กว่ากึ่งศตวรรษของนโยบายพัฒนาประเทศไทยตามแบบรัฐสมัยใหม่ นับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2504 ที่เปลี่ยนจากสังคมเกษตรเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม เม็ดเงินลงทุนมหาศาลจากหลายชาติหลั่งไหลเข้ามา พร้อมๆ กับประชาชนละทิ้งชนบทบ้านเกิด มุ่งสู่เมืองใหญ่เพื่อหาโอกาสในชีวิต
ทว่าแม้เวลาผ่านไป เศรษฐกิจไทยค่อยๆ โตขึ้นอาจจะมากบ้างน้อยบ้าง ตลอดจนเรามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายชนิดที่ไม่อาจจะบอกได้ว่าประเทศไทยไม่เจริญทางวัตถุ แต่ปัญหาคือยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไร กลายเป็นว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพชีวิตผู้คนดูเหมือนจะด้อยลง
ข้อมูลจาก ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุถึงความลักลั่นของการพัฒนาประเทศไทยไว้หลายประการ เช่นเรื่องของการศึกษา แม้เด็กไทยจะเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงได้มากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วกว่าร้อยละ 60 ได้อยู่ถึงชั้นมัธยมปลาย แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับตกลงเรื่อยๆ หากนับจากปี 2546-2552 วิชาคณิตศาสตร์ เดิมคะแนนเฉลี่ย 34.99 ลดลงเหลือเพียง 26.05 ขณะที่วิชาวิทยาศาสตร์ เดิมคะแนนเฉลี่ย 38.07 ลดลงเหลือเพียง 29.16 เท่านั้น
หรือเรื่องใกล้ตัวกว่านั้น แต่ดูเหมือนจะถูกหลงลืมไปแล้วโดยเฉพาะสังคมชาวเมือง คือเรื่องของ “ครอบครัวอบอุ่น” กล่าวคือ จากปี 2524-2554 รายได้ต่อหัวของประชากรไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 932 แต่ก็แลกมาด้วยชีวิตครอบครัวที่ไม่พร้อมหน้า พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ต่างคนต่างไปทำงาน มีการสำรวจพบว่าครอบครัวไทยอยู่พร้อมหน้ากันลดลงเรื่อยๆ และในปี 2552 เหลือเพียงร้อยละ 61.9 เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีแนวคิดให้นำรายได้บางชนิดของรัฐ เช่นภาษีจากอบายมุขมาจัดทำกองทุนสนับสนุนการพัฒนาสังคม ดังที่รู้จักกันดีอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้งบประมาณต่อปีจากร้อยละ 2 ของภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบที่เก็บได้ มาจัดทำข้อมูลและสื่อทางวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาวะสำหรับเผยแพร่ รวมทั้งให้การสนับสนุนภาคีต่างๆ ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมสุขภาพดีของชุมชน
เช่นเดียวกับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ทีวีสาธารณะช่องแรกของไทย ที่ได้งบประมาณจากภาษีบาป 2 ประเภทดังกล่าวปีละ 2 พันล้านบาท สำหรับผลิตรายการเชิงสาระความรู้ เพื่อเข้าถึงคนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุดแบบที่ไม่ต้องมีโฆษณาคั่น จนได้รับการยอมรับว่าเป็น “ทางเลือกใหม่” ของวงการโทรทัศน์ไทย ทั้งนี้ในความเป็นจริงหลายรายการแม้จะมีคุณภาพ แต่ไม่อาจเกิดได้หากโทรทัศน์มีแต่ช่องที่ดำเนินการแบบธุรกิจ เพราะสินค้าต่างๆ มองว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนโฆษณากับรายการเหล่านี้
ขณะเดียวกัน ยังมีความพยายามของ เครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม ที่ต้องการให้นำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (หวยล็อตเตอรี่) อบายมุขอีกอย่างที่คู่กับสังคมไทย มาเป็นกองทุนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมในทุกมิติ เพราะปัจจุบัน พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 กำหนดให้กองสลากมีหน้าที่เพียงหารายได้เข้ารัฐเป็นสำคัญ
เนื่องจากต้องยอมรับว่า ลูกค้าหลักของสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รากหญ้า) เช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ดังนั้นควรให้รายได้นี้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มดังกล่าว จึงจะถือว่ามีความเป็นธรรม และเพื่ออุดช่องว่างของภาครัฐ ที่มักจะเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจมาก่อนเสมอด้วย ทำให้การพัฒนาสังคมไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งนี้เสนอให้แบ่งรายได้ร้อยละ 15 จากสำนักงานสลากฯ ซึ่งมีรายได้ราว 7,200 ล้านบาทต่อปี มาเป็นงบประมาณกองทุน
นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวในงานเสวนา กองทุนภาคประชาสังคม : เพิ่มพลังพลเมือง สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กทม. เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ระบุว่า การสร้างระบบกองทุนภาคประชาสังคม จะช่วยให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งขึ้น กระตุ้นให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้บริหารจัดการ และสร้างศักยภาพในการดูแลตนเองให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลทรัพยากรชุมชน หรือการต่อสู้กับกลุ่มนายทุน
“ปัจจุบันประชาชนจะมีความพร้อมไม่มาก เพราะถูกระบบข้าราชการและนักการเมืองทำให้อ่อนแอมาเป็นเวลานาน จึงจำเป็นต้องอาศัยการสร้างกองทุนภาคประชาสังคม มาช่วยให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น เช่นเหตุการณ์ต่อสู้กับบริษัทเหมืองแร่ของประชาชนในจังหวัดเลย ก็ถือเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ประชาชนต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร และความปลอดภัยของชุมชน
ซึ่งการต่อสู้ลักษณะนี้ จำเป็นต้องอาศัยกองทุนเพื่อทำให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ และการที่ประชาชนมีความสามารถในการดูแลตนเอง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อท้องถิ่น จะช่วยลดปัญหาการกระจุกตัวของอำนาจ และการทุจริตลงได้ด้วย” ประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าว
ในโลกยุคใหม่ คงต้องยอมรับว่า “เงินทุน” คืออำนาจแท้จริง เห็นได้จากกลุ่มทุนต่างๆ พร้อมจะวิ่งเต้น (Lobby) กับภาครัฐทั้งข้าราชการและนักการเมือง เพื่อให้เอื้อประโยชน์กับธุรกิจของตน ซึ่งหลายครั้งการลงทุนก็นำปัญหาเข้าไปให้ชุมชนท้องถิ่นด้วย เนื่องจากหลักการของทุนนิยม คือลงทุนให้ต่ำที่สุด เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกำไรสูงสุด
ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็มักมองแต่เพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของตน จึงมุ่งส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจผ่านนโยบายต่างๆ จนอาจละเลยผลกระทบต่อชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย ส่วนภาคประชาชนเอง แม้ความตั้งใจดี แต่ก็มีข้อจำกัดคือไม่มีอำนาจใดๆ เหมือนภาครัฐ และไม่มีทุนมหาศาลแบบภาคธุรกิจ ทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่คืบหน้า ตรงกันข้ามกลับมีแต่จะเพิ่มช่องว่างให้ห่างกันมากขึ้นเสียอีก
ดังนั้นกองทุนภาคประชาสังคม หากเกิดขึ้นได้และสามารถบริหารจัดการให้โปร่งใส ย่อมจะมีประโยชน์อย่างมาก ในฐานะ “อำนาจถ่วงดุล” อย่างหนึ่ง และเป็นอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี