คำโบราณที่เราได้ยินกันมานานนมว่า “ยุงร้ายกว่าเสือ”ยังคงหยิบยกออกมาใช้ได้อย่างไม่มีตกยุคตกสมัย เพราะไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี เราก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาจาก “ยุง” อย่างไม่จบสิ้น
อย่างที่ทราบกันดี ว่า “โรคไข้เลือดออก” เป็นภัยร้ายใกล้ตัวเราอย่างมาก ร้ายแรงขนาดพรากชีวิตคนได้ง่ายๆ จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีจะมีจำนวนคนไทยนับหมื่นราย กลายเป็นผู้ป่วยจากการโดนยุงกัด จนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล และที่โชคร้ายกว่านั้นคือผู้ที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออก
จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ทั่วประเทศมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในรอบ 6 เดือนตั้งแต่ 1 ม.ค.-2 ก.ค. 2556 รวมทั้งสิ้น 59,318 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย 92.57 คนต่อประชากร 1 แสนคน เสียชีวิต 68 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.11 ของผู้ป่วยทั้งหมด
ที่น่าตกใจและเตือนว่าเราจะนิ่งเฉยต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกไม่ได้เลย คือสถิติที่ฟ้องว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในปี 2556 มีจำนวนสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2555 ร้อยละ 219 หรือประมาณ 3 เท่าตัว โดยกลุ่มอายุที่ป่วยและเสียชีวิตสูงสุดคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน
ดังนั้น นอกจากจะต้องดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคไข้เลือดออกแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การดำเนินมาตรการป้องกันไม่ให้โรคร้ายได้มีโอกาสคุกคามคนไทยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แน่นอนว่าเจ้าภาพของงานดังกล่าวนี้ คือกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้เลือดของในประเทศไทยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก คือในช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่จะพบผู้ป่วยสูงที่สุดกว่าทุกๆ เดือน และจะมียุงลายเกิดขึ้นจำนวนมากเนื่องจากมีฝนตก และมีแหล่งน้ำเอื้อต่อการวางไข่ของยุงลายเป็นอย่างมาก
ส่วนเรื่องการควบคุมแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดนั้น รมว.สาธารณสุข ระบุว่า วิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือ การใช้ 2 มาตรการควบคู่กัน ได้แก่ มาตรการที่ 1.การดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดจุดตรวจคัดกรอง รักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นการเฉพาะในโรงพยาบาลทุกแห่ง และ 2.การลดจำนวนยุงลาย ซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ซึ่งยืนยันว่า จะได้ผลดีมากหากทำจริงจังและต่อเนื่องทุกๆ 7 วัน
โดยอาการของไข้เลือดออกที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ มีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดท้อง อาเจียน ซึมลง ซึ่งหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการใดอาการหนึ่งให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และให้ร่วมกันเฝ้าระวังดูแลคนในบ้านที่มีไข้ในช่วงวิกฤติ ตลอดจนร่วมกันลุกขึ้นมากำจัดลูกน้ำ ด้วยมาตรการ 5ป. 1ข.
สำหรับมาตรการ “5 ป. 1 ข. ได้แก่ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปฏิบัติ และขัดล้างไข่ยุงลาย โดยมีวิธีทำได้ง่ายๆ คือ ป.1 ปิด ภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่, ป.2 เปลี่ยน น้ำในแจกันถังเก็บน้ำ ทุก 7 วันที่ตรงกันทั้งชุมชน, ป.3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร, ป.4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่ให้ยุงลายเกาะพัก, ป.5 ปฏิบัติ เป็นประจำจนเป็นนิสัย ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอตลอดไป ส่วน 1 ข. คือขัดล้างไข่ยุงลาย ที่อาจติดอยู่กับภายในภาชนะต่างๆ ที่ใช้ใส่น้ำ
ทั้งนี้ การรณรงค์ดังกล่าวจะให้ อสม. ภาคีเครือข่าย เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียน และประชาชนร่วมมือกันดำเนินมาตรการ 5ป. 1ข. พร้อมกันทั่วประเทศ
คุณยายทองดี เปี่ยมสวัสดิ์ สมาชิก อสม. พระสมุทรเจดีย์จังหวัดสมุทรปราการ วัย 71 ปี เดินทางมาพร้อมคณะ อสม. กล่าวอย่างมีความสุขว่า เต็มใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ กำจัดยุงลายเพื่อป้องกันโรค ไข้เลือดออก เพราะแม้ว่าคนในบ้านจะไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นไข้เลือดออก แต่บ้านใกล้เรือนเคียง ต่างป่วยด้วยไข้เลือดออกกันเยอะ ซึ่งตนและเพื่อนบ้าน ที่มีองค์ความรู้เรื่องการป้องกัน และกำจัดยุงลาย จะทำหน้าที่บอกต่อ ให้กับชุมชนต่อไป
การให้ความรู้ต่อประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างยิ่ง เพราะจะลดอัตราผู้ป่วย และการเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากทุกคนตระหนักถึงปัญหา และลุกขึ้นมาช่วยกันทำคนละไม้คนละมือปัญหาใหญ่ๆ ที่คนไทยเผชิญกันมาทุกปีอย่งโรคไข้เลือดออกก็จะถูกปัดเป่าจนทุเลาเบาบางลงได้อย่างแน่นอน
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี