเคย และภาพของห้างสรรพสินค้าจากวันแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่มีประชาชนเข้าไปใช้จำนวนมากเนื่องจากเป็นวันหยุดวันอาทิตย์ แต่ภาพของวันที่ 18 พฤษภาคม ที่เป็นวันทำการปกติ ดูเรียบร้อยดี แต่ ขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกท่านที่เป็นผู้ใช้บริการ และขอขอบคุณผู้ให้บริการทุกส่วนที่เข้ามาลงทะเบียน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
พบร้านคะแนนต่ำส่งศปม.ตรวจ
และว่า ส่วนการประเมินร้านค้า 1-5 เรียงตามลำดับความเพิ่งพอใจ โดย 5 พึงพอใจสูงสุด ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ 5 คะแนน จึงต้องขอบพระคุณประชาชนคนไทยทุกคนที่ให้ความร่วมมือเปิดกิจการร้านค้า ซึ่งอาจมีคะแนน 1,2 บ้าง แต่คะแนนที่ต่ำเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) โดยคณะกรรมการที่เป็นชุดตรวจตามมาตรการผ่อนคลาย จะลงพื้นที่ไปตรวจให้ ซึ่งวางกำลังไว้ตั้งแต่ 1.กำลังชุดตรวจตามมาตรการหลัก ได้แก่ ชุดตรวจร่วม 90 ชุดตรวจ ชุดตรวจทั่วไป 1,896 ชุดตรวจ และชุดตรวจส่วนกลาง 74 ชุดตรวจ 2.กำลังชุดตรวจตามมาตรการเสริม ได้แก่ 1.ชุดตรวจจังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) / ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และการสาธารณสุข (ศปก.)จังหวัด/ศปก.อำเภอ/ศปก.ตำบล/องค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 2.ชุดตรวจเฉพาะ คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แก้ยากช่วงเร่งด่วนรถไฟฟ้าแน่น
“การตรวจกิจการรถไฟฟ้า ช่วงเวลาทำการที่มีความเร่งด่วนก็จะเห็นอีกภาพหนึ่ง ดังนั้น การเหลื่อมเวลาทำงานหรือทำงานที่บ้านจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เมื่อยืนรอที่สถานีมีความห่างกันดี แต่เมื่อเข้าไปในรถไฟฟ้าก็มีความแออัด เพราะพื้นที่ดีที่มีเหลืออยู่คนก็อยากขึ้นไป ซึ่งเป็นความยากลำบากในการจัดการบริหาร แต่อย่างน้อยสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หรือถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าออกไปในเวลาที่เร่งด่วน อย่าเอาตัวเองไปเสี่ยง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
กิจการอื่นใช้แอพฯไทยชนะด้วย
และว่า สำหรับการเก็บข้อมูลในแอปพลิเคชันไทยชนั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีเจตนาเพื่อควบคุมโรคประการเดียว เพื่อให้ติดตามตัวได้ง่าย และชุดข้อมูลนี้เก็บไว้เพียง 60 วันเท่านั้น หากไม่ติดเชื้อ ข้อมูลย้อนหลัง 60 วันก็จะถูกลบออกไป ไม่ต้องกังวลใจ ยืนยันว่าภาครัฐดูแลและปกป้องความเป็นสิทธิส่วนบุคคล เช่นเดียวกับ ร้านค้าและสถานประกอบการที่ไม่อยู่ในห้างสรรพสินค้าก็จำเป็นต้องลงทะเบียนในแอพฯไทยชนะ รวมถึงสถานที่ที่ทำกิจกรรมต่างๆ และสวนสาธารณะ ก็ควรลงทะเบียนเช่นเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามโรค
ร้านเสริมสวย-ตัดผมอย่างเดียว
โฆษก ศบค.กล่าวยังกล่าวถึงการผ่อนปรนร้านตัดผมร้านเสริมสวยให้เปิดทำการได้นั้น ยืนยันว่า การผ่อนปรนกิจการร้านตัดผมและร้านเสริมสวย ยังไม่อนุญาตให้ดัดผมหรือย้อมสีผม เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง หากไทยทำตัวเลขให้ต่ำกว่า 2 หลักได้นานขึ้น ก็จะเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 3 และ 4 ต่อไป
แนะผับ-บาร์คิดนวัตกรรมดื่มปลอดภัย
ส่วนธุรกิจสถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ จะเปิดกิจการได้ระยะที่ 4 ช่วงปลายเดือนมิถุนายนหรือไม่นั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หลังมีกรณีเกิดขึ้นที่ต่างประเทศทำให้เรากังวลใจ โดยกลุ่มธุรกิจนี้อยู่ในกลุ่มสีแดง คือกิจการ กิจกรรม ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเกณฑ์ปานกลางถึงสูง ซึ่งอยู่ในการผ่อนปรนระยะที่4 ทั้งนี้ หากดูจากกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อเราสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อจากตัวเลขสามหลักในช่วงมีนาคม ลดลงมาเรื่อยๆจนกระทั่งประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 1 วันนี้ประมาณ 22 วันแล้ว เราถือว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักเดียวยาว 22 วัน หรือประมาณ 3 สัปดาห์ หากการ์ดไม่ตก ขอความร่วมมือจากทุกคนช่วยกัน ขอให้ตัวเลขหลักเดียวไปนานๆ กินการ กิจกรรม ทุกๆอย่างจะกลับมาได้เหมือนเดิม แต่ต้องอยู่ในชีวิตวิถีใหม่ หรือnew normal คือ ต้องสวมหน้ากาก ที่นั่งเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย ต้องดีไซน์ออกแบบนวัตกรรมเพื่อให้ทางการหรือหน่วยงานสาธารณสุขมั่นใจได้ว่าเมื่อไปดื่ม ไปนั่งที่ร้าน แล้วจะปลอดภัยไม่ติดโรคโควิด-19 ได้ โดยระหว่างรอการเปิดร้านนั้นสามารถเสนอความคิดเห็นมาได้ที่ศบค.
สธ.ย้ำเช็คอินเช็คเอ้าท์ห้างสกัดระบาด
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19ว่า ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่อย่าการ์ดตก ตระหนักเสมอเห็นที่ไหนเบียดเสียด คนแน่นหรือมีคนออกัน อย่าเข้าไปใกล้ให้รู้ว่าอันตราย เสี่ยงได้รับเชื้อ ต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นล้างมือ เมื่อออกจากนอกบ้าน นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ด “ไทยชนะ” เช็คอิน-เช็คเอาท์ ทุกครั้ง ที่ใช้บริการห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่างๆ เพราะจะบันทึกข้อมูลสำคัญเป็นประโยชน์ในการสอบสวนโรค ว่าช่วงนั้นใครทำอะไร ที่ไหน มีคนอยู่ด้วยกี่คน ใครบ้าง มีโอกาสเจอผู้ป่วยหรือไม่ และใช้ข้อมูลนี้ตรวจรักษาโควิด-19 ได้เร็ว และฟรี
ออกนอกบ้านเสี่ยง-ห้ามลืมหน้ากาก
ด้านศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้คนกลับมาติดเชื้อจำนวนมากอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับปัจจัยความใกล้ชิด และจำนวนคนที่เจอ ฉะนั้น เมื่อมีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้นก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งอาทิตย์ที่ผ่านจะเห็นว่าคนแน่ห้างสรรพสินค้า ฉะนั้นเหลือปัจจัยเดียวที่จะป้องกันโรคได้ คือ สวมหน้ากากอนามัย ตรงนี้ละเลยไม่ได้
“การเปิดห้างฯ 2 วันที่ผ่านมา คนไปใช้บริการจำนวนมาก การสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะก่อนเข้าห้าง และการรับบริการในห้างฯ ร้านค้าต่างๆ ทำได้ดีแต่ก็ยังมีปัญหา บางคนลืมสแกนคิวอาร์โค้ดออก ซึ่งข้อมูลตรงนี้สำคัญมากในการสอบสวนโรค หากละเลยทำไม่ถูกขั้นตอน การสอบสวนโรคทำได้ยาก”ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว และว่า ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ที่ใช้แอพพลิเคชั่นติดตามประชาชน หลังพบติดเชื้อโควิด -19 ระลอก 2 โดยพบว่าการเคร่งครัดลงทะเบียนมีผลมากในการติดตามตัวผู้ป่วยได้ครบและสอบสวนโรคได้รวดเร็ว ฉะนั้น ไทยแม้ไม่เคยชิน และยังเรียนรู้เทคโนโลยี บางครั้งเทคโนโลยีอาจไม่เสถียร แต่เชื่อไม่อยากเกินปรับตัว
ข่าวดีพัฒนาวัคซีนโควิดคืบหน้า
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีข่าวดีสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ล่าสุดงานวิจัย “วัคซีนชนิด mRNA”ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ อว.มอบให้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) รับผิดชอบ ประสบความสำเร็จระดับดี หลังทดสอบในหนูทดลองแล้ว โดยผลคัดกรองเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯพบว่า ให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Neutralizing antibody ในระดับที่สูงถึง 1: 3000 ทั้งนี้ กำลังเตรียมทดสอบในลิงในประเทศไทยสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ได้ประสานเตรียมผลิตวัคซีนชุดแรกกับโรงงานผลิตในสหรัฐฯและแคนาดา เพื่อนำมาใช้ทดสอบในคนตามขั้นตอนมาตรฐานสากล รวมทั้งประสานบริษัท Bionet Asia ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของไทย เตรียมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ เชื่อว่าจะสำเร็จจนถึงขั้นสุดท้ายคือ ไทย สามารถผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่มากที่สุดในประเทศไทยและนำมาใช้ช่วยคนไทยป้องกันโควิด – 19 ทั้งนี้ นายกฯสั่งการให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ให้ประเทศไทยดำเนินการเรื่องวัคซีนรวดเร็ว เมื่อมีวัคซีนโควิด-19 ใช้แล้ว ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอสำหรับคนไทย
ไทยมีลุ้นได้ใช้ต้นปี2564
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนสั่งการให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ระดมทุกภาคส่วนขับเคลื่อนให้วิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนใช้งานได้เร็วและเพียงพอ โดยใช้ 3 แนวทางควบคู่กันคือ สนับสนุนการวิจัยในประเทศ การร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติ และทำงานจตุรภาคีกับผู้ผลิต ภาควิชาการ ภาครัฐ และเอกชน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งได้ให้ทุนวิจัยวัคซีนโควิด-19 แล้ว 5 โครงการในหลายสถาบัน ซึ่งหลายแห่งก้าวหน้าจนถึงขั้นทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว ซึ่งต้องเตรียมวิจัยพัฒนา และผลิตควบคู่กันไป เช่น เตรียมโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบในอาสาสมัคร วางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บริษัทผลิตวัคซีนในไทย จึงจะบรรลุเป้าหมายผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประเทศภายในปีหน้าได้หากประสบความสำเร็จ ขณะที่ปัจจุบัน มีวัคซีนต้นแบบที่เข้าทดสอบในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิดและอย่างน้อยมี 10 ชนิดที่เริ่มทดสอบในอาสาสมัครแล้วอย่างน้อย 5 ประเทศคือ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมันและแคนาดา
คุมโควิดได้แต่ปัญหาศก.น่าห่วงกว่า
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า แม้วันนี้เราจะอยู่ในสถานะควบคุมวิกฤติด้านสุขภาพได้ระดับหนึ่งแล้ว หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ แต่ปัญหาโควิดยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะปัญหาที่หนักกว่านั้น ที่รัฐบาลกำลังหาทางปฏิบัติแก้ปัญหาดังกล่าวคือ ปัญหาทำมาหากินหารายได้เลี้ยงปากท้องของประชาชน ที่ทุกคนในประเทศไทยล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น และยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะทำมาหากินและสร้างรายได้เหมือนปกติ นี่คือวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น เราต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนในการใช้จ่ายงบประมาณอีกจำนวนมากหลังช่วงวิกฤตโควิด เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดได้สร้างชีวิตสร้างรายได้ให้ทุกอย่างกลับมาสู่ภาวะปกติ และสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กลับคืนมาเข้มแข็งต่อไป ดังนั้น ต้องมองให้ครบทุกมิติ
สั่งศธ.แจงเรียนออนไลน์แค่ชั่วคราว
ขณะที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ก่อนเข้าวาระประชุมครม. นายกฯขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน และทุกภาคส่วน ทั้งเรื่องแก้ปัญหาระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 และการช่วยเหลือประชาชน โดยขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก นอกจากนี้ นายกฯยังแสดงความเป็นห่วงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และบุคลากรในหน่วยงาน โดยสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้มีสภาพดีขึ้น ส่วนเรื่องการศึกษาออนไลน์ที่ยังมีประชาชนสับสนหรือติดขัดเข้าระบบไม่ได้นั้น นายกฯขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เป็นเพียงวิธีศึกษาชั่วคราวช่วงนี้ ถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 เริ่มคลี่คลาย จะกลับไปทำการเรียนการสอนแบบปกติต่อไป โดยมอบหมายให้ศบค.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์ต่อเนื่องจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกัน พร้อมฝากให้พิจารณาแผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และสาธารณสุขหลังพ้นวิกฤตแพร่ระบาด
สพฐ.แจงออนไลน์แค่ทดสอบระบบ
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาฯ กพฐ.)กล่าวว่า การทดลองเรียนออนไลน์และออนแอร์ทางทีวี ผ่านDLTV การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม วันที่ 2 ถือว่าค่อนข้างดีขึ้นกว่าวันแรก ระบบรับสัญญาณเริ่มเสถียรมากขึ้น ทั้ง 15 ช่องสัญญาณของระดับชั้นอนุบาล 1-ม.6 สำหรับทีวีดิจิตอลคือ ช่อง 37-51 การเรียนทางไกลผ่านทั้งออนแอร์ (ทีวี) และออนไลน์ขณะนี้ เป็นเพียงการเรียนเสริมและทดสอบระบบ ระหว่างรอเปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคมไม่ใช่การเรียนเต็มรูปแบบ ซึ่งระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม-30มิถุนายน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จะนำปัญหาทั้งหมดมาประมวลผลว่าต้องปรับแก้อย่างไรบ้าง ระหว่างนี้หากผู้ปกครองมีปัญหาติดขัดให้ปรึกษาโรงเรียนได้โดยตรง เพื่อร่วมแก้ปัญหา ส่วนบ้านไหนมีทีวีเครื่องเดียว แต่ลูกหลานหลายคนก็ให้ดูย้อนหลังได้ เพราะมีระบบรีรันให้ดูได้ เนื่องจากการเรียนช่วงนี้ไม่ได้บังคับ แต่เป็นการทบทวนและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี