‘ทวี’บอกเป็นสิทธิ‘ทักษิณ’ยื่นขอความเป็นธรรมอัยการคดี‘ม.112’ได้ แทงกั๊กยื่นฟ้อง‘ยุค คสช.’ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ในคดีมาตรา 112 โดยอ้างพนักงานสอบสวนโดนข่มขู่จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม ต้องสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะเป็นส่วนของกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจที่จะเข้าไปพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดในการตัดสิน
ผู้สื่อข่าวถามว่าตามหลักการเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมคดีทางอาญาจะเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหาสามารถยื่นขอความเป็นธรรมได้ตลอด ไม่มีการห้ามในขั้นตอนใด และอำนาจการพิจารณาเป็นของอัยการสูงสุดเช่นกัน
เมื่อถามว่าลักษณะเช่นนี้ต้องการที่จะเปลี่ยนผู้ทำคดีหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียด และจากที่ฟังโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดว่ายังไม่ได้รับเรื่อง จึงยังไม่เห็นรายละเอียด จึงไม่อยากตอบคำถามสมมติ เพราะอาจจะสับสน ซึ่งที่ผ่านมาการร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุดมีทุกคดี แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าว
เมื่อถามว่าข้ออ้างที่ว่า คสช.ข่มขู่พนักงานสอบสวนฟังขึ้นหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลักใหญ่เรื่องการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบนั้น เป็นหลักสำคัญของคดีอาญา เช่น พนักงานสอบสวนมีอำนาจหรือไม่ หรือพนักงานสอบสวน สอบสวนโดยชอบหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน หรือพยาน หรือส่วนอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการบังคับขู่เข็ญ หรือการกระทำใดๆ เพื่อให้เกิดการจูงใจ ซึ่งเป็นประเด็นสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้
เมื่อถามว่าคดีมาตรา 112 ของนายทักษิณผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจรับเป็นเจ้าภาพในการแจ้งความดำเนินคดีในขณะนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อำนาจการสอบสวนจะมีแค่พนักงานสอบสวน ทหารไม่ใช่พนักงานสอบสวน และถ้าเป็นคดีพิเศษก็จะเป็นอำนาจของกรมคดีสอบสวนพิเศษ ถือเป็นขั้นตอนตามปกติ
เมื่อถามว่ายืนยันว่า คสช.ใช้ช่องทางตามปกติในการดำเนินคดีกับนายทักษิณใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กระบวนการสอบสวนจะเป็นตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือคนอื่นไม่มีอำนาจสอบสวน เว้นแต่เป็นเรื่องเฉพาะ การปรับ เรื่องการสอบสวนของ ก.ตร. ก็สามารถดำเนินการได้
เมื่อถามว่าในสมัยนั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ยื่นฟ้อง ถือว่าชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สรุปไม่ได้ ต้องไปดูว่าเขาจะไปต่อสู้ ว่าการสอบสวนมีอำนาจและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในกรณีการบังคับขู่เข็ญ หรือการจูงใจ ถือเป็นการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบ เป็นประเด็นในรายละเอียดแต่ละเรื่องไป
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี