เป็นเรื่องปกติและเป็นหน้าที่ที่รัฐบาล ในฐานะผู้ปกครองที่ได้รับการเลือกตั้งของประชาชน จะต้องทำการพัฒนาเพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้า แน่นอนว่าการพัฒนาเบื้องต้นคงหนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐาน “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” ซึ่งคำว่า “ทางดี” นี้ หมายถึงมีระบบคมนาคมขนส่งที่รวดเร็ว ปลอดภัย และมีราคาที่เป็นธรรม
ล่าสุดกับอภิมหาโครงการยักษ์ใหญ่ “รถไฟความเร็วสูง” ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะต้องกู้เงินสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดค่าบริการเบื้องต้นอยู่ที่กิโลเมตรละ 2.50 บาท
ทั้งนี้ นอกจากในแง่ความคุ้มค่าแล้ว ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเลือกพื้นที่ของภาครัฐ เพราะไปกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่มาเป็นเวลายาวนาน!
เมื่อช่วงที่ผ่านมา “ทีมสกู๊ปแนวหน้า” เดินทางลงพื้นที่บ้านท่ามะนาว อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ภายหลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าพวกเขากำลังจะถูกไล่ที่ จากกรณีที่ภาครัฐกำหนดจะก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย บนที่ดิน 500 ไร่ แม้ชาวบ้านจะอยู่ในฐานะผู้เช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง แต่ก็เช่ามาเป็นเวลานานหลายสิบปี โดยพื้นที่ราว 500 ไร่ดังกล่าว มีผู้อยู่อาศัยกว่า 600 หลังคาเรือน
“600 หลังคาเรือน เป็นหมู่ 10 ต.หนองสาหร่าย กับหมู่ 14 ต. จันทึก รวมกัน อย่างผมนี่อยู่มาตั้งแต่ปี 2511 โน่น มาแรกๆ แถวนี้ยังเป็นป่าอยู่เลย ถามว่าแถวนี้ทำอาชีพอะไรกัน ส่วนใหญ่ ก็ทำเกษตร ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ชาวบ้านทั่วไปก็เท่านี้แหละครับ หาเช้ากินค่ำ ถ้าเวนคืนตรงนี้ ต่อไปจะไม่มีที่ทำกินแล้ว”
ชายชราวัย 74 ปีรายหนึ่ง ชี้ให้ทีมสกู๊ปแนวหน้า ดูแนวเขตพื้นที่ดังกล่าว ที่ส่วนใหญ่แปรสภาพจากผืนดินรกร้าง เป็นพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนอย่างดี ถูกปลูกสร้างไว้เพื่ออยู่อาศัยอย่างถาวร เรียกว่าแทบจะไม่มีพื้นที่ว่างเปล่าแต่อย่างใด
“สิ่งที่ต้องการร้องขอ คือ อยากให้ไปสร้างในพื้นที่ ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนไปไม่กี่กิโลเมตร และยัง เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ถ้าหากไปเอาที่นั้นชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน” เป็นเสียงจาก นายบุญส่ง มอญพม่า ชายวัย 69 ปี เกษตรกรอีกรายหนึ่งที่อยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2496 เรียกว่าเป็นรุ่นบุกเบิกเลยก็ว่าได้
ลุงบุญส่งเล่าถึงความกังวลว่า ตนได้กู้เงินมา 2 ล้านบาท เพื่อสร้างบ้านและลงหลักปักฐานที่นี่ แต่เมื่อมีกรณีการเวนที่คืนเพื่อต้องการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง ทำให้ตนต้องย้ายออกจากพื้นที่ คงจะต้องลำบาก เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไร รวมถึงภาระหนี้สินดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ที่ตนและชาวบ้านได้ทราบถึงข่าวนี้เพราะเห็นจาก “สื่อ” ไม่ใช่เพราะมีตัวแทนจากภาครัฐลงมาพูดกับชาวบ้าน โดยวันที่ 27 พ.ค.2556 ได้ทราบข่าวว่าต้องการพื้นที่ในการสร้างสถานีเป็นจำนวน 100 ไร่ แต่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน มีเจ้าหน้าที่จากกรมธนารักษ์ และกระทรวงการคลัง มาทำเรื่องวัดพื้นที่ เป็นจำนวน 200-300 ไร่
กลายเป็นว่า ไม่เพียงสร้างสถานีรถไฟเท่านั้น แต่ยังมีโครงการสร้างโรงแรมหรู อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า คลังสินค้า เพิ่มอีก 500 ไร่ รวมราว 700-800 ไร่ เท่ากับว่า..ปัจจุบันพื้นที่ที่ต้องการสร้างสถานีกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่แน่ใจว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่?
เช่นเดียวกับ นางสีนวล อุ่นคำ อายุ 59 ปี อาชีพเกษตรกร กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่การเกษตรที่เช่าทั้งสิ้น 40 ไร่ และรู้สึกกังวล นอนไม่หลับ เนื่องจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่อยากย้ายไปไหน เพราะรู้สึกเสียดาย ตนอาศัยอยู่ที่บ้านท่ามะนาวแห่งนี้มานานถึง 46 ปี ทำให้เกิดความผูกพันกับที่แห่งนี้ สิ่งที่อยากร้องขอคือ ต้องการความชัดเจนจากหน่วยงานรัฐ เกี่ยวกับการเวนที่คืนว่าจะแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านนี้อย่างไร
นอกจากนี้ ชาวบ้านอีกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับทีมสกู๊ปแนวหน้า เพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ไม่เคยได้ทราบเรื่อง หรือได้เข้าไปมีส่วนร่วมหารือและแสดงความคิดเห็นกับภาครัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้แม้มีการทำประชาพิจารณ์จริง แต่เป็นการทำประชาพิจารณ์ที่ใช้คนจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ในตัว อ.ปากช่อง จึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม..แม้จะเป็นการคัดค้าน แต่ก็ไม่ได้เป็นการค้านแบบหัวชนฝา ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนหนึ่ง พาทีมสกู๊ปแนวหน้า ไปดูพื้นที่ที่ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวตลอดสองข้างทาง ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่รกร้างแทบจะไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ปรากฏ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งในพื้นที่เดียวกัน เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ กองทัพบก เช่าพื้นที่ต่อจากกรมธนารักษ์ อีกทอดหนึ่งเช่นเดียวกับชาวบ้าน รวมแล้วมากกว่าหลายพันไร่
“ที่ดินตรงนี้กับที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัย เห็นไหมว่าต่างกัน พื้นที่ดังกล่าวอาจมีผู้บุกรุกบ้าง แต่ก็เป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่งมา ไม่ได้เป็นผู้ที่อาศัยมานาน ถ้าต้องเยียวยาก็คงไม่มากเท่าที่ที่เราอยู่ และพื้นที่ใหม่ห่างจากจุดเดิมไม่ถึง 10 กิโลเมตร ถ้าสร้างตรงนั้นเราไม่คัดค้านเพราะไม่เดือดร้อน ดีเสียอีก ไม่แน่ว่าเราอาจทำอาชีพเสริม นำรถตู้มาวิ่งรับคนจากสถานีรถไฟกับตัวอ.ปากช่อง อยากฝากถึงกองทัพนะครับ ท่านมีที่ดินเป็นพันๆ ไร่ แบ่งมาทำสถานีรถไฟสัก 500 ไร่ ท่านคงไม่เป็นไรหรอกครับ ถือว่าช่วยประชาชน ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องย้ายที่อยู่”
ชาวบ้านกลุ่มนี้กล่าวทิ้งท้าย โดยกล่าวว่า ตอนนี้จะยังไม่เคลื่อนไหวใดๆ จนกว่าจะทราบแน่ชัดว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท อันเป็นงบประมาณที่จะนำมาดำเนินโครงการดังกล่าวผ่านสภาหรือไม่?
ถึงกระนั้นก็ยังเผื่อใจไว้เช่นกันว่า หากท้ายที่สุดจะต้องย้ายจริงๆ ก็อยากให้ภาครัฐกำหนดมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฏว่า มีการหารือกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนตัวจริงแต่อย่างใด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 57 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”
จะเห็นได้ว่า แม้ประชาชนหลายร้อยครัวเรือนในพื้นที่บ้านท่ามะนาว จะอยู่ในฐานะเพียงผู้เช่าที่ดินเท่านั้น แต่หากมองในแง่ของความเป็นธรรมแล้ว การที่ประชาชนอยู่อาศัยในพื้นที่มาเป็นเวลานาน มีการปลูกที่อยู่อาศัยอย่างถาวร เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความผูกพันของผู้คนกับพื้นที่ดังกล่าว จนไม่อยากจะย้ายไปไหนอีก
อนึ่ง..เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ได้รับผลกระทบ รัฐบาลก็จะต้องรับฟังและหาทางออกร่วมกัน ทั้งในแง่ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าที่ภาคประชาชนเสนอแนะ หรือท้ายที่สุดหากยืนยันพื้นที่เดิมจริงๆ ก็ต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมด้วย
เพราะไม่ว่าจะอยู่อาศัยในฐานะใด..แต่พวกเขาก็คือ “คนไทย” เหมือนเช่นเราทุกคนมิใช่หรือ?
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี