“คุณเคยประสบปัญหานี้ไหม?..ลูกไม่กล้าแสดงออก พูดไม่รู้เรื่อง ช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ได้..เรามีวิธีแก้!”
เชื่อเหลือเกินว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานตัวน้อยๆ ประสบปัญหาทำนองนี้กันแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กนิ่งเงียบไม่พูดไม่จา สอนอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ดูแลตัวเองง่ายๆ อย่างล้างหน้าแปรงฟัน เก็บที่นอนหมอนมุ้งก็ไม่ได้ ทว่านี่ไม่ใช่โฆษณาขายยาหรือเครื่องมือวิเศษใดๆ แต่เป็นการนำพาทุกท่านไปรู้จักกับ“วิธีแก้ไข” ที่ต้องบอกว่าน่าทึ่ง
เพราะไม่ต้อง “ลงทุน” มาก..เพียงแต่ขอแค่ “เข้าใจ” และ “ลงมือทำ”อย่างจริงจัง!!!
หากยังจำกันได้ “สกู๊ปหน้า 5” เคยนำเสนอเกี่ยวกับหลักสูตร “ไฮ สโคป” (Hi Scope) และเฟซบุ๊คเพจ “ไรซ์ ไทยแลนด์” (RIECE Thailand) ซึ่งเผยแพร่โดย ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) เมื่อ 25 ต.ค. 2558โดยมีเคล็ดสำคัญคือ “วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน” ซึ่งหลังจากทดลองกับศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน (ปฐมวัย-อนุบาล อายุ 2-5 ปี) ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์ จำนวนหลายสิบแห่ง
พบว่าสามารถแก้ปัญหาน่าปวดหัวข้างต้นอย่าง “ได้ผล”!!!
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น..8 ก.พ. 2559 เราติดตามคณะของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งภาพที่ได้เห็นต้องบอกว่า “ไม่น่าเชื่อ” ไล่ตั้งแต่เด็กที่ค้นหาหนังสือนิทานจากตู้ออกมาอ่าน เมื่อดูแล้วเล่มไหนไม่ใช่ที่กำลังหาก็ค่อยๆ สอดเก็บเข้าไปอย่างมีระเบียบไม่วางระเกะระกะ,
เด็กที่เล่นของเล่นประเภทบล็อกตัวต่อ เมื่อเลิกเล่นแล้วเด็กนำตัวต่อที่ต่อไว้ทั้งหมดค่อยๆ แกะออกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนจะเก็บลงตะกร้า, เมื่อครูพี่เลี้ยงสอนเด็กเรื่องต่างๆ เด็กๆ ก็พากัน “ยกมือตอบคำถาม” ด้วยสีหน้าท่าทางสนุกสนาน และช่วงบ่ายหลังจากตื่นนอนกลางวันแล้ว เด็กสามารถ “พับที่นอน-ม้วนเสื่อ” ที่ตนใช้นอน เก็บเข้าที่ได้เรียบร้อย ไม่ขยำกองๆ ไว้ ทั้งหมดนี้ต้องย้ำว่าเป็นเด็กวัย “2-5 ขวบ” เท่านั้น
ผู้ใหญ่บางคนถึงกับบอกว่า “เห็นแล้วอาย” เพราะจำได้ว่า..ตอนตัวเองอายุเท่านี้ยังทำไม่ได้ขนาดนี้!!!
รำไพ ไชยพาลี อดีตศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ร้อยเอ็ด เขต 1 ที่ปัจจุบันหันมาทำงานฝึกอบรมและให้คำแนะนำครูพี่เลี้ยงที่สนใจหลักสูตรไฮ สโคปอย่างเต็มตัว เธอเล่าว่า ในอดีตความเข้าใจของทั้งผู้นำท้องถิ่น ครูพี่เลี้ยง รวมถึงผู้ปกครอง มักมองว่าศูนย์เด็กเล็กมีหน้าที่ “รับฝากเลี้ยงเด็ก” ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองไปทำงานเท่านั้น วงจรชีวิตเด็กจึงมีแค่“กิน-นอน-เล่น-กลับบ้าน” ไปวันๆ หนึ่ง
กระทั่งเมื่อนายก อบต. ของทั้ง 2 ศูนย์ สนใจหลักสูตรไฮ สโคป ที่อาจารย์วีระชาติ นำไป “ขายไอเดีย” เพราะหลักสูตรนี้ใช้ได้ผลในสหรัฐอเมริกามาแล้ว มีงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ เจมส์ เฮ็คแมน (Prof. James Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2543 ทำการสำรวจเด็กชาวอเมริกันที่ผ่านหลักสูตรนี้เมื่อ 40 ปีก่อน แล้วพบว่าส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ก่อปัญหาให้สังคม จึง “ตกลง” ให้ใช้ศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ของตนเป็นโครงการนำร่อง
รำไพกล่าวว่า เด็กในศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก จำนวนไม่น้อยอยู่กับปู่ย่าตายายเนื่องจากพ่อแม่ไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ ในระยะแรกๆ ประสบกับอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะค่านิยมของผู้ใหญ่ไทยยังติดอยู่กับ 2 เรื่อง คือ 1.ต้องการให้เด็กอ่านออกเขียนได้เร็วๆ 2.ต้องการให้เด็กนิ่ง เงียบ เชื่อฟัง
“สิ่งที่เขาทำกับลูกก็คือสิ่งที่เขาต้องการ เขาไม่ได้คำนึงว่าเด็กวัยนี้ทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่เขาต้องการก็เช่นลูกเลี้ยงง่าย เชื่อฟัง กับอยากให้อ่านได้เขียนได้ เขาไม่คำนึงเลยว่าเด็กวัยนี้มีพัฒนาการยังไง บางคนอยากจะให้เด็กทำได้อย่างผู้ใหญ่ คือเขาไม่เข้าใจจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้” รำไพ ระบุ
เมื่อตกลงแล้วว่าจะใช้หลักสูตรไฮ สโคป อดีตศึกษานิเทศก์รายนี้ กล่าวต่อไปว่า ต้องจัดชุดออกเยี่ยมบ้านเด็กๆ ทุกเดือนเพื่อ “ปรับทัศนคติ” ทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครอง สอนให้อ่านหนังสือนิทานให้บุตรหลานฟัง รวมถึงจัดทำสมุดให้ผู้ปกครองเขียนบอกเล่าพัฒนาการของบุตรหลานว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ควบคู่กับสมุดการบ้านของเด็กๆ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ ครูพี่เลี้ยงต้องเข้าใจพัฒนาการเด็กปฐมวัย และมีความใจเย็น-อดทน ปล่อยให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่รีบร้อนบังคับ เช่นเดียวกับผู้ปกครองเด็ก ที่ต้องให้ความร่วมมือ ร่วมเล่น ร่วมเล่านิทานให้ลูกฟัง
“ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน เราเห็นชัดว่าเด็กมี 3 อย่าง คือรู้หน้าที่ มีวินัย รับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้คนไทยเราขาดมาก พัฒนาการอื่นๆ ก็ดีขึ้น ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม แล้วไฮ สโคป นี่ใช้งบไม่เยอะเลย อย่างของเล่นเด็กนี่เราไม่ได้ให้เพิ่ม เป็นของที่ อบต. มีอยู่แล้วทั้งนั้น เราให้แต่หนังสือนิทานเพราะจะปลูกฝังเรื่องรักการอ่าน” รำไพ กล่าว
นับจากวันเปิดเทอมแรก เดือน พ.ค. 2558 ซึ่งเริ่มทดลองโครงการไฮ สโคป วันนี้เสียงสะท้อนจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “หายห่วง” เช่นที่ นุภาภรณ์ มูลเสนา คุณแม่ของลูกสาววัย 4 ขวบ เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้เป็นห่วงว่าลูกของเธอจะมีปัญหาอะไรหรือไม่? เพราะเป็นเด็กไม่ค่อยพูด ชอบอยู่นิ่งๆ เงียบๆ แต่เมื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.หนองตอกแป้น นำหลักสูตรไฮ สโคป มาใช้ พบว่าลูกสาวของเธอกลายเป็นเด็กพูดเก่ง กล้าแสดงออก เห็นได้จากในแต่ละวัน เด็กน้อยจะมีเรื่องจากที่เรียนในศูนย์เด็กเล็กมาเล่าให้ฟังเป็นประจำ
“แต่ก่อนเด็กคนนี้แกคุยไม่เก่ง เข้ากับเพื่อนก็ไม่ได้ แต่เข้ามาศูนย์นี้ประมาณ 7-8 เดือน เห็นชัดเลย เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย ตอนนี้คุยกับเพื่อนเก่ง ชอบอ่านนิทาน พูดโต้ตอบกับผู้ปกครองได้ เมื่อก่อนถามอะไรก็ไม่ตอบ แต่ตอนนี้กล้าพูดกล้าแสดงออก ชอบร้องเพลง คือต่างไปจากเดิมมาก แต่ก่อนนี่เคยคิดว่าแกจะทำอะไรไม่เป็นแล้ว” นุภาภรณ์ เล่าให้ฟังถึงพัฒนาการของลูกสาว
ไม่ต่างจากพ่อแม่ผู้ปกครองของบุตรหลานอีกหลายรายในศูนย์เด็กเล็กทั้ง 2 แห่ง พวกเขาต่างพากันเล่าถึงพัฒนาการของบุตรหลานด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่“มีความสุข” บางคนบอกว่าลูกของตนเดี๋ยวนี้อาบน้ำ แปรงฟัน ช่วยเหลือตนเองได้ ชอบอ่านชอบวาดชอบเขียน ขณะที่บางคนบอกว่าบุตรหลานนำความรู้จากศูนย์เด็กเล็กกลับมาสอนพ่อแม่อย่างฉะฉาน เช่น บอกให้แม่อย่าเผาขยะที่เป็นอันตราย หรือเตือนพ่อที่สูบบุหรี่ว่าบุหรี่ทำลายสุขภาพ
ทั้งหมดอยู่บนแนวคิดที่ว่า..เมื่อเด็ก “ดี-มีความสุข” แล้วสิ่งที่เรียกว่า “เก่ง” จะตามมาเอง!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี