พูดกันมามากกับวิกฤติ “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) หรือสภาวะที่ไม่มีศักยภาพพอจะขึ้นไปแข่งขันในระดับบน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถลงไปแข่งขันในระดับล่างได้ ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ “ติดหล่ม” ดังกล่าว เพราะแรงงานไทยมีค่าจ้างสูงขึ้น แต่ยังขาดทักษะชั้นสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และวันนี้วิกฤติดังกล่าวได้เริ่มส่งผลกระทบ
ให้เห็นแล้ว
ล่าสุดกับการเปิดเผย “ดัชนีคุณภาพชีวิตคนไทย” เมื่อ 21 เม.ย. 2558 โดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พบว่า “ด้านเศรษฐกิจ” เป็นสิ่งที่คนไทยกังวลที่สุด โดยเฉพาะหัวข้อรายได้เพียงพอกับรายจ่าย ได้เพียง 2.85 จาก 5 คะแนน และหัวข้อการเก็บออมเงิน ได้เพียง 2.94 จาก 5 คะแนนเท่านั้น ขณะที่เมื่อไปดูเศรษฐกิจในภาพรวม พบว่าความสามารถในการส่งออกลดลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา และที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ..คือบรรดา “เอสเอ็มอี” หรือธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม
หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป..เราอาจสู้ไม่ได้แม้แต่ “ประเทศเพื่อนบ้าน” ที่กำลัง “เร่งเครื่อง” ตามมาทุกขณะ!!!
ดร.เกียรติอนันต์ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต้องไปโทษรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่ต้องโทษทุกรัฐบาล เพราะทั้งๆ ที่เราบอกว่าปฏิรูปการศึกษามากว่า 15 ปีแล้ว แต่วันนี้ปัญหาเดิมๆ กลับยังคงอยู่ นั่นคือเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการทุกครั้งที่ไปสำรวจ มักตอบกลับมาว่า “คิดไม่ได้-ทำไม่เป็น”
หนทางแก้ไข.. ผช.รองอธิการฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เสนอแนะไว้ 3 ส่วน ส่วนแรก ว่าด้วยแนวทางการศึกษาของโลกที่เริ่มเปลี่ยนไป ตำราเรียนและการสอนแยกเป็นรายวิชาเริ่มมีความสำคัญน้อยลง แต่จะให้ความสำคัญกับการนำสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาวิเคราะห์ด้วยศาสตร์ต่างๆ มากขึ้น โดยจะไม่สอนแยกเป็นรายวิชา แต่จะกำหนดเหตุการณ์สักเรื่องหนึ่งขึ้น จากนั้นจึงค่อยนำวิชาต่างๆ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ฯลฯ เข้าไปใส่ในเรื่องนั้นๆ
พร้อมกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดตลอดเวลา!!!
“สิงคโปร์ก็เริ่มเปลี่ยนการสอนเป็นแบบนี้แล้ว เช่นคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ เขาพาเด็กไปดูถังน้ำมันแล้วถามว่าทำไมถังน้ำมันถึงกลม แล้วให้เด็กมานั่งคิดกัน แล้วกลับมาห้องทดลองแล้วอัดก๊าซเข้าไปในถังน้ำมันที่เป็นสี่เหลี่ยมและวงกลมด้วยความดันเท่ากัน แล้วบอกว่าอะไรระเบิดก่อนระเบิดหลังให้เด็ก จับเวลาเพื่อสอนให้เด็กนับ นี่เด็กประถมนะครับ เทียบว่าระเบิดเร็วกว่าหรือช้ากว่ากันเท่าไร หรือโอกาสระเบิดก่อนคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ของระเบิดหลัง เด็กก็จะเรียนจากสิ่งที่เป็นจริง ความรู้ที่ได้ก็จะนำไปใช้ได้จริง เพราะเด็กรู้แล้วว่าความรู้มันมีประโยชน์”
ผช.รองอธิการฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว ขณะที่ ส่วนที่สอง สำหรับโรงเรียนเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลที่ครูไม่ครบทุกวิชา รัฐควรลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ให้สามารถเรียนทางไกล เชื่อมต่อกับครูเก่งๆ ในพื้นที่เมือง ย่อมดีกว่ายุบโรงเรียน ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้รุนแรงขึ้น เพราะแม้ว่าจะจัดยานพาหนะรับ-ส่งนักเรียนไปยังโรงเรียนใหม่ แต่ต้องไม่ลืมว่าเส้นทางในชนบทมักกันดารเดินทางลำบาก เด็กต้องตื่นเช้าและกลับบ้านเย็นมากขึ้น ประกอบกับผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่ฐานะยากจน ก็ยังอยากให้บุตรหลานช่วยงานทางบ้านไปด้วย
“บทบาทของครูในโรงเรียนเล็ก ไม่จำเป็นต้องสอนทุกวิชา แต่เป็นคนที่สามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกวิชาด้วยการสอนทางไกล เอาการเรียนรู้ทางไกลเข้ามาเพิ่ม แล้วครูไม่จำเป็นต้องอยู่โรงเรียนทุกวิชาหรือเปล่า? ในบางวิชาบางหัวข้อ อาจมีครูประจำจังหวัดเข้าไปสอนเป็นบางเรื่องบางครั้ง วันนี้โรงเรียนนึง อีกอาทิตย์ไปอีกโรงนึง ใช้ครูกลุ่มเดิมแต่เดินทางแบบหน่วยจรยุทธ์เข้าไปช่วยโรงเรียน” ดร.เกียรติอนันต์ ให้ความเห็น
ส่วนที่สาม ไม่เพียงแต่วัยเรียนเท่านั้นที่ต้องพัฒนา หากต้องเป็นคนไทยทุกคน ซึ่งทักษะสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้อยู่รอดในยุคนี้ได้คือ “การวิจัย” ที่ไม่ได้หมายถึงการเขียนออกมาเป็นตัวเลขเชิงสถิติอย่างที่ทำกันในทางวิชาการเท่านั้น แต่หมายถึงการสังเกตและวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขชีวิตของตนให้ดีขึ้น
“กระบวนการวิจัยมันอยู่ที่การตั้งคำถามและหาคำตอบ พยายามสังเกตทุกสิ่งรอบตัวแล้วก็ตั้งคำถามว่าจะทำสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร? สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไรบ้าง? ยกตัวอย่างอาหารตามสั่ง เคยสังเกตไหมครับ? ทำไมลูกค้าบางคนบอกไม่ใส่คะน้า? บอกว่าไม่เอาถั่วฝักยาว?
แล้วสังเกตนะครับ ลูกค้ากลุ่มนี้จะต่างจากลูกค้ากลุ่มที่สั่งอะไรก็ได้ เพราะลูกค้ากลุ่มที่ไม่เอาคะน้าไม่เอาถั่วฝักยาว เขาอาจจะได้ข่าวเรื่องสารพิษที่อยู่ในพวกนี้ ก็เลยรักสุขภาพมากกว่า มันอาจเป็นช่องทางให้เราขายของพรีเมียมได้ เช่น ขายข้าวผัดผักเกษตรอินทรีย์ เพิ่มสามบาทห้าบาทเอาไหม? นี่ไงครับ สังเกตและตั้งคำถามแล้วหาคำตอบ มันจะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นครับ” ผช.รองอธิการฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ฝากทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี