“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”
นี่คือบทบัญญัติใน มาตรา 67 (วรรค 2) ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ให้มีองค์กรอิสระสำหรับทำหน้าที่ศึกษาวิจัยโครงการพัฒนาต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ว่ามีความเหมาะสมที่จะดำเนินการหรือไม่ หรือถ้าต้องดำเนินการ ควรทำอย่างไรจึงจะลดผลกระทบให้น้อยที่สุด ทำให้เกิดองค์กรหนึ่งที่เรียกว่า องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2554 ที่ผ่านมา
ทว่าแม้วันนี้ กอสส. จะมีสถานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่มีพระราชบัญญัติ อันมีฐานะเป็นกฎหมายลูกออกมาเพื่อรับรองโครงสร้าง รวมถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กร ทั้งนี้ปัจจุบัน กอสส. ยังอยู่ในกำกับดูแลของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการก็ยังมีสถานะเป็นเพียงกรรมการชุดเฉพาะกาล รวมถึงยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานเป็นของตนเอง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ได้เต็มที่เหมือนองค์กรอิสระอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรอง
วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรับฟังความเห็นของหลายฝ่าย ว่าองค์กรดังกล่าวมีหน้าที่อะไร และมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร
เมื่อประชาชนลุกขึ้นปกป้องสิทธิ์
“เป็นความยากของผู้บริหารประเทศทุกยุคทุกสมัย ในการพัฒนาประเทศ กับการดูแลประชาชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บนความยากก็ก่อให้เกิดหลักเกณฑ์วิธีคิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 40 และมาเพิ่มเติมในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 ก็เป็นการเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วม ถ้าพูดแบบชาวบ้านเลยคือต้องมีเหตุมีผล ทำยังไงจะให้ 2 อย่างนี้คู่กันไปให้ได้ และต้องเดินคู่กันภายใต้การยอมรับของชุมชนด้วย”
เป็นทรรศนะของ นายสาธิต ปิตุเตชะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง (พรรคประชาธิปัตย์) กล่าวถึงที่มาที่ไปของแนวคิดการมีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมมักจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนใจค่อนข้างน้อย
คุณสาธิต ยกตัวอย่าง “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” ที่ตั้งอยู่ ณ จ.ระยอง พื้นที่ของตน ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีกับคนไทยทั้งประเทศ ในแง่ของความล้มเหลวด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ ถึงขนาดที่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว รวมตัวกันไปฟ้องศาลปกครองมาแล้ว ซึ่งแม้ทางหนึ่งจะเป็นแง่บวกในด้านการลุกขึ้นมาทวงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน แต่อีกทางหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน
ขณะที่ นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการในคณะทำงานรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวถึงกระแสความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน พบว่าระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนของตนไปทำหน้าที่ในรัฐสภาแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้เต็มที่ หรือที่ร้ายกว่านั้นคือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้ต้องมีการวางระบบใหม่ โดยเน้นการสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่ง กอสส. ก็เป็นหน่วยงานที่เกิดมาจากเจตนารมณ์ดังกล่าว
“ต้องย้อนกลับไปมองที่รัฐธรรมนูญ 40 ก่อนว่าจะด้วย 50 คือ 40 นี่มันเรื่องสิทธิชุมชน ที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร คือวางฐานไว้ แต่รูปธรรมมันยังไม่เกิด ต้องไปรอกฎหมายบัญญัติก็ยังไม่มีใครบัญญัติ พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 50 เลยกลับมาที่การวางหลักการ มีพูดถึงสิทธิชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ในมาตรา 66-67 ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าเดิม
จากเดิมที่พูดถึงแต่ท้องถิ่น แต่อันนี้หมายถึงชุมชนใดก็ได้ ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวข้อง เพราะมองในความเป็นจริง คือไม่ต้องไปมองถึงความเก่าแก่ของชุมชน แต่มองถึงความคงอยู่ของชุมชน แล้วชุมชนเขาได้รับผลกระทบแบบไหน? ก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการในพื้นที่” คุณคมสัน เล่าย้อนถึงกระแสความต้องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม หากแต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีกลไกใดรองรับอย่างเป็นทางการ
ทุกฝ่ายต้องการ “ความชัดเจน”
จากที่กล่าวมาข้างต้น ในแง่กระแสตื่นตัวของภาคประชาชน ที่ต้องการปกป้องสิทธิชุมชนของตนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้ต้องมีองค์กรอิสระที่เป็นคนกลาง เชื่อมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าด้วยกัน โดย นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่าที่ผ่านมาสิ่งที่ภาคเอกชนกังวล ไม่ใช่มาตรฐานที่เข้มงวด แต่เป็นกฏหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ยากต่อการวางแผนลงทุน
“ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาประเทศ เราคงไม่อาจกลับไปอยู่แบบเดิมๆ นั่งเกวียนจุดเทียนไขได้ เราต้องพัฒนาประเทศ แต่มันจะไปกระทบกับอะไร? ต้นทุนคืออะไร? ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร? หลายท่านจะมองว่าผู้ประกอบการไม่ชอบกฎหมายที่เข้มงวด ผมขอเรียนว่าผู้ประกอบการไม่เคยกลัวกฏหมายที่เข้มงวด ที่เข้มแข็ง
เพราะจริงๆ แล้วเราต้องการกฎหมายที่ชัดเจน เมื่อเราทราบว่ากฏเกณฑ์เป็นอย่างนี้ ถ้าเราพิจารณา เราคำนวณดูแล้วว่ามันแพงเกินไป เราไม่มีกำลัง เราก็ไม่ทำธุรกิจนั้น หรือถ้าประเทศไทยมีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานสากล แต่ที่อื่นเขารับได้ คนก็เขาก็ย้ายไปทำธุรกิจที่ประเทศอื่น ฉะนั้นกฎหมายที่เข้มงวดเราไม่กลัว ที่กลัวคือความไม่ชัดเจนไม่แน่นอน ว่าจะต้องทำหรือไม่ต้องทำ” ตัวแทนภาคเอกชน กล่าว
ขณะที่คุณสาธิต กล่าวว่าองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ควรจะมีบทบาทเป็นคนกลาง ในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนในพื้นที่แบกรับผลกระทบ และประชาชนทั่วไปที่อยู่ภายนอกชุมชนด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง มากกว่าจะให้กลุ่มต่างๆ เผชิญหน้าในลักษณะต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกัน
“ถามว่าอยากให้ กอสส. เป็นอะไร..ผมอยากให้ กอสส. เป็นองค์กรที่ไม่ไปเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และไม่เป็นองค์กรที่ยิ่งไปสร้างความไม่ไว้วางใจให้ประชาชน ในทางกลับกัน องค์กรนี้ต้องสร้างเหตุและผล ว่าแทนที่ชุมชนจะไปเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ แต่ชุมชนจะต้องบอกว่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง แท้จริงมันคืออะไร และโรงงานประเภทไหนที่ต้องลงทุน (ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม) ให้มากกว่าที่เป็นอยู่
ผมดูร่างที่เขาเสนอกฎหมาย เขาเขียนไว้ชัดเจนครับว่าองค์กรนี้จะต้องไม่ใช่องค์กรที่มีลักษณะเป็นการต่อรองผลประโยชน์ ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ซึ่งตอนหลังก็ตัดข้อความนี้ไป แต่ท้ายที่สุดมันก็สะท้อนว่า องค์กรนี้จะต้องมีความชัดเจน และผมก็สนับสนุนให้องค์กรนี้สร้างเหตุและผลให้ชุมชน ให้ชุมชนที่ไม่มีความรู้เลย ได้รู้เรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพราะ ในพื้นที่ขณะนี้ กลายเป็นว่าผู้ประกอบการมีวิธีการที่จะทำให้ชุมชนยอมรับการประกอบการ โดยใช้วิธีแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ มากกว่าที่จะให้ความรู้กับชุมชนเพื่อตรวจสอบว่า โรงงานจะต้องทำอะไรบ้าง ที่จะไม่ทำให้คุณภาพชิวิตของพวกเขาตกต่ำลง” สส.ปชป. จาก จ.ระยอง กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับหน้าที่ของ กอสส. มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการดังนี้ 1.ให้ความเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว
2.ส่งเสริมและสนับสนุนประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียและองค์การต่างๆ ที่มีความเหมาะสมและเกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในกระบวนการให้ความเห็นต่อองค์การอิสระต่อโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพดังกล่าว 3.ส่งเสริมให้มีการศึกษาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่จำเป็นกับการให้ความเห็นขององค์การอิสระ
ที่ผ่านมา เคยมีร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ.... ที่ผ่านการรับหลักการจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว แต่เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 20 ก.ย.2554 ไม่ยืนยันร่างฯ ดังกล่าว ทำให้ร่างฯ ฉบับนี้ตกไป และปัจจุบัน (พ.ศ.2556) ได้มีการยกร่างฯ ใหม่โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แต่จะสำเร็จเป็นรูปร่าง ดังเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เมื่อใดนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี