การบินไทยเคยเป็นรัฐวิสาหกิจพรีเมียม นำส่งรายได้แก่แผ่นดินอันดับต้นๆ
แต่หลังถูกการเมืองรุมทึ้ง บริหารบกพร่อง ผิดพลาด หรือทุจริตเชิงนโยบาย มีการจัดซื้อเครื่องบินมาบินขาดทุน จอดทิ้งๆ ขว้างๆ ฯลฯ ผลประกอบการขาดทุนย่อยยับ
กระทั่งเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อปฏิรูปการบินไทย ในยุคปัจจุบัน
1. รายงานข่าวระบุว่า การบินไทยเตรียมจัดตั้ง Thai Group เพื่อบริหารการบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์
ปัจจุบัน การบินไทยถือหุ้นอยู่ทั้งสามสายการบิน
ระบุว่า จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจการบิน
มีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ “การบินไทย” เป็นสายการบินบริการเต็มรูปแบบ (full-service carrier) เพื่อให้บริการในเส้นทางระยะกลางและไกล (เอเชียและระหว่างทวีป)
“ไทยสมายล์” เป็นสายการบินบริการเต็มรูปแบบ แบบพรีเมียมอีโคโนมี (premium economy) และวางแผนเป็นสายการบินภูมิภาค (regional airline) เพื่อให้บริการในเส้นทางระยะกลางและใกล้ (ในประเทศ- CLMV- เอเชีย)
“นกแอร์” เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost carrier) ให้บริการเฉพาะในเส้นทางระยะใกล้ (ในประเทศ- CLMV)
อธิบายว่า จะทำให้ Thai Group ให้บริการได้ครอบคลุมตามความต้องการของผู้โดยสารแต่ละกลุ่ม
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้น่าสนใจ ระบุว่า
การตั้ง Thai Group สร้างผลบวกในหลายๆ ด้าน อาทิ การช่วยรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดเดิม การช่วยเจาะกลุ่มตลาดใหม่ การลดความทับซ้อนในการบริหาร และการสร้างความร่วมมือในการแข่งขัน เป็นต้น การปรับตัวนี้จะช่วยให้ Thai Group มีความแข็งแกร่งในการเผชิญกับความท้าทายจากผู้เล่นหน้าใหม่ จากการบริหารสายการบินภายใต้สายการบิน (Airlines within Airlines: AWA)
ปัจจุบัน สายการบินบริการเต็มรูปแบบ ได้มีการปรับกลยุทธ์ตั้งสายการบินต้นทุนต่ำของตัวเองเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดคืน ยกตัวอย่างเช่น Qantas Airways (Qantas) มีการตั้ง Jetstar airways (Jetstar) เพื่อรักษาและชิงส่วนแบ่งตลาดคืนจาก Virgin Australia ที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ด้วยการใช้กลยุทธ์แบรนด์คู่ขนาน (dual-brand strategy) โดยให้ทั้ง Qantas และ Jetstar ร่วมบริการในเส้นทางที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้ Qantas สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งจาก 49% เป็น 60% ภายในปีเดียว นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ Qantas สามารถกำหนดค่าตั๋วได้สูงกว่าสายการบินคู่แข่งด้วยคุณภาพการบริการที่เพิ่มขึ้น จากความถี่เที่ยวบินที่สูงขึ้น ทำให้ลดโอกาสที่เที่ยวบินจะล่าช้า หรือในกรณีที่เที่ยวบินยกเลิก เนื่องจากผู้โดยสารสามารถใช้บริการเที่ยวบินของกลุ่มได้อย่างสะดวก โดยเมื่อพิจารณาในรายได้ของกลุ่ม พบว่า Jetstar เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้ของกลุ่มยังรักษาระดับได้ค่อนข้างดี
อีไอซีประเมินว่า การปรับตัวของ Thai Group จะสร้างประโยชน์ทั้งในด้านการสร้างรายได้และการดำเนินการ นกแอร์และไทยสมายล์จะช่วยรักษาและขยายส่วนแบ่งการตลาดใหม่ ช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวแก่กลุ่ม คล้ายคลึงกับกรณีของกลุ่ม Qantas
นอกจากนี้ Thai Group จะช่วยสร้างเส้นทางการบินใหม่จากการเชื่อมโยงเส้นทางของสายการบินภายในกลุ่ม ประกอบกับโปรแกรมสะสมแต้ม จะสามารถช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารใหม่และผู้โดยสารที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (brand loyalty) ได้ อีกทั้งการปรับตัวนี้จะช่วยลดความทับซ้อนในการบริหาร การปฏิบัติงาน และการสร้างความร่วมมือในการแข่งขัน ซึ่งอาจจะทำให้ Thai Group สามารถกำหนดราคาค่าโดยสาร จากการใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง (differentiation) ซึ่งจะส่งผลให้รายได้มีความมั่นคงและมีอัตราการเติบโตสูง
Thai Group ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและลดต้นทุนการบริหารจัดการด้านบุคลากรและเพิ่มอำนาจการต่อรองกับกลุ่ม supplier ที่มากขึ้น
2. ข้างต้นคือมุมมองของนักวิเคราะห์ ต่อวิสัยทัศน์เชิงนโยบายใหม่
แต่ปัญหาของการบินไทยที่หมักหมม สะสมอยู่ ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น
กัปตันโยธิน ภมรมนตรี นำเสนอข้อคิดน่าสนใจไว้ในเฟซบุ๊ค Jothin Pamon-montri ระบุว่า
“การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 เมษายน 2560 จะต้องมีคำถามหลายข้อเกี่ยวกับผลประกอบการ และการผิดพลาดในการบริหารจัดการ
คุณอนุษณีย์ ในฐานะกรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้วยความหวังดีผมขอเสนอให้คุณอุษณีย์เป็นผู้ตอบข้อซักถามแก่ผู้ถือหุ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่โดย 1.ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา 2.อย่าปกป้องคนผิด 3.อย่าปกป้องความเสียหายและเสนอขั้นตอนการแก้ไข
คำถามที่ผู้ถือหุ้นต้องการทราบ คือ จำนวนเครื่องบินที่จอดรอการขาย โดยเฉพาะ A340-600 จำนาน 6 ลำ ที่ยังมีอายุใช้งานอีก 10 ปี แล้วเอาไปจอดตากแดดตากฝนมา 2 ปีกว่าแล้ว
ห้ามตอบว่า “เหตุที่ยังขายไม่ได้เพราะผู้ที่จะซื้อเสนอราคาต่ำกว่าราคาตลาด” ราคาตลาดของเครื่องบินนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของเครื่องบิน ถ้าจะให้สภาพของเครื่อง A340-600 ทั้ง 6 ลำ ของบริษัทเท่ากับราคาตลาด บริษัทจำเป็นต้องลงทุนเป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท
ก่อนตอบคำถาม อ่านข้อต้องห้ามในข้อ 2 และข้อ 3
เครื่องบินอีกหนึ่งลำ คือ เครื่องบิน BOEING 747 ที่เอาไปดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนสินค้าตามแผนการศึกษา 4 ปีคุ้มทุน บินไปได้ปีกว่าต้องจอด เพราะขาดทุนมหาศาล
ห้ามตอบว่า “เพราะน้ำมันแพงกว่าที่ทำการศึกษา” ทุกการศึกษาต้องศึกษาอัตราความเสี่ยง ถ้าตอบว่าเพราะน้ำมันแพง การที่ศึกษาคือไม่ได้ทำการศึกษาความเสี่ยง ก่อนตอบคำถามนี้ อ่านข้อต้องห้ามในข้อ 2 และข้อ 3
คำถามที่เป็นที่สนใจของผู้ถือหุ้น คือ เหตุผลที่รายได้ในปี 2559 น้อยกว่าปี’58 และรายได้ของปี’58 น้อยกว่าปี’57 ส่วนค่าใช้จ่ายไม่รวมค่าน้ำมันของปี 2559 สูงกว่าปี’58 และค่าใช้จ่ายของปี’58 สูงกว่าปี’57
คำตอบต้องอ่านข้อเสนอในข้อที่ 1 คือ ตอบคำถามตรงไปตรงมา “คือ การล้มเหลวของแผนปฏิรูปโดยสิ้นเชิง ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ยกเลิกการจ้างที่ปรึกษาการตลาดชาวต่างชาติแล้ว”
ถ้าคุณอุษณีย์ยึดข้อเสนอ 1, 2 และ 3 ในการตอบทำถามผู้ถือหุ้น ผมเชื่อว่าผู้ถือหุ้นจะพอใจ เพราะเมื่อตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา ไม่ปกป้องคนผิด และไม่ปกป้องความเสียหาย แสดงว่ามีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาของบริษัทอย่างจริงจัง”
3. การบินไทยมีผลกรรมจากอดีต ที่ถึงเวลาเช็คบิล สะสาง ตรงไปตรงมา
เจ็บ คือ เจ็บ
เพราะยังมีความท้าทายในอนาคตที่ต้องร่วมกันฝ่าฟันไปอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน ความผันผวนของราคาน้ำมัน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองโลก ฯลฯ
การบินไทยจะต้องจัดทัพเพื่อออกไปรบในสมรภูมิใหญ่
นำความภาคภูมิใจ และผลประโยชน์ส่วนรวมกลับคืนมาสู่แผ่นดิน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี