“คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด”
หนึ่งในประโยคฮิตที่เผยแพร่อย่างรวดเร็วเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในความหมายประชดประชัน เป็นมุขตลกกับความ “ขี้เกียจอ่าน” ของคนทั้งในสังคมออนไลน์และสังคมจริง จนมีวลีฮิต “ขอแค่ 3 บรรทัด”...
ด้วยความที่ขี้เกียจอ่านนี้ ทำให้เกิดความกังวลในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้เพื่อ “ประเทืองปัญญา” ของคนไทยที่น้อยลงไป แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อมูลใหม่…
ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักอุทยานการเรียนรู้ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกันเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทย ที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน พบว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 66 นาทีต่อวัน จากปี 2556 ที่อ่านเพียง 37 นาทีต่อวัน
ผลสำรวจทำให้วาทกรรม “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” ถูกหักล้างลงไป แต่ใช่จะ “วางใจ” ได้ตัวเลขที่สวยหรูนี้อาจ “วูบ” ลงได้ เพราะนโยบายส่งเสริมการอ่านของไทยคล้ายจะ “ไม่ตรงจุด” และมี “ตัวเลขอันตราย” ที่บ่งบอกว่ามีคนไทยอีกมากที่ “อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” ...
“ปัทมา อมรสิริสมบูรณ์” ผู้อำนวยการสำนักสถิติสังคม กล่าวว่า ปี 2558 เป็นปีแรกที่ขยายคำนิยามการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของคนไทยครอบคุลมถึงการอ่านข้อความในสื่อออนไลน์ ยกเว้นการอ่านข้อความเพื่อการสนทนาหรือติดต่อสื่อสาร จากเดิมที่สำรวจเฉพาะการอ่านหนังสือ และบทความทุกประเภทที่เป็นรูปเล่มเท่านั้น
ที่น่าสนใจ คือ ประเภทหนังสือที่อ่านมากที่สุด คือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 67.3 รองลงมา คือ ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ SMS และอี-เมล์ ร้อยละ 51.6 และแม้ “สื่อสังคมออนไลน์” จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ผู้อ่านยังนิยมอ่าน “หนังสือเล่ม” มากที่สุดร้อยละ 96.1 รองลงมา คือ อ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ร้อยละ 45.5 และอ่านจากเว็บไซต์ ร้อยละ 17.5
อย่างไรก็ตาม มีประชากรวัย 6 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.3 หรือ 13.9 ล้านคน ที่ “ไม่อ่านหนังสือ” เพราะชอบดูโทรทัศน์มากกว่า ร้อยละ 41.9 รองลงมา คือ ไม่ชอบอ่านหรือไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 24 และอ่านไม่ออก ร้อยละ 20.6 เมื่อแยกตามช่วงอายุ พบว่า เด็กอายุ 6-14 ปีไม่อ่าน เพราะชอบดูโทรทัศน์ ร้อยละ 36.7 รองลงมา คืออ่านไม่ออก ร้อยละ 34.7, วัยเยาวชน อายุ 15-24 ปีและวัยทำงาน อายุ 25-29 ปี ไม่อ่านเพราะชอบดูโทรทัศน์ ร้อยละ 40 และวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่อ่านเพราะสายตาไม่ดี ร้อยละ 43
ที่น่าตกใจ คือ ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปที่“อ่านออก-เขียนได้” ลดลงจากปี 2556 เดิมอยู่ที่ร้อยละ 94.1 เป็นร้อยละ 93
“การไม่อ่านหนังสือของเด็กวัย 6-14 ปี เป็นข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะมีสาเหตุจากอ่านไม่ออกถึงร้อยละ 34.7 เป็นตัวเลขอันตราย เพราะสะท้อนถึงคุณภาพการศึกษา ขณะที่ผู้ใหญ่บางส่วนไม่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง เพราะคิดว่าเด็กยังเล็กเกินไป หรือไม่มีเวลาอ่านให้ฟัง ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะอ่านจากหนังสือเล่ม หรือออนไลน์ ล้วนเป็นแหล่งความรู้ หากเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วันนี้ อนาคตของชาติจะมีคุณภาพดีขึ้น” ปัทมา กล่าว
ด้าน “สุดใจ พรหมเกิด” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การส่งเสริมการอ่านที่ได้ผลในเด็กเล็ก คือ “การอ่านแบบมีความสุข” สร้างความรื่นรมย์ให้แก่เด็ก ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา และทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็กเล็ก ที่ผ่านมาองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับส่งเสริมการอ่านได้ดำเนินการมาอย่างยาวนาน แต่ “ไม่ตรงจุด” เพราะความจริงการรณรงค์รักการอ่านต้องให้เด็กอ่านอย่างมีความสุข และแยกการอ่านหนังสือเรียนออกไปด้วย
ขณะที่ผู้จัดพิมพ์หนังสืออย่าง “จรัญ หอมเทียนทอง” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) ระบุว่า แม้จากสถิติจะพบว่าคนไทยอ่านเพิ่มขึ้น แต่การ “อ่านหนังสือเล่ม” ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันวัยรุ่นไทยหันไปอ่านผ่านแท็บเลต หรือ “สมาร์ทโฟน” มากขึ้น โดยสมาคมฯพบว่าพฤติกรรมการซื้อหนังสือเล่มของคนไทยอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 4 เล่ม กลุ่มที่ซื้อมากที่สุดจะมีอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยซื้อปีละ 9 เล่ม ในจำนวนนี้แบ่งเป็น หนังสือการ์ตูนภาพวาดประกอบ และคู่มือเตรียมสอบ รองลงมา คือ กลุ่มอายุระหว่าง 21-30 ปีซื้อเฉลี่ยปีละ 6 เล่ม และลดจำนวนลงเรื่อยๆ ในกลุ่มที่มีอายุมากขึ้น
เขายังสะท้อนภาพนโยบายส่งเสริม “รักการอ่าน” ที่มีผลต่อแวดวงหนังสือ ว่า การพยายามส่งเสริมการรักการอ่านของรัฐบาลชุดต่างๆ เห็นมีการพูดถึงกันมาก แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นเป็นผลรูปธรรม ที่ผ่านมา “ดีแต่พูด” พอจะส่งเสริมก็ทำอะไร...ประกวดหนังสือ??? ไม่เกิดประโยชน์ เรื่องการส่งเสริมการอ่านเราเห็นเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จจากการ “สร้างชาติ” จากการอ่านได้ ก็อยากทำอย่างเขา อ้างว่ามีโครงการนั้นๆ แต่ไม่ได้ทำจริงจัง ทำให้การส่งเสริมเรื่องนี้ยังคง “หลงทาง”
“คนไทยรุ่นใหม่” ยังไม่ทิ้งการอ่านหนังสือเสียทีเดียว จึงเป็น “โอกาส” ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันส่งเสริมการอ่านหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เพื่อให้อัตราการอ่านและการใช้เวลาในการอ่านของคนไทยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะ “การอ่าน” เป็นกระบวนการ “สะสมทุนมนุษย์” ที่สำคัญ โดยเฉพาะใน “ยุคสังคมอุดมปัญญา”
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี