ไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงทางธรรมชาติถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่เมื่อปี 2554 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว กับเหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายและมูลค่าความเสียหายกว่าล้านล้านบาท เช่นเดียวกัน ปี 2558 สดๆ ร้อนๆ ไม่นานนี้กับวิกฤติภัยแล้งที่ลุกลามเป็นวงกว้าง หลายจังหวัดไม่มีแม้แต่น้ำสำหรับดื่ม ขณะที่น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งแห้งขอด ถึงขนาดต้องมีมาตรการจัดระเบียบการใช้น้ำในบางพื้นที่
สะท้อนให้เห็นว่า..ประเทศไทยอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!!!
“ต้องบอกว่าปี 2554 เป็นสัญญาณเตือนภัยแล้วว่าเราจะทำอย่างในอดีตไม่ได้ เพราะน้ำที่ท่วมมันรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น มันเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด ไม่ได้เกิดจากปริมาณน้ำที่มันเยอะอย่างเดียว ทำให้น้ำท่วมลึกและท่วมนาน ที่ควรจะท่วมแค่ 1 เมตร กลายเป็น 3 เมตร ที่ควรจะท่วมแค่ 3 อาทิตย์ ก็กลายเป็น 3 เดือน”
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนา “โครงการศึกษาการจัดการความเสี่ยงน้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง” ปลายเดือน ส.ค. 2558 ณ โรงแรมสุโขทัย ถ.สาทรใต้ กรุงเทพฯ ถึงบทเรียนที่เกิดขึ้นหลังเหตุมหาอุทกภัย 2554 ซึ่งสิ่งที่พบในขณะนั้นคือ “ต่างคนต่างทำ” ทั้งการตั้งกำแพง-ตั้งแนวกระสอบทรายของอาคารหรือชุมชนต่างๆ ผลคือน้ำไม่มีที่ระบาย ไม่รู้จะไหลไปไหน ทำให้ท่วมขังอยู่ในพื้นที่นานกว่าที่ควรจะเป็น
ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ ยังไม่เคยมีการ “บูรณาการ”หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ดูแลการก่อสร้าง-การใช้ที่ดิน (กระทรวงมหาดไทย), กรมชลประทาน ดูแลด้านการใช้น้ำในแหล่งน้ำบนดิน (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์), กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดูแลด้านการใช้น้ำในแหล่งน้ำใต้ดิน (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม),
กระทรวงคมนาคม ดูแลด้านการสร้างระบบคมนาคมต่างๆ เช่น ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน,กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลเรื่องมาตรการรับมือภัยพิบัติ (กระทรวงมหาดไทย), กรมควบคุมมลพิษ ดูแลด้านการบริหารจัดการน้ำเสีย (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน
แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้กระทรวงต้นสังกัดของกรมเหล่านี้มาดูแลเรื่องน้ำเพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละกระทรวงก็มีภารกิจอื่นๆ มากมาย ดร.เดือนเด่น ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ที่หันมาใช้ “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” บริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ในลักษณะกระจายอำนาจ ซึ่งมีอำนาจควบคุมทุกอย่างเกี่ยวกับน้ำ ตั้งแต่การใช้น้ำ การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่อาจกีดขวางทางน้ำ หรือแม้แต่การบำบัดน้ำเสีย
“ในต่างประเทศมีการสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาดูแลเรื่องน้ำ ซึ่งองค์กรนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเลย ก็คือคณะกรรมการลุ่มน้ำ ดูแลทุกมิติเกี่ยวกับน้ำในพื้นที่ มีอำนาจตัดสินใจได้หมด น้ำบาดาล น้ำเสีย ปล่อยน้ำอย่างไรบริหารน้ำอย่างไร และหน่วยงานนี้ต้องมีอำนาจที่จะบอกว่าใครมีสิทธิ์ที่จะก่อสร้างอะไรในพื้นที่ เช่น วันดีคืนดีจะมีการตัดถนนหรือรางรถไฟผ่านซึ่งมันกั้นน้ำไหลหมดเลย คณะกรรมการลุ่มน้ำโดยหลักแล้วต้องมีสิทธิ์ปฏิเสธ หรือมีสิทธิ์ที่จะบอกว่าถ้าท่านจะสร้างถนน ท่านต้องสร้างทางระบายน้ำไว้ข้างใต้ด้วย”
ดร.เดือนเด่นกล่าว ซึ่งนี่เป็นการบริหารจัดการน้ำในภาวะปกติ แต่หากมีเหตุภัยพิบัติรุนแรงคาบเกี่ยวกันในหลายพื้นที่ลุ่มน้ำ (เช่นน้ำท่วมปี 2554) ตรงนี้ถือเป็นการบริหารจัดการน้ำในภาวะไม่ปกติ จำเป็นจะต้องมีคณะกรรมการน้ำระดับชาติขึ้นมามีอำนาจควบคุมแทน เพื่อให้การรับมือภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันความขัดแย้งกันเองระหว่างพื้นที่ อย่างไรก็ตามผู้ที่จะเป็นคณะกรรมการน้ำระดับชาติ ควรมาจากผู้ที่ทำงานอยู่ในคณะกรรมการลุ่มน้ำระดับพื้นที่ เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์อย่างแท้จริงและสามารถประสานงานกันได้
“กฎหมายควรจะเขียนว่าเมื่อน้ำท่วมเกินเท่าไรต้องเปลี่ยนไปให้คณะกรรมการชุดใหญ่ระดับชาติมาดูแล แต่ในเวลาปกติคณะกรรมการชุดใหญ่ต้องฝังตัวอยู่ในคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อที่จะประสานงานกันได้ ไม่ใช่ที่ผ่านมาไม่รับรู้เลยว่าเขาบริหารงานกันอย่างไร พอน้ำท่วมขึ้นมา อ้าว!..ภาระตกมาอยู่ที่ฉันแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้เลยว่าแต่ละแห่งเขาบริหารกันอย่างไร การสร้างเครือข่ายสำคัญมาก การกระจายอำนาจต้องเชื่อมกันตั้งแต่บนลงล่าง เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เกิดวิกฤติ อำนาจมันต้องโอนถ่ายกลับไปที่ส่วนกลาง”
ดร.เดือนเด่นระบุ ทั้งนี้โครงสร้างคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ดี ควรประกอบด้วย “ตัวแทนผู้ใช้น้ำ” ทุกภาคส่วน ทั้งภาคที่อยู่อาศัย ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ-การท่องเที่ยว เพราะเป็นผู้เกี่ยวข้องมีส่วนได้เสียโดยตรง ไม่ใช่มีแต่ข้าราชการเพียงฝ่ายเดียว
ซึ่งสอดคล้องกับ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกรนักวิชาการเกียรติคุณ TDRI บอกเล่าถึงการทดลอง “ละลายพฤติกรรม” ด้วยการนำผู้ใช้น้ำตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำ มาทำกิจกรรมร่วมกัน ผ่านเกมจำลองสถานการณ์การจ่ายน้ำ สืบเนื่องจากเวลาที่กรมชลประทานจ่ายน้ำ ผู้ใช้น้ำที่อยู่ต้นน้ำมักจะสูบน้ำไปใช้จนหมด ไม่เหลือไปถึงผู้ใช้น้ำที่อยู่ปลายน้ำ ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นประจำ แต่หลังจากนำผู้ใช้น้ำมาพบกัน มีการเจรจากัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ความเข้าอกเข้าใจกัน” ตามมาด้วยการควบคุมดูแลกันเอง ปัญหาความขัดแย้งว่าด้วยการแย่งน้ำก็ค่อยๆ หายไป
“เราทดลองให้คนต้นน้ำไปอยู่ปลายน้ำ เพื่อให้เขาเข้าใจเรื่องนี้ ผลการทดลองคือเขาจัดสรรน้ำกันเป็นธรรมมากขึ้น เขาเฝ้าระวังหลังจากตกลงกันว่าจะปล่อยน้ำขนาดนี้เขาจะตรวจสอบกันไม่ให้มีใครขโมยน้ำ แต่ถ้าเป็นระบบเดิมที่กรมชลประทานปล่อยน้ำมาแล้วก็สูบน้ำ เขาจะขโมยน้ำกัน แต่พอเขาเริ่มรวมกลุ่มและเข้าใจกัน ได้เจรจาได้คุยกันผลคือปริมาณน้ำที่ไหลจากต้นน้ำไปท้ายน้ำ มันมากกว่าระบบเดิมที่กรมชลประทานทำเอง อันนี้ก็มีการทดลองในต่างประเทศ ซึ่งของจริงอาจจะไม่เหมือนการทดลอง แต่อย่างน้อยที่สุดมันได้ให้ภาพว่าการกระจายอำนาจในยามปกติ
แล้วผู้ใช้น้ำเขารู้สถานการณ์ เขามีประสบการณ์ของเขาแล้วเขามีข้อมูลในการจัดการ ประโยชน์อีกอัน คือพอเขาจัดการกันเองแล้วเขาเกิดการหวงน้ำ อันนี้ของจริงครับไม่ใช่การทดลอง ในบางพื้นที่ที่เขาบริหารจัดการน้ำกันเอง เผอิญวันนั้นฝนตก กลุ่มผู้ใช้น้ำรีบโทรศัพท์ไปบอกกรมชลประทานให้ปิดประตูน้ำ บอกไม่ต้องปล่อยน้ำมาแล้ว เก็บน้ำไว้ในอ่างไว้ใช้วันหลัง แล้วพอหน้าแล้ง เขาตกลงกันได้อีกว่าฤดูนี้จะไม่ปลูก จะเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูต่อไป”
ดร.นิพนธ์ระบุ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการขยายความร่วมมือออกไปเป็นระดับจังหวัด และนำภาคส่วนอื่นๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือภาคเอกชนที่ผลิตน้ำประปามาร่วมเจรจากัน บนเป้าหมายที่ว่าหากทุกกลุ่มเข้าใจกัน ย่อมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องน้ำและเรื่องความขัดแย้งระหว่างชุมชนด้วย
“เวลานี้เขาขยายกลุ่มพวกนี้จากระดับหมู่บ้านมาเป็นระดับจังหวัด แล้วก็เอากลุ่มโรงงาน กลุ่มผู้ใช้น้ำประปา การประปาส่วนภูมิภาค หรือว่าเอกชนที่ผลิตน้ำประปา พวกนี้เอามารวมกลุ่มกันแล้วก็คุยกัน แล้วก็เริ่มรู้จักกันพอเริ่มเข้าอกเข้าใจกันและมีข้อมูล เขาก็จะเริ่มตกลงกันได้” นักวิชาการจาก TDRI รายนี้ ฝากทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี