เรียกเสียงฮือฮาได้มากทีเดียวกับการปรากฏตัวของ สองแกนนำหลักของพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยหัวหน้าพรรค คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบาย คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ไปร่วมงานวัน IDAHOT 2018 หรือที่ย่อมาจาก International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia ซึ่งเป็นวันสำคัญของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ในสังคมทุกวันนี้เปิดกว้างอย่างก้าวหน้ามากแล้วในหลายประเทศ รวมถึงในสังคมไทยของเราที่ไปไกลมากในเรื่องทางสังคม แต่ยังคงติดประเด็นทางกฎหมายที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ “นโยบาย” มาช่วยผลักดัน
และครั้งนี้ครับ ถือได้ว่า เป็นมิติใหม่ทางการเมืองไทย และการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยที่กล้าออกมาปักธง ประกาศจุดยืนในงานวันนี้ว่า ทั้งหัวหน้าพรรคและประธานนโยบาย “พร้อมสนับสนุนเต็มที่” กับนโยบายความเท่าเทียม เพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
พร้อมกันนั้น เพจ Democrat Party, Thailand เพจทางการของพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีการเปลี่ยน Cover Photo ของพรรค เป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย พร้อมกับโพสต์ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในสิทธิ และโอกาสแก่คนไทยทุกคน”
พร้อมกับมีการโพสต์ Quote คำพูดของแกนนำพรรคหลายคนดังนี้
“แม้สังคมเปิดกว้างหรือยอมรับมากขึ้น แต่สิทธิของคน 2 คน ที่อยากจะใช้ชีวิตร่วมกัน ในฐานะการเป็นครอบครัว มีปัญหาในเรื่องกฎหมายที่ไม่ยอมรับ...ผมพร้อมผลักดันเต็มที่” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
“คนไทยเราใจกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถึงเวลาเราแก้กฎหมายที่ปิดกั้นสิทธิพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน วันนี้เป็นวัน IDAHOT วันสากลเพื่อการยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ผมขอสนับสนุนเต็มที่” กรณ์ จาติกวณิช ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์
“เราจะก้าวไปสู่สังคมยุคใหม่ ที่ทุกคน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของเพศ หรือฐานะ ต้องมีสิทธิ์และโอกาสที่เท่าเทียม” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต สส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์
“ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ เราต้องตามโลกให้ทัน ฉะนั้นการให้ความสำคัญในสิทธิ และเสรีภาพของกลุ่มเพศวิถี (LGBTQ) ต้องทำอย่างจริงจัง โดยให้มีผลในเชิงกฎหมาย เพราะเราหนีความจริงและการเปลี่ยนแปลงไม่ได้” สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นโยบายเพื่อความเท่าเทียมสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถือเป็น นโยบายก้าวหน้าทางสังคม
เรามาทำความเข้าใจกันครับว่า ความสำคัญของงานวันนี้คืออะไร IDAHOT ย่อมาจาก International Day Against Homophobia, Transphobia & Biphobia แปลเป็นภาษาในทางการคือ วันยุติ-ต่อต้านการเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศ ถือกำเนิดขึ้นจากกรณีที่ องค์การอนามัยโลก ได้ถอน ความหลากหลายทางเพศ ออกจากการเป็น “International Classification of Disease” สรุปง่ายๆ ก็คือ การมีรสนิยมทางเพศที่หลากหลายนั้น “ไม่ใช่โรค” ตั้งแต่ปี 1990 โดยวันนี้ก็ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการตระหนักรับรู้สาธารณะต่อการล่วงละเมิดคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
สังคมในอดีตอาจเป็นแบบหนึ่ง มีการเคร่งครัดในสังคม ในศาสนา ในวัฒนธรรม เรื่องร้าย เรื่องเจ็บปวดที่ผ่านมา หลายคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่เราร่วมกันสร้างอนาคตกันได้ครับว่า เราไม่ต้องการให้คนที่อยู่ในสังคมร่วมกับเราในยุคใหม่นี้ ต้องเจอกับอะไรที่โหดร้ายเหมือนในอดีต
เราไม่อยากเจอกับการปฏิบัติต่อเราอย่างไร ไม่ว่าเพศไหน ไม่ว่าศาสนาใด ไม่ว่ามีฐานะแบบไหน ไม่ว่าเป็นจะมีลักษณะอย่างไร อ้วน เตี้ย สูง ผอม ดำ ขาว อย่างไร ผมเชื่อเหลือเกินครับว่า คนไทยทุกคนอยากเห็นคนรักของเรา ครอบครัวของเรา เพื่อนของเรา ที่เราอยู่ร่วมกันกับเขาในสังคม จะได้มีชีวิตในแบบที่เขาอยากเป็น และที่สำคัญที่สุดได้มีสิทธิพื้นฐานที่เขาพึงต้องมีเฉกเช่นเดียวกับเรา
สำหรับประเทศไทย กับวัน IDAHOT ก็มีงานใหญ่เกิดขึ้น โดยมีชิ้นงานหลายอย่างที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านงานนิทรรศการ “ชายหญิง
สิ่งสมมุติ” Gender Illumination ซึ่งจัดขึ้นที่ Museum Siam เป็นนิทรรศการเพื่อความหลากหลายทางเพศ กับอนาคตของโลกที่จะเข้าสู่สภาวะไร้เพศ เพื่อสนับสนุน “สิทธิพื้นฐาน” ที่คนกลุ่มนี้พึงมี แม้สังคมทั่วไปจะให้การยอมรับ แต่ในทางกฎหมายถือว่าปิดกั้นมาก
สิทธิพื้นฐานที่คู่สมรสชายหญิงมีได้อย่างอัตโนมัติ แต่การเป็นคู่ชีวิตของกลุ่มหลากหลายทางเพศยังขาดหลักๆ ก็ได้แก่
1.สิทธิรักษาพยาบาลของคู่ชีวิต
2.สิทธิในการกู้บ้านร่วมกัน
3.สิทธิในการรับเบี้ยประกันของกันและกัน
4.สิทธิในการรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมร่วมกัน
5.สิทธิในเรื่องมรดก
นอกจากประเด็นเรื่องสิทธิที่นโยบายที่จะนำมาซึ่งกฎหมายช่วยได้แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องใช้ความเข้าใจร่วมกันทางสังคมในการทำความเข้าใจอีกด้วย เช่น สภาพในการทำงาน การใช้คำของสื่อ การกลั่นแกล้งโดยอาจคิดไม่ถึง คิดไม่ทันว่าสิ่งที่คนทั่วไปคิดว่ามันเป็นการ “ล้อแบบปกติ” นั้นจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องที่จะล้อได้ตามปกติ จนอาจเป็นปมในใจของคนอื่นๆ ได้ สังคมจะดีได้เราช่วยกันครับ อย่างน้อยถ้าใครไม่มีประสบการณ์นี้ก็สามารถเอาใจช่วย สนับสนุนและสร้างสรรค์สังคมด้วยกันได้อยู่แล้ว
ขออนุญาตขยายความใน 5 ประเด็นนี้ แบบภาษาชาวบ้านก็แล้วกันครับ จะได้เข้าใจกันง่ายๆ ไปเลย เรื่องแรก “สิทธิรักษาพยาบาลของคู่ชีวิต” ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ คู่สามีภรรยาชายหญิงที่ สมมุติภรรยาเป็นข้าราชการ อยู่กินกับสามีเรื่อยมา สามีป่วยหนักเข้ารักษาโรงพยาบาลใช้เงินจำนวนมากที่ “เบิกได้” ในขณะเดียวกัน ข้าราชการที่เป็นคู่ชาย-ชาย หญิง-หญิง นั้นกลับไม่สามารถเบิกอะไรได้เลยเพราะกฎหมายไม่ได้รองรับความเป็นคู่ชีวิตของกรณีแบบนี้ ทั้งที่พวกเขาอาจจะอยู่กินกันอย่างมีความสุขในสังคมเรื่อยมาเป็นสิบๆ ปีอย่างสุจริต และนี่เป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรได้รับ
เรื่องที่ 2 สิทธิในการกู้บ้านร่วมกัน สำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศที่อยู่กันในช่วงวัยกลางคน ฐานรายได้แค่คนเดียวอาจจะไม่พอสำหรับการเข้าถึงสินเชื่อกู้ยิมเพื่อที่อยู่อาศัย หากเป็นคู่ชายหญิงก็ยื่นร่วมกันในฐานะสามีภรรยาได้ แต่กรณีแบบนี้ทำไม่ได้ ก็ขาดสิทธิ์เรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่จะให้มีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากประเด็นที่อยู่อาศัยก็รวมถึงหลายๆ ประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยเช่นกัน เพราะกฎหมายล็อกเอาไว้แค่ คำว่า “ญาติ”
เรื่องที่ 3 สิทธิในการรับเบี้ยประกันชีวิต ประกันรูปแบบต่างๆ ของกันและกัน เมื่อมนุษย์เข้าสู่วัยกลางคนเรื่องหนึ่งที่ต้องวางแผนอย่างจริงจัง และพึงกระทำ ก็คือเรื่องการวางแผนทางการเงิน ประกันชีวิต ประกันเพื่อวัยชรา นี่คือสิ่งจำเป็น กลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่เป็นคู่ชีวิตและดูแลกันมา ยังไม่มีสิทธิที่จะเขียนชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งลงไปในประกัน เมื่อทำประกันจึงจำต้องใส่ชื่อของญาติพี่น้องเท่านั้น
เรื่องที่ 4 เรื่องบุตรบุญธรรม อาจจะเป็นเรื่องดูไกลตัวสำหรับสังคมไทย แต่ในต่างประเทศและสังคมที่พร้อมและเปิดรับกว้างขวางนั้น เรื่องบุตรบุญธรรม คือ เรื่องดีที่สุดท้ายคนที่มีความพร้อมสองคนจะช่วยกันสร้างคนอีกหนึ่งคนขึ้นมาในสังคมอย่างมีคุณภาพ ตอนนี้ในไทยคือ เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาบุญธรรมได้แค่คนเดียว อีกคนต้องเป็นลุงเป็นอาทั้งๆ ที่ควรจะได้เป็นบิดาบุญธรรมทั้งสองคน หรือมารดาบุญธรรมทั้งสองคน
เรื่องที่ 5 “มรดก” เรื่องนี้อธิบายให้ง่ายๆ สุดๆ ด้วยเรื่องแนวละครเลยชัดเจนครับ ตอนเด็กๆ คนที่เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน ครอบครัวไม่ยอมรับ อยู่กันสองคนฉันสามีภรรยามาจนเสียชีวิต อยากจะมอบมรดกให้อีกคนในฐานะคู่สมรสกลับมอบให้ไม่ได้ ทั้งที่ดูแลกันมาตลอดชีวิต แต่คนที่มาชุบมือเปิบกลับเป็นญาติฝ่ายไหนก็ไม่รู้ที่ไม่เคยมาสนใจไยดีผู้ตายเลยแม้แต่น้อย
ที่เล่ามา 5 ข้อนี้ มาจากการถกประเด็นพูดคุยเรื่องสิทธิ และตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ต้องประสบมาโดยตลอดเนื่องจากข้อกฎหมายของไทยยังไม่เปิดกว้างและยอมรับทั้งที่ในทางสังคมนั้น ประเทศไทย เป็นประเทศที่เปิดกว้างและ “เสรี” มากที่สุดในเรื่องนี้ จนแทบจะเรียกได้ว่า เป็นเมืองหลวงของกลุ่มหลากหลายทางเพศในเอเชียไปแล้วก็ว่าได้
และทั้งหมดที่ว่ามานี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้คำมั่นเอาไว้ครับว่า พร้อมที่จะชูประเด็นความ “เท่าเทียม” และผลักดันนโยบายเพื่อความเท่าเทียมให้แก่คนไทยทุกคน #EqualRightsForAll
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี