ที่ผ่านมา “สกู๊ปหน้า 5” ตามติดวิกฤติการศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง คำบอกเล่ามากมายทั้งจากนักวิชาการ ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน สะท้อนให้เห็นถึงสารพัดปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยด่วน ทว่าแม้จะพูดกันมามากแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ค่อยจะพบว่ามีการนำความเห็นของผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ ไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐเท่าใดนัก
24 เม.ย. 2557 เป็นอีกครั้งที่เรายังคงต้องรับฟังเสียงสะท้อนดังกล่าว ในงานเสวนา “ก ข ค ง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ..หากคุณไม่เริ่มตั้งคำถาม” จัดโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลายเรื่องราวอาจถูกมองว่าเป็นประเด็นเดิมๆ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การที่ยังมีผู้ออกมาสะท้อนปัญหาเก่าๆ นั้นย่อมหมายถึงความทุกข์ร้อนจากปัญหานั้นยังไม่ถูกแก้ไขให้บรรเทาลง
เมื่อครูต้อง “หมกมุ่นกับเอกสาร”
ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ พูดถึงคุณภาพเด็กไทยที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ทั้งความรู้เชิงวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตในสังคม เข้าทำนอง “เรียนก็ไม่เก่ง นิสัยก็ไม่ดี” ด้านหนึ่งครูบาอาจารย์ทุกระดับชั้นกลายเป็นจำเลย ถูกประณามว่าไม่สามารถสอนให้เด็กเป็นคนเก่ง-คนดีได้ บางส่วนลามไปถึงสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรวิชาชีพครูว่าเป็นคณะที่ไร้ประโยชน์ เปลืองงบประมาณ สมควรถูกยุบไปเลยทีเดียว
อีกด้านหนึ่ง เสียงสะท้อนของผู้ประกอบวิชาชีพครู ระบุว่าทุกวันนี้ชีวิตการทำงานของครูถูกแขวนไว้กับ “เอกสารทางวิชาการ” ในแต่ละปี ครูคนหนึ่งต้องทำเอกสารประเมินมากมาย รวมทั้งเดินสายอบรมสัมมนาเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของสถาบันการศึกษาต้นสังกัด อันมีผลต่อการเลื่อนชั้นยศและเงินค่าวิทยฐานะต่างๆ ทั้งนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าครูก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ต้องกินต้องใช้ มีครอบครัวต้องดูแล เมื่อถูกบังคับให้ต้องเลือกเช่นนี้ ครูหลายคนจึงจำใจละเลยงานสอนและดูแลความประพฤติเด็ก ไปให้น้ำหนักกับงานเอกสารแทน
“ทุกวันนี้นโยบายที่ลงมาถึงตัวครูเอง เหมือนว่าเมื่อเปลี่ยนขั้วนโยบายก็ต้องเปลี่ยน ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมตัวประเมินเพื่อรองรับนโยบาย ดังนั้นก็จะมีแต่เรื่องประเมิน ประเมิน ประเมินอย่างเดียว จนครูต้องมาเตรียมงานประเมิน ไม่มีเวลาให้ห้องเรียน ละทิ้งห้องเรียน”
สามารถ สุทะ ครูห้องเรียนเรือนแพ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร จ.ลำพูน และเป็นครูต้นแบบของตัวเอกในภาพยนตร์ดังเรื่องหนึ่ง ระบายความรู้สึกถึงภาระหน้าที่ของครูในระบบการศึกษา ที่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว หรือกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย
ผลคือครูต้องใช้เวลามากมายไปกับการปรับตัวเพื่อเตรียมการสอน ภาระหนักจึงอยู่กับครูที่ไม่รู้ว่าจะต้องสอนอย่างไรกันแน่ และเคราะห์ร้ายที่สุดย่อมตกอยู่กับเด็ก เพราะเมื่อครูไม่ได้สอน นักเรียนก็ไม่มีความรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ผลการเรียนตกต่ำ จึงอยากฝากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจกำหนดนโยบาย ช่วยให้ความชัดเจนในเชิงนโยบาย ไม่เปลี่ยนไปมาบ่อยๆ ด้วย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำงานได้ถูกต้อง
“ฝากผู้ใหญ่นะครับ ถ้าเป็นไปได้ นโยบายควรจะทำให้เกิน 6 เดือนหรือ 1 ปี ถึงจะประเมินผล ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนขั้วก็เปลี่ยนนโยบาย ผู้ปฏิบัติก็จะปฏิบัติไปครึ่งๆ กลางๆ ก็จะสรุปไม่ได้ว่ามันให้ผลจริงหรือเปล่า? ดังนั้นผู้ปฏิบัติ หรือครูก็จะเหมือนว่าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เสียเวลา ผลการเรียนตกต่ำ นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
อันนี้คือปัญหาหลักเลย ทั้งๆ ที่ครูมีหน้าที่สอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น แต่แล้วสิ่งเหล่านี้ย้อนกลับมาถามถึงครู ว่าครูไม่ได้สอนเด็กหรือ? สังคมต้องถามว่าทำไมครูสอนเด็กให้อ่านหนังสือไม่ได้ล่ะ? คิดเลขไม่เป็นล่ะ? อย่างนี้มากกว่า” ครูสามารถ กล่าว
“เรียนฟรี” อย่างที่โฆษณาจริงหรือ?
หลายปีที่ผ่านมา นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ มีแนวโน้มไปในทาง “ประชานิยม” เนื่องด้วยมีพรรคการเมืองหนึ่งทำไว้แล้วชนะเลือกตั้ง ทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้พรรคอื่นๆ ทำบ้าง กลายเป็นว่าแต่ละพรรคต้องเกทับกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการตรวจสอบว่านโยบายประชานิยมเหล่านั้นใช้ได้จริงหรือไม่? แค่ไหน? หรือต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไรบ้าง? รู้แต่ต้องลดแลกแจกแถมกันมากๆ เพื่อให้ได้รับคะแนนเสียงเท่านั้น
1 ในนั้น คือนโยบาย “เรียนฟรี” ที่แม้จะเป็นเจตนาดีของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระของผู้ปกครองนักเรียน แต่กลับกลายเป็นว่า ในความเป็นจริงผู้ปกครองหลายรายยังต้องแบกรับภาระไม่ต่างจากเดิมนัก หลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นหนึ่ง คือทุกครั้งที่ถึงฤดูกาลเปิดภาคเรียน “โรงตึ๊ง” หรือโรงรับจำนำ กลายเป็นเป้าหมายของสื่อมวลชนที่จะต้องไปรอทำข่าว เนื่องจากผู้ปกครองจำนวนมากต้องนำทรัพย์สินไปจำนำเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายด้านการเรียนให้กับบุตรหลาน
คุณพ่อรายหนึ่งใน จ.กระบี่ เล่าว่านักเรียนระดับประถมศึกษา จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัว เฉลี่ยคนละประมาณสามร้อยกว่าบาท หากแต่ค่าใช้จ่ายจริงกลับสูงกว่านั้น ซึ่งก็เป็นภาระตกอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงขนาดกล่าวในทำนองเป็นตลกร้ายว่า “ปิดเทอมทีไรดีใจทุกที” เพราะเมื่อเปิดภาคเรียน โรงเรียนมักมีค่าใช้จ่ายหลายประเภทมาให้ผู้ปกครองต้องเสียเงิน โดยให้เหตุผลว่าอยู่นอกนโยบายอุดหนุนของรัฐ
“ถามว่าประมาณเท่าไร? ก็ประมาณไม่ถูก แต่มีมาทุกปีเลย อย่างบางทีโรงเรียนขอค่าคอมพิวเตอร์ หรือค่าต่างๆ มา โดยบอกว่าอยู่นอกนโยบายเรียนฟรี บางทีก็ชุดพละบ้าง ถามว่าแล้วครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำล่ะ? หรืออย่างบางทีมีโครงการทำโน่นทำนี่ขึ้นมา ให้ผู้ปกครองช่วยบริจาค ผมไม่อยากจะพูด คือผมดูระบบนี้แล้วมันบอกไม่ถูก หรือเด็กได้หัวละ 300 กว่าบาท เขาก็ติดต่อพ่อค้าให้มาขายของในโรงเรียน แล้วขายแพงด้วย แต่เราไม่มีสิทธิ์จะไปซื้อข้างนอกอีก เขาบังคับเลย”
ผู้ปกครองนักเรียนรายนี้ ระบุ และเสนอแนะว่า อยากให้รัฐบาลกล้าที่จะบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เช่นหากนโยบายไม่สามารถทำให้เรียนฟรีได้จริง ก็น่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น “นโยบายลดภาระค่าเล่าเรียน” โดยให้รัฐบาลประกาศล่วงหน้าว่าแต่ละปีจะสามารถให้เงินอุดหนุนการศึกษาต่อหัวเด็กได้คนละเท่าใด เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถวางแผนล่วงหน้าในการเตรียมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
“ถ้าทำให้ฟรีไม่ได้ ก็บอกมาเลยว่าปีนี้เด็กจะได้ค่ารายหัวเท่าไร? เช่นปีนี้แต่ละคนได้คนละ 350 นะ หรือ 400 นะ ที่เหลือผู้ปกครองจัดการเอง ทำแบบนี้จะได้วางแผนถูก” คุณพ่อชาว จ.กระบี่ รายนี้ ให้ความเห็น
“เด็กเกเร” กับตราบาปชั่วชีวิต
เมื่อพูดถึงเด็กและการศึกษา ความสนใจหลักมักจะไปอยู่กับเด็กที่เรียนดี สอบได้คะแนนสูงๆ เพราะเป็นหน้าเป็นตากับทั้งครอบครัวเด็กเอง สถาบันการศึกษาของเด็กตลอดจนประเทศชาติ แต่เด็กส่วนมากมิได้เป็นเช่นนั้น หลายคนมีผลการเรียนเพียงปานกลางไปถึงไม่เก่ง ซึ่งไม่ค่อยได้รับความสนใจนัก เมื่อไม่อาจแข่งขันในระบบหลักได้ ก็กลายเป็นเบื่อหน่ายการเรียน ซึ่งหากเป็นวัยรุ่นก็จะมีการจับกลุ่มในหมู่เด็กพวกเดียวกัน กลายเป็นเด็กเกเรก่อเรื่องก่อราว จนบางรายต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาหลักไป
และแม้ว่าจะมีระบบการศึกษาทางเลือก สำหรับบรรดาเด็กหลงผิดที่ต้องการกลับเนื้อกลับตัว สามารถเรียนต่อจนถึงขั้นอุดมศึกษาได้เช่นกัน แต่ก็พบว่า สังคมหรือสถานประกอบการต่างๆ กลับไม่ค่อยยอมรับเท่าไรนัก ดังจะเห็นจากคำสารภาพของ “ผู้ต้องหาซ้ำซาก” ที่เข้าๆ ออกๆ สถานพินิจหรือเรือนจำบ่อยครั้ง กล่าวเสมอว่าเพราะออกมาแล้วหางานทำไม่ได้ ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ จึงต้องกลับไปทำผิดอีกครั้งจนถูกจับดังกล่าว
วัยรุ่นชายรายหนึ่งที่เคยถูกจับในคดีแข่งรถบนถนนหลวง (เด็กแว้น) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และมีแผนจะเรียนต่อทางสายอาชีพในอนาคต ฝากถึงสังคมว่าอยากให้เปิดใจ ให้โอกาสคนที่เคยหลงผิดบ้าง เพราะคนทุกคนย่อมเคยทำผิดไม่มากก็น้อย ไม่ใช่จ้องแต่จะประณาม หรือมองคนกลุ่มนี้ว่าเป็นคนไม่ดีแต่เพียงอย่างเดียว
“เขาน่าจะให้โอกาสบ้าง ไม่ใช่ว่าจะไม่ยอมรับสิ่งที่เขาผิดพลาดมา เพราะคนเราเกิดมาก็ต้องมีการผิดพลาดกันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะแบบ..คนนี่ไม่ดี ไม่รับดีกว่า อาจจะมาทำเสื่อมเสียบริษัทเรา..อะไรแบบนี้ อยากให้สังคมให้โอกาสเด็กนอกระบบอย่างพวกเราบ้าง ไม่ใช่เอาแต่จะดูถูกเหยียดหยาม กล่าวหาว่าเขาเป็นคนเลว คนไม่ดี ต้องให้โอกาสเขาบ้าง เขาอาจจะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนดีในสังคมก็ได้”
อดีตเด็กแว้นรายนี้ ฝากทิ้งท้าย และกล่าวเสริมว่า ระบบการศึกษาหลักเองก็ไม่ควรจะไปปิดกั้นเด็กที่เคยทำผิดพลาดจนออกนอกระบบไปหากเขาต้องการกลับมาเรียนต่อ ด้วยเหตุผลว่าเด็กโตเกินวัยไปแล้ว อาจมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับเด็กในชั้นเรียนมาตรฐานที่อายุน้อยกว่าได้ เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจเข้ากับรุ่นน้องๆ ได้อย่างดีก็เป็นได้ แม้วัยจะต่างกันก็ตาม
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเสียงสะท้อนอีกมากมาย ทั้งการเรียนที่เน้นวิชาการเป็นหลัก ทำให้เมื่อจบไปแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงไม่เป็น ความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กในชนบท หรือการที่เส้นทางสู่ชีวิตที่ดีขึ้น คือต้องสอบเข้าและเรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้เท่านั้น ส่งผลให้เกิดค่านิยมการกวดวิชาอย่างบ้าคลั่ง อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้พูดกันมาครั้งแล้ว ครั้งเล่า แต่ยังมองไม่ออกว่า..ปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขได้สำเร็จเมื่อใด?
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี