มีคำถาม (จากกลุ่มคนที่ไม่ไว้ใจองค์กรตระกูล ส.) ว่า เหตุใดสำนักข่าวอิศราจึงไม่ตรวจสอบการทำงานที่ดูเหมือนเกิดปัญญาต่างๆ นานาภายในองค์กรตระกูล ส. อาทิ สสส. สปสช. สช. สพฉ. สวรส.
ก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังก่อนว่าองค์กรตระกูล ส.คือองค์การอิสระภายในกระทรวงสาธารณสุข ตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ ซึ่งแยกต่างหากจากส่วนราชการ แต่มีอำนาจออกประกาศเกี่ยวกับวิธีการงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบการเงินของตนเองโดยอิสระ ไม่ใช้วิธีการเดียวกับระบบราชการ แต่ทว่ายังใช้เงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งคือภาษีอากรของประชาชน
องค์กรตระกูล ส. ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เป็นต้น {หมายเหตุ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก บทความเรื่อง “องค์การอิสระและองค์การเอกชนในเครือข่ายตระกูล ส. : การไขว้ตำแหน่งและการขัดกันแห่งผลประโยชน์” โดยอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตีพิมพ์ในผู้จัดการออนไลน์ 21 ตุลาคม 2558 http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000118009}
ความจริงอีกประการที่คนซึ่งติดตามการดำเนินกิจกรรมขององค์กรตระกูล ส. ต่างรู้ดีคือ ประเวศ วะสี คือหัวเรือใหญ่รายหนึ่งขององค์กร แต่ที่น่าสนใจคือองค์กรนี้มีการพบปะหารือกันเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ณ สวนสามพราน ต่อเนื่องมาประมาณ 30 ปี โดยมีสมาชิกมากหน้าหลายตาไปร่วมประชุม แต่น่าสังเกตตรงที่ว่าแกนนำหลักขององค์กรกลับเป็นคนหน้าเดิมๆ
อย่างไรก็ตาม ในสังคมก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ปลื้มกับองค์กรตระกลู ส. เพราะเห็นว่าช่วยขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะของสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสมาชิกสังคมเข้าใจว่าสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องหมอหรือของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ องค์กรตระกูล ส.ได้เสนอให้ควบคุมการโฆษณาจำหน่ายเหล้าเบียร์อย่างเข้มข้น เสนอแนวคิดการกระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้จังหวัดได้บริหารจัดการตนเอง ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในประเด็นสิทธิต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนตื่นตัวกับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ คัดค้านการการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA (Free Trade Agreement) โดยเฉพาะประเด็นนำสิทธิบัตรยาแลกเปลี่ยนเพื่อการค้าขาย สร้างความเข้มแข็งให้คนระดับฐานรากให้เข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล คัดค้านนโยบายทำเรื่องสุขภาพเป็นสินค้า เช่น นโยบาย Medical Hub นี่คือตัวอย่างงานขององค์กรตระกูล ส.
เมื่อคุณพอจะเข้าใจและเห็นภาพคร่าวๆ ขององค์กรตระกูล ส. บ้างแล้ว ก็จะขอกลับเข้าประเด็นที่ตั้งเป็นหัวข้อเรื่องไว้ คือ ทำไมสำนักข่าวอิศราไม่ตรวจสอบองค์กรตระกูล ส. และไทยพีบีเอส
แน่นอนว่า องค์กรตระกูล ส. มีบทบาทสร้างสิ่งที่ดีงามให้กับสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็มีข่าวด้านลบขององค์กรตระกูล ส. เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสื่อสารมวลชนที่จะต้องรายงานเรื่องราวทุกแง่ทุกมุมขององค์กรให้สาธารณชนได้รับทราบ สื่อมวลชนต้องไม่เลือกนำเสนอเรื่องราวใดๆ ด้วยใจอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติด้วยความรักหรือความเกลียดชังก็ตาม
อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือผู้หนึ่งที่ติดตามเรื่องราวต่างๆ ขององค์กรตระกูล ส. อย่างใกล้ชิด ตั้งคำถามกับคอลัมน์นี้ว่า ทำไมสำนักข่าวอิศราจึงไม่เคยรายงานเรื่องราวที่ไม่น่าจะโปร่งใสขององค์กรตระกูล ส. และไทยพีบีเอส ในขณะเดียวกันเจ้าของคอลัมน์นี้ ก็ถามอานนท์กลับว่า ทราบหรือไม่ว่าคนในองค์กรตระกูล ส. กล่าวหาว่าอานนท์รับเงินจากบริษัทยาและบุหรี่มาเพื่อโจมตีล้มล้างองค์กรตระกูล ส.
อานนท์บอกว่า “แล้วจะให้เขา discredit (ลบความน่าเชื่อถือ) ผมด้วยวิธีใด ถ้าไม่ใส่ความผมเช่นนั้น แต่ถ้าเขามีหลักฐานว่าผมรับเงินจากใครเพื่อล้มล้างเขา ก็แสดงหลักฐานมา แต่ผมยืนยันว่า ผมไม่รับเงินจากใคร แม้คนจากองค์กรตระกูล ส. และจากไทยพีบีเอสส่งคนไปขอเจรจากับผม ผมก็ปฏิเสธทุกครั้ง”
ย้อนหลังไปดูประเด็นศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เคยพิจารณาเรื่องสสส. ใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่เป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน เรื่องนี้เป็นข่าวอยู่สักพักหนึ่งแล้วก็เงียบหายไป รวมถึงเรื่องที่สสส.ให้เงินสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สาธารณชนตั้งคำถามกันมาก แต่ก็ไม่มีความกระจ่างในเรื่องนี้ แม้เรื่องนี้จะเคยเป็นข่าวใหญ่ที่ออกจากปากพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เคยบอกว่า เคยยื่นหนังสือเพื่อขอให้สตง. ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโดยสสส. ที่ให้กับสถาบันอิศรากว่า 100 ล้านบาท โดยนำเงินไปจัดกิจกรรมอบรมนักข่าวรุ่นต่างๆ จึงเรียกร้องให้สตง. ตรวจสอบเรื่องนี้ให้กระจ่าง และเรียกร้องให้สำนักข่าวอิศราเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่างให้โปร่งใสด้วย
ข้อความต่อไปนี้ คือจดหมายของอานนท์ที่ส่งถึงคอลัมน์เขียนให้คิด
“เป็นความจริงที่สำนักข่าวอิศราได้เงินสนับสนุนจากสสส. มาแล้วนับ 100 ล้านบาท เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญ การสนับสนุนสื่อฯ จะกระทำได้หรือไม่ แต่ที่น่าสนใจคือ นอกจากสสส. จะสนับสนุนสำนักข่าวอิศราแล้ว ยังมีงบโฆษณาอีกปีละประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะทำให้สื่อฯ ทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้าน กล้าตรวจสอบการทำงานของ สสส. และตระกูล ส. หรือไม่ เรื่องนี้น่าสนใจ และน่าค้นหาคำตอบ
เมื่อดูจากเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เราสามารถค้นหาได้ว่ามีข่าวซึ่งมีคำว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สักกี่ข่าว เมื่อตรวจสอบก็พบว่ามีข่าวเกี่ยวกับสสส. จำนวนมาก โดยเกือบทั้งหมดเป็นข่าวที่มาจากสสส. และตระกูล ส. มากกว่าร้อยละ 95 และเป็นข่าวที่ดูเสมือนว่าจงใจแก้ให้ สสส. หรือนำเสนอด้านบวกของ สสส. เกือบทุกข่าว ไม่มีข่าวด้านลบของสสส. โดยเฉพาะเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แต่พบว่ามีข่าวคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ(คตร.) ผ่อนผันให้สสส. จ่ายเงินกองทุนได้ มีข้อสังเกตคือสำนักข่าวอิศราให้พื้นที่กับ NGO ตระกูล ส. ชมรมแพทย์ชนบท และหน่วยงานตระกูล ส. ค่อนข้างมาก พบว่า item ที่ tag ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีทั้งหมด 13 บทความ ดังนี้ 1 เคาะแล้ว 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ชุดใหม่ 2 ผจก.สสส. ยกระดับความโปร่งใส เล็งใช้ข้อตกลงคุณธรรม กับโครงการที่ได้รับทุน 3 เปิดระเบียบสรรหาบอร์ดสสส. ใหม่ ใครมีสิทธิ-ไม่มีสิทธิสมัคร 4 ผจก.สสส. เผยยังไม่ส่งกฤษฎีกาตีความรีดภาษีผู้รับทุน-ขอเจรจากรมสรรพากรก่อน 5 แรงงานนอกระบบจี้ประธานบอร์ดสสส. หยุดระงับโครงการ-ไล่บี้ภาษีย้อนหลัง 6 เครือข่ายเด็กและเยาวชนจี้นายกฯ หยุดแช่แข็งโครงการ สสส. 7 สมพร ใช้บางยาง : ต้องปกป้องเกียรติ ศักดิ์ศรีวงศ์ตระกูล (จากคำสั่ง คสช.?) 8 ดร.สุปรีดา แถลงโชว์ผลการทำงานคะแนน KPI เกือบเต็ม ติงสตง. อย่าดูค่าแค่บางตัว 9 ดร.วรกรณ์คาด 1-2 สัปดาห์ ประชุมวางแนวทางทำงานหลังครม.ตั้งปธ. ประเมินผลสสส. 10 มัดปุ๊กเจียงฮาย “เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา” สร้างคนดีสู่สังคม 11 น.พ. อำพล ไขวิวาทะ “สุขภาวะ” แบบไหนสอดคล้องกับบริบทโลก-พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 12 เชิญเข้าร่วมอบรม “สื่อรุ่นใหม่-ดวงตาใหม่ : ปลุกพลังสร้างสรรค์สื่อ” 13 เชิญสื่อมวลชนส่งผลงาน “สารคดีเชิงข่าวด้านอุบัติเหตุทางถนน” ชิงรางวัลรวมกว่าสองแสนบาท
เมื่ออ่านเนื้อหาก็พบว่าเป็นข่าวด้านบวกของสสส. และข่าวแก้ไขภาพลักษณ์ และการกระทำที่ดูจะเป็นปัญหาสสส. ทั้งสิ้น แต่ไม่มีการนำเสนอข่าวที่เป็นปัญหาธรรมาภิบาลของ สสส. แม้แต่ข่าวเดียว ครั้นเมื่อค้นคำว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศราได้ผลการค้นหา 10 หน้า แต่ละหน้ามีข่าวสปสช. หน้าละ 10 ข่าว รวม 100 ข่าว ส่วนใหญ่เป็นข่าวที่นำเสนอจากฝั่ง สปสช. และหน่วยงานในตระกูลส. และนำเสนอด้านบวก หรือช่วยแก้ไขภาพลักษณ์ด้านธรรมาภิบาลของสปสช. อย่างไรก็ตาม พบว่ามี 6 ข่าวที่นำเสนอด้านลบหรือเรื่องไม่เป็นผลดีต่อสปสช. เช่น
1) ผอ.รพ. อุ้มผางวิพากษ์ สปสช. : ใจดำ ขาดสติ ยึดความเป็นธรรมแบบคณิตศาสตร์
2) เปิดความเห็นกฤษฎีกา 5 ข้อหารือบริหารกองทุน “บัตรทอง” กระทบหนัก รพ.ทั่วปท.?
3) สตง. ชี้กองทุนสุขภาพท้องถิ่นใช้เงินผิด-เร่งสปสช.แก้ปัญหา
4) ผ่าเม็ดเงิน สปสช. 54.2 ล้าน จ้างที่ปรึกษา 6 แสน ชนวน สตง.ฟัน “บริหารบกพร่อง”
5) สตง. สอบ สปสช. เกมการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจองค์กรหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ?
6) “หมอเจตน์” นำกมธ.สธ. ดูงาน สปสช. ห่วงปัญหางบบัตรทองไม่พอ ได้ต่ำกว่าที่ขอทุกปี
สรุปเบื้องต้นตามสถิติได้ว่า สำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวด้านบวกของสปสช. ถึงร้อยละ 94
คำถามสำคัญคือ สำนักข่าวอิศรามีความเป็นอิสระจากเงินจำนวนมากที่ได้รับจากสสส. จริงหรือไม่ การที่สำนักข่าวฯ ได้เงินมาแล้วส่งผลให้การทำหน้าที่นักสื่อมวลชน โดยเฉพาะบทบาทการเป็นหมาเฝ้าบ้านเอนเอียงหรือบกพร่องหรือไม่ สำนักข่าวและสื่อมวลชนที่ยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณต้องนำเสนอข่าวด้วยความเป็นธรรม มิใช่หรือ หรือว่าเมื่อสำนักข่าวได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานใดแล้ว สามารถยกเว้นการรายงานข่าวด้านลบขององค์กรผู้ให้เงิน เพราะเงินมีความสำคัญมากกว่าจรรยาบรรณวิชาชีพนักสื่อสารมวลชน และมีคำถามทิ้งท้ายคือ เหตุใดจึงไม่เคยเห็นสำนักข่าวอิศราตรวจสอบเหตุทุจริตในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแม้แต่ครั้งเดียว”
คอลัมน์นี้ยินดีรับฟังคำชี้แจงจากองค์กรตระกูลส. สำนักข่าวอิศรา และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
เฉลิมชัย ยอดมาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี