ยังคงเป็น “หอกข้างแคร่” คอยทิ่มแทง สร้างความรำคาญใจให้กับรัฐบาลสำหรับบรรดาผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 112” หรือพวก “หมิ่นสถาบัน” ที่ส่วนใหญ่หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ยังปฏิบัติการ “ป่วน” รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็เล่นเอาสั่นสะเทือนไปทั้งทำเนียบรัฐบาล ภายหลัง “จอม เพชรประดับ” ออกมาปล่อยข่าวอัปมงคลทุบหุ้นไทยจน “แดง” ไปทั้งกระดาน
ล่าสุด เอกภพ เหลือรา หรือ “ตั้ง อาชีวะ” ออกมาโพสต์ภาพโชว์ “พาสปอร์ต” นิวซีแลนด์ จนทำให้ “เต้น” กันไปทั้งรัฐบาล ถึงขั้นต้องขอคำชี้แจงจากอุปทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เกี่ยวกับ“สถานะ” ของผู้ต้องหารายนี้ ซึ่งใช้ประโยชน์จากการได้รับสถานะที่ได้รับจากรัฐบาลนิวซีแลนด์เคลื่อนไหวทางการเมืองและกระทบต่อความมั่นคงไทย ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ไทยและนิวซีแลนด์
ปฏิบัติการป่วนที่เหล่า “วายร้าย 112” ปล่อยออกมาเป็นระยะ ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล จนทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกอาการ “ฮึ่มๆ” สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งนำตัวผู้กระทำผิดทั้งในและนอกประเทศมาลงโทษให้ได้ โดยเป้าหมายสำคัญ “จี้” ไปยังผู้กระทำผิดมาตรา 112 ที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ แล้วใช้เป็นฐานที่มั่นในการโจมตีสถาบันผ่านช่องทาง “โซเชียลเนตเวิร์ก”
งานนี้ “บิ๊กตู่” ตระหนักดีว่าการดำเนินการขอส่งตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในต่างประเทศไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ และบางประเทศไม่มีกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมถึงปัญหาเรื่ององค์กรสิทธิมนุษยชน จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเดินเกม “บนดิน” ด้วยการเปลี่ยนจากคำว่า “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” มาใช้คำว่า “ผู้ที่มีความผิดตามกฎหมายของไทย” เพื่อหวังลบข้อกล่าวอ้างของบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มักให้เหตุผลว่า “ไม่มีกฎหมายเช่นนี้” ทุกครั้งที่ทางการไทยร้องขอ
สำหรับหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ “ล่า” วายร้าย 112 ทั้งระบบ คือ กระทรวงยุติธรรม ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา นั่งเป็นแม่ทัพใหญ่ ซึ่งได้กำหนดแนวทางดำเนินการกับวายร้ายเหล่านี้ โดยตั้งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มติดตามคดีเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดกลับมาดำเนินคดีในประเทศ 2.กลุ่มดำเนินการกับการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงไอซีที และ 3.กลุ่มที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับงานต่างประเทศในด้านการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง
ในส่วนของ “กองทัพ” ก็ได้มีการปรับแผนการทำงานทั้งบนดิน และ “ใต้ดิน” โดยแยก “บัญชีดำ” กลุ่มผู้กระทำผิดมาตรา 112 ออกเป็น 2 ประเภท คือ “พวกที่เคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศ” อาทิ จักรภพ เพ็ญแข, ใจลส์ (ใจ) อึ๊งภากรณ์, ตั้ง อาชีวะ, จรรยา ยิ้มประเสริฐ, ฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือ “โรส”, อั้ม เนโกะ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และล่าสุดก็จอม เพชรประดับ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วคนพวกนี้จะใช้ช่องทางโซเชียลเนตเวิร์กเข้ามาแสดงความเห็นได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย และเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว
“เรื่องคลิปวีดีโอ หรือการโพสต์ข้อความเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย ถือเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก ถึงแม้ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังติดปัญหาทางเทคนิคบางประการ” แหล่งข่าวจากกองทัพบก กล่าว
ทั้งนี้ กองทัพได้ส่งรายชื่อดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางกฎหมายแล้ว แต่ยอมรับว่าความแตกต่างของกฎหมายในแต่ละประเทศเป็น “อุปสรรค” ที่ไม่สามารถนำคนเหล่านี้มาดำเนินคดีตามกฎหมายไทยได้ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลและกองทัพจะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขอความร่วมมือ และทำความเข้าใจชี้แจงกับต่างประเทศถึงการเคลื่อนไหวของคนเหล่านั้นว่าเป็นการ “สร้างความแตกแยก” และถือเป็น “ภัยต่อความมั่นคง” เนื่องจากมีการดึงสถาบันมาใช้ในการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
“สิ่งหนึ่งที่กองทัพให้ความสนใจและติดตาม คือ เรื่องค่าใช้จ่ายของกลุ่มคนดังกล่าวในขณะที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะจากการตรวจสอบประวัติ ฐานะการเงินอย่างกรณีของ ตั้ง อาชีวะ ถือว่าเขาไม่ใช่คนร่ำรวย ดังนั้นต้องมีบุคคล หรือกลุ่มคนที่คอยสนับสนุนด้านการเงินอยู่เบื้องหลัง” แหล่งข่าวจากกองทัพบก ตั้งข้อสังเกต
กลุ่มต่อมา คือ “พวกที่เคลื่อนไหวในประเทศ” ส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกที่ฝักใฝ่พรรคการเมือง โดยจะเคลื่อนไหวจาบจ้วงเบื้องสูง ควบคู่ไปกับการ “ต้านรัฐประหาร” รวมถึงกลุ่มนักวิชาการที่เคยออกมาเคลื่อนไหวให้มีการรณรงค์ยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมา
การกระทำความผิดภายใต้ “กฎอัยการศึก” ถือว่าทหารมีอำนาจเต็มที่ในการติดตาม ควบคุมตัว ผ่าน 2 ช่องทาง คือ กองทัพบก ซึ่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ได้สั่งให้ติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มคนเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ผ่านศูนย์ปฏิบัติการพิเศษกองทัพบก(ศปก.ทบ.)
อีกส่วน คือ คสช. โดย พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย(กกล.รส.) ได้กำชับให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยระดับกองทัพภาคเข้มงวด ในการจัดการกับคนที่หมิ่นสถาบันในพื้นที่ที่รับผิดชอบแล้ว
แหล่งข่าวผู้นี้กล่าวด้วยว่า สิ่งที่กองทัพดำเนินการในขณะนี้ คือ ยึดปฏิบัติตามกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่การไล่ล่า หรือ “หมายหัว” ใคร แต่ถ้าใครทำผิด หรือได้รับเบาะแสจากประชาชน ในฐานะเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะพบผู้กระทำผิดในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 โดยจากการปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมาสามารถจำแนกกลุ่มคนที่กระทำความผิดได้ 2 ประเภท คือ เป็นกลุ่มคนที่มีความคิด “สุดโต่ง” ต้องควบคุมตัวจับขึ้นศาลทหารอย่างเดียว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ พอจะพูดคุยทำความเข้าใจ “ปรับทัศนคติ” ได้
“บางครั้งเจ้าหน้าที่เคยถามว่าที่ผ่านมาพระองค์ท่านเคยทำอะไรให้ไม่พอใจ เขาก็ตอบไม่ได้ บอกแค่ว่าที่ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และชื่นชอบพรรคการเมืองบางพรรค บางคนเราให้อ่านพระบรมราโชวาทของในหลวง รวมถึงให้ดูพระราชกรณียกิจ บอกให้เขาท่องจำให้ขึ้นใจ แล้วให้ทำข้อสอบให้ผ่านเกณฑ์ จากนั้นก็ให้เซ็นสัญญาว่าจะไม่ทำอีก เพื่อให้ซึมซับในสิ่งดีๆ ที่สถาบันทำไว้ให้กับคนไทย เพราะจุดประสงค์ของกองทัพอยากแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุ” แหล่งข่าวจากกองทัพบก กล่าว
การกระทำความผิดมาตรา 112 เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลยุคก่อนๆ ที่ดูเหมือนจะ “เกียร์ว่าง” ปล่อยวางทำ “หูทวนลม” จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ดูจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่ากลุ่มคนเหล่านี้ที่รัฐบาลถือเป็นภัยต่อสถาบัน และความมั่นคงของชาติ จะถูก “จัดการ” ได้มากน้อยเพียงใดภายใต้ “รัฐบาลทหาร” ที่มี “อำนาจ” เต็มมือ
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี