เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน สร้างความเสียหายแก่สังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศชาติอย่างมหาศาล แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาทั้งด้วยวิธีการออกกฎหมาย นโยบาย ตั้งคณะกรรมการใหม่ๆ หรือมีโครงการชักชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยมากมาย แต่ปัญหานี้ก็ยังดูไม่ลดลงเท่าไหร่เลย
เพื่อความเป็นธรรมแก่องค์กรและกลุ่มคนที่ทำงานต่อสู้กับคอร์รัปชันมาอย่างหนักหน่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่ามาตรการหรือโครงการต่างๆ นั้นจะไม่ได้ผลเลยเสียทีเดียว แต่อาจจะเป็นเพราะมันยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสร้างผลกระทบทางสังคมที่ใหญ่จนเปลี่ยนบรรทัดฐานของคนในสังคมไปได้ ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่จะสร้างความครอบคลุมเพื่อให้พลังที่ใส่ลงไปแก้ตรงจุด ก็คือการเข้าใจปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจความแตกต่างของปัญหาจากมุมมองที่หลากหลาย และเข้าใจบริบทรอบด้านที่เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันนี้ ซึ่งการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งนี้ก็คือ การวิจัย นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การวิจัย ที่นักวิจัยนั่งอยู่ในห้องทำงาน อ่านหนังสือ สรุปข้อมูล แม้จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ แต่อาจไม่เห็นภาพความเป็นจริงในสังคมได้ครบ การทำวิจัยเรื่องคอร์รัปชันจึงเริ่มมีการใช้กระบวนการแบบ วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory action research) มากขึ้น หรืออธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือการชักชวนให้คนในพื้นที่จริงเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยด้วย นักวิจัยก็นำผลการศึกษาตามระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องทางวิชาการ ไปทดลองในพื้นที่จริงเลย แล้วนำผลการปฏิบัติจริงกลับมาศึกษาอีกที เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมที่สุด และเริ่มมีการประยุกต์ความรู้จากหลายหลายศาสตร์เข้ามาช่วยกันทำความเข้าใจปัญหาและคิดหาวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ การตลาด หรือภาษาศาสตร์ เพื่อให้กระบวนการหรือเครื่องมือสุดท้ายที่สามารถนำไปใช้ได้จริงมีความครบเครื่องจริงๆ
ในปีที่ผ่านมาผมได้นำเสนอความรู้และข้อค้นพบใหม่ๆ จากงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยในหลายบทความ วันนี้จึงอยากรวบรวมงานต่างๆ ที่มีความแปลกใหม่มาสรุปให้เห็นว่า งานวิจัยของไทยก็มีความล้ำหน้าทางวิชาการ และที่สำคัญไม่ลอยอยู่บนหอคอยงาช้าง เพราะมีการทดลองใช้จริงแล้วด้วย โดยทั้ง 11 โครงการวิจัยนี้ เป็นโครงการภายใต้ แผนงานท้าทายไทย เรื่องสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย มีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ประสานงานหลักโครงการ โดยทั้ง 11 โครงการนี้ แบ่งกลุ่มไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการใหญ่ 3 ประการ ดังนี้
1.)เพื่อสร้างดัชนี หรือ ตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในระดับพื้นที่ (corruption risk index) เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ระดับและความก้าวหน้าของการลดคอร์รัปชันเปรียบเทียบกับพื้นที่ต่างๆ อันจะนำไปสู่การสร้างความตื่นตัวของประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ โดยดัชนีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในระดับพื้นที่จะรวมไปถึงความรู้ทางการคลัง (fiscalliteracy) และความรู้ทางกฎหมาย (legal literacy) ด้วย วัตถุประสงค์นี้ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย 3 โครงการ ได้แก่
1.1)การออกแบบและการทดลองต้นแบบเครื่องมืิอการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของสาธารณะ(Design and Prototyping of PUBLIC Anti-Corruption Platform) เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับกระบวนการทางนิติบัญญัติ ที่สร้าง ทดสอบ และประเมินผลต้นแบบเว็บไซต์เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยได้ทำการเก็บข้อมูลการเข้าถึงกระบวนการนิติบัญญัติของการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรอย่างครบถ้วน และเก็บข้อมูลผู้ใช้เป็นรายประเด็น และพื้นที่ โดยไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว จากนั้น สามารถนำมาสร้างตัวชี้วัดความสนใจของประชาชนในรายประเด็นและรายพื้นที่
1.2)การออกแบบและการทดลองต้นแบบเครื่องมืิอการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของชุมชน: กรณีศึกษา กทม. น่าน นครราชสีมา และแม่ฮ่องสอน (Design and Prototyping of COMMUNITY Anti-Corruption Platform) เป็น WebApp ที่ถูกสร้างขึ้นจากความสนใจและความสามารถทางเทคโนโลยีในระดับชาวบ้านของประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่านและกรุงเทพฯ โดยได้ทำการทดสอบและปรับปรุงจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว จากนั้นนำมาสร้างตัวชี้วัดจากการวัดวัดส่วนของความร่วมมือกับภาครัฐท้องถิ่น ความสนใจในการเข้าถึงข้อมูลที่มีการเปิดเผย และการตัดสินใจร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ เปรียบเทียบกับจำนวนกิจกรรมเดียวกันในอดีตที่ผ่านมา
1.3)การออกแบบและการทดลองต้นแบบเครื่องมืิอการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของเยาวชน (Design and Prototyping of YOUTH Anti-Corruption Platform) เป็น App สำหรับนักเรียน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ร้องเรียน ตรวจสอบ และดูแลโรงเรียนของตนเอง รวมทั้งยังใช้เพื่อการเปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนกับสาธารณะด้วย โดยได้สร้าง ทดลองนำไปใช้จริง และปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว หากนำไปใช้จริงสามารถคำนวณตัวชี้วัดเปรียบเทียบคุณภาพในรายโรงเรียนทั้งด้านบวกและด้านลบ และเมื่อคำนวณผลรวมของโรงเรียน สามารถพิจารณาเป็นรายจังหวัด ภาค และประเทศได้
2.)เพื่อพัฒนากลไกต้นแบบ มาตรการและแนวทางขยายผลระบบบริหารจัดการที่ดีหรือธรรมาภิบาลในหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับประชาชน โดยเน้นที่กระบวนการสำคัญ เช่น การเปิดเผยข้อมูล การให้เบาะแส และอื่นๆ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ และร่วมแก้ไขปัญหาได้ สร้างวัฒนธรรมธรรมาภิบาล ลดการใช้ดุลพินิจ และการรับผิดชอบของหน่วยงานวัตถุประสงค์นี้ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย 5 โครงการ ได้แก่
2.1)โครงการราชการไทยไร้คอร์รัปชัน: การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการแจ้งเบาะแสการทุจริต
2.2)โครงการกระบวนการติดตั้งระบบและกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนบางบัว เขตบางเขน และชุมชนหลังแฟลตร่วมพัฒนา เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
2.3)โครงการกลไกการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและการเฝ้าระวังติดตามการคอร์รัปชันโดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา : พื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
2.4)โครงการกระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลสู่สังคมปลอดคอร์รัปชันในจังหวัดนครราชสีมา กรณีศึกษาตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน ตำบลพระพุทธ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
2.5)โครงการกระบวนการเสริมสร้างธรรมาภิบาลบนฐานวัฒนธรรมชุมชนสู่สังคมปลอดคอร์รัปชัน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
3.)เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความรู้ให้แก่ประชาชน โดยการสร้างการเรียนรู้จากองค์ความรู้ งานวิจัยและกรณีศึกษาการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ เช่น ความรู้เกี่ยวกับสิทธิ ความซับซ้อนของการจัดซื้อจัดจ้าง ความยุ่งยากของการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สื่อสาธารณะ สื่อการเรียนการสอน หรือสื่อออนไลน์ เพื่อลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่ วัตถุประสงค์นี้ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย 3 โครงการ ได้แก่
3.1)การออกแบบและการทดลองต้นแบบเครื่องมืิอการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน(Design and Prototyping of NETWORK Anti-Corruption Platform) เพื่อเป็นเครือข่ายของการทำงานของภาคส่วนต่างๆเพื่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่าน WebApp ที่สร้าง ทดสอบ และปรับปรุงเพื่อให้สามารถนำไปใช้จริงได้จากความเห็นขององค์กร หน่วยงาน มูลนิธิและเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมทำงานเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน ความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ
3.2)การทดลองทางเศรษฐศาสตร์ในห้องทดลอง เพื่อบูรณาการการป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน (Laboratory Economic Experiment for Anti-corruption Integration) โดยนำความรู้จากการทดลองทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับแนวทางการสร้างความร่วมมือในสังคมไทย ในมิติของความร่วมมือระหว่างประชาชนด้วยกันเอง กับความร่วมมือกับภาครัฐ โดยเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้และผลการทดลองดังกล่าวสู่สาธารณะ
3.3)การศึกษามโนทัศน์คำว่า คอร์รัปชัน ในสังคมไทยในมิติทางภาษาศาสตร์สังคมเชิงปริชาน เพื่อสร้างคู่มือในการใช้ภาษาเพื่อป้องกัน และสร้างความรู้สึกไม่ดีต่อสถานการณ์การคอร์รัปชัน โดยผลที่ได้มาจากการทดลองทางภาษาศาสตร์
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า งานวิจัยเรื่องคอร์รัปชันของไทยในยุคนี้ มีการประยุกต์ความรู้จากหลากหลายศาสตร์ มีการใช้กระบวนการและเครื่องมือที่ทันสมัย บนพื้นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จนสามารถสร้างนวัตกรรมสังคม ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมด้วย ที่ทดสอบแล้วว่าสามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้จริง ทำให้มีความครอบคลุมเพียงพอที่จะสร้างผลกระทบทางสังคมที่ใหญ่จนเปลี่ยนบรรทัดฐานของคนในสังคมได้ หากได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนงานต่อในขนาดที่ใหญ่ขึ้น ประเทศไทยก็มีความหวังที่จะเป็นประเทศที่ใสสะอาด ไร้การคอร์รัปชันได้จริงครับ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี