ประเทศไทยเรานั้นมีพื้นที่ในการปลูกข้าวโดยประมาณ 70 ล้านไร่ และมีจำนวนประชากรหลายล้านคนที่มีชีวิตผูกพันเกี่ยวกับข้าวหรือการทำนา ทว่าในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่จะมองว่า ชาวนาก็ดี เกษตรกรก็ดีเป็นอาชีพของคนจน เพราะทำงานหนักแต่กลับได้ผลตอบแทนน้อย
ที่เป็นเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าเกษตรกรจำนวนมากไม่มีความรู้เพียงพอ ขาดข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสำหรับวางแผนการผลิต รวมทั้งความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพสูงที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องพึ่งพานโยบายช่วยเหลือของรัฐอยู่เรื่อยไป
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) เปิดตัวโครงการ “Smart Farm System” ภายใต้แนวความคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งจะประกอบไปด้วย
1.Smart Class Room หรือห้องเรียนเกษตรที่ทันสมัยที่สุด เพราะเกษตรกรสามารถสัมผัสเทคโนโลยีได้ไม่ยากซึ่งระบบจะสนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการเรียนรู้ทางไกล อีกทั้งการนำเทคโนโลยีและการประเมินผลวิเคราะห์ดิน-น้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.Smart Teacher มีอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการเกษตรและเทคโนโลยี ที่มีความรู้จริง มาทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการบริหารและการจัดการฟาร์ม เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนต่ำที่สุด และได้ผลผลิตที่ดีที่สุด
3.Smart Machine ได้รวบรวมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรอัจฉริยะ ทั้งที่ออกแบบโดยทางมหาวิทยาลัยและจากการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ทำให้ได้เครื่องจักรกลเกษตรที่หลากหลายและมีระบบการใช้งานที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถทดสอบอีกทั้งยังทดลองใช้งานได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆอย่างถูกต้อง
4.Smart Farm ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนอัจฉริยะมาทดสอบและประยุกต์ใช้งานจริง โดยทางมหาวิทยาลัยได้มีพื้นที่หรือแปลงทดลองให้เกษตรกรได้ฝึกและทดลองในพื้นที่เพาะปลูกจริง เพื่อนำไปสู่การบริการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นต่อไป
รศ.บพิตร ตั้งวงศ์กิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าเกษตรไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยและมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรจึงควรเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยการนำเทคโนโลยีการผลิตทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า “Smart Farm System” หรือ “ระบบเกษตรอัจฉริยะ” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของสินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ อย่างไรก็ตามหนทางพัฒนาข้าวสู่ความยั่งยืนแท้จริงนั้น มีหัวใจหลักอยู่ที่การส่งเสริมและพัฒนาชาวนาอย่างแท้จริง จึงจะถูกต้องและยั่งยืน
“เมื่อพูดถึงการพัฒนาข้าวให้เกิดคุณค่านั้น คนทั่วไปมักคิดถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในการปลูกข้าวแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ข้าวจะไม่มีวันเกิดขึ้นมาเองได้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่เรามักมองข้ามไปคือชาวนา” รศ.บพิตร กล่าว
ในเมื่อประเทศไทยคาดหวังจะเป็น “ครัวของโลก” ดังนั้นคงไม่ดีแน่ถ้าจะปล่อยให้อาชีพเกษตรกรรมมีภาพลักษณ์ว่าเป็นอาชีพของคนจน เพราะหากเป็นเช่นนี้ ด้านหนึ่งคนไทยท้องถิ่นย่อมละทิ้งไร่นา เข้าสู่อุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ เกิดเป็นปัญหาของชุมชนเมืองอีกหลายประการจากภาวะเมืองแออัด
อีกด้านหนึ่งจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่มีความพร้อมด้านงบประมาณ บุคลากรและเทคโนโลยี เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จนอาจกระทบ “ความมั่นคงด้านอาหาร” ที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทยเรามาโดยตลอด
เชื่อได้ว่า..ยังมีเกษตรกรไทยอีกมากที่รักวิถีอาชีพของตน แล้วก็มีนักวิชาการด้านเกษตรของไทยที่เก่งๆ อีกหลายท่าน คำถามคือ? จะทำอย่างไรให้ความรู้และนวัตกรรมที่ได้ค้นคว้าวิจัย สามารถเข้าถึงชาวบ้านสามัญได้
บุษยมาศ ซองรัมย์
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี