เชื่อได้ว่า..เหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่ผู้คนรู้จักที่สุด คงหนีไม่พ้น “14 ตุลา 2516” จาก 2 เรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน หนแรก 29 เม.ย. 2516 เมื่อเฮลิคอปเตอร์ของทหารลำหนึ่งตก และภายในพบซากสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มคนดังกล่าวเข้าไปล่าสัตว์ภายในเขตป่าสงวน จากนั้นนิสิต-นักศึกษาจาก 4 สถาบันทำหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” วิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ ผลคือขายได้กว่า 5,000 เล่ม ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
หลายเดือนต่อมา มีกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น นิสิต-นักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินแจกใบปลิวไปตามสถานที่ต่างๆ แต่กลับถูกจับกุม หลังจากนั้น ความคับแค้นใจอันเกิดจากภาวะบีบคั้น ในช่วงกว่าทศวรรษแห่งระบอบเผด็จการทหาร ไม่ว่าจะเป็นในหมู่นักศึกษา นักคิดนักเขียน นักการเมือง ตลอดจนประชาชนทั่วไป ก็ถึงคราวระเบิดขึ้น ว่ากันว่าในหนนั้น มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกว่า 5 แสนคน ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2516 จนเกิดการปะทะกับฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ เมื่อเช้าตรู่วันที่ 14 ต.ค. ยาวไปจนวันที่ 15 ต.ค. กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของไทยจนถึงปัจจุบัน
คำถามคือ..40 ปีผ่านไป วันนี้สังคมไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
“การต่อสู้ 14 ตุลา มันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประชาชน ที่มีประชาชนแทบจะทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่า ร่วมกันลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย อันนี้ไม่รวมการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะเขาเริ่มต้นมาก่อน ตั้งแต่ปี 2508 หรือก่อนหน้าด้วยซ้ำ แต่ผมพูดถึงการต่อสู้ของประชาชนทั่วไปโดยที่ไม่มีการจัดตั้ง”
เสียงจาก สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็น 1 ในอดีตคนเดือนตุลา กล่าวในปาฐกถาพิเศษ “ก้าวต่อไป 40 ปี 14 ตุลา : ทวงคืนสิทธิประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน” ที่จัดโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เมื่อไม่นานมานี้ รำลึกบรรยากาศการต่อสู้ในครั้งอดีต ก่อนจะตั้งคำถามต่อไปว่า..ทั้งหมดที่ต่อสู้กันมา แม้จะไล่เผด็จการทหารไปได้ แต่เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการยกระดับชิวิตคนไทยให้ดีขึ้น สัมฤทธิ์ผลแล้วตามที่หวังไว้จริงหรือ?
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ผ่านไป กระแสสังคมไทยก็มุ่งไปสู่ระบอบประชาธิปไตย จากที่ถูกเรียกว่าครึ่งใบ มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ตามลำดับ และถึงแม้จะมีรัฐประหาร แต่กองทัพก็ไม่อาจกุมอำนาจได้นานอย่างในอดีต ตรงกันข้ามต้องรีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดกันต่อไป แล้วบรรดานักการเมือง ที่ถูกเลือกกันเข้าไปเป็นตัวแทน ประชาชนที่เลือกได้อะไรอย่างยั่งยืนบ้าง
“จริงๆ แล้วการเลือกตั้งมันเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม ไม่ใช่ประชาธิปไตยทางตรง เมื่อไปเลือกแล้วคนที่รับเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าเขาจะทำประโยชน์เพื่อประชาชนส่วนใหญ่จริงหรือเปล่า? ไม่รู้ว่าเขาจะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงหรือเปล่า? ถ้าเราดูเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตลอดเวลา 40 ปี เราจะเห็นได้เลยว่าใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาล มีน้อยจริงๆ หรือเกือบไม่มีด้วยซ้ำไป ที่จะให้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยกับประชาชนเต็มที่
ในทางตรงกันข้าม กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม มักจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดข้ามชาติ แล้วอยากจะชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่มันเป็นปัญหาอยู่ นักการเมืองจริงๆ ท้ายที่สุดมันเลว ก็คือโกงเอาเงินภาษีอากรแผ่นดินไปใช้เท่านั้นเอง แต่คนที่ได้ประโยชน์มากกว่านั้น ก็คือกลุ่มทุนผูกขาดข้ามชาติ กลุ่มเหล่านี้แหละที่ปล้นชิงทรัพยากรไปจากประชาชน”
คุณสรรพสิทธิ์ ระบุถึงปัญหาที่มากกว่านักการเมือง นั่นคือบรรดากลุ่มนายทุนทั้งหลาย อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อเข้ามาลงทุนแล้วมักนำปัญหาเข้ามาด้วย เช่นมลภาวะ-สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แม้กระทั่งใช้เล่ห์กลขับไล่ประชาชนออกนอกพื้นที่ ด้วยการสมคบกับเจ้าหน้าที่รัฐฉ้อฉลบางกลุ่ม ทำการออกโฉนดปลอมมาหลอกลวงและข่มขู่ชาวบ้าน หากต้องการที่ดินบริเวณนั้น
กรณีหนึ่งที่ถือเป็นบทเรียนอันแสนเจ็บปวด อดีตคนเดือนตุลารายนี้ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ จ.ลำพูน ในครั้งนั้นชาวบ้านถูกจับกุมคุมขังจากกลไกภาครัฐ ทั้งที่เข้าไปใช้ที่ดินที่ตนมีสิทธิ (สิทธิในโครงการปฏิรูปที่ดิน) ซึ่งกฏหมายให้การรับรองไว้ เนื่องจากแม้โฉนดที่มีผู้แอบอ้างครอบครองที่ทำกินของประชาชนนั้นจะเป็นโฉนดปลอม แต่กลับถือว่าเป็นโฉนดที่ใช้การได้ ตราบใดที่ไม่มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดนั้นยังมีผลใช้ได้ตามกฎหมาย ทั้งที่เป็นของปลอม ย่อมเป็นของผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น แต่กลับยังใช้ได้อีกในระยะหนึ่ง
“ผมว่ามันเป็นการฉ้อฉลทางกฎหมายนะ เพราะโฉนดปลอม บัตรประชาชนปลอม มันไม่ต้องเพิกถอน เพราะมันไม่ได้เป็นบัตรประชาชนหรือโฉนดที่ดินมาตั้งแต่แรกแล้ว อันนี้แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างในการรับใช้อำนาจของรัฐ มันไปรับใช้กลุ่มทุนผูกขาด ไปสนับสนุนให้กลุ่มทุนผูกขาดเข้ามากอบโกย เอาทรัพยากรต่างๆ ไปได้อย่างหน้าตาเฉย” คุณสรรพสิทธิ์ กล่าว
ประเด็นต่อมา..รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่หลายคนมองว่าเป็นมรดกรัฐประหาร 2549 เพราะไม่ได้ร่างขึ้นมาตามกระบวนการประชาธิปไตยเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ทว่าเนื้อหาของ รธน.50 กลับส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด ที่เห็นได้ชัดคือสิทธิในการขอจัดการตนเองในระดับชุมชนท้องถิ่น
ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่าแต่ละพื้นที่ ย่อมมีวิถีชีวิตที่หลากหลาย และไม่มีใครรู้จักหรือรักชุมชนนั้นๆ ได้ดีเท่าคนในชุมชนเอง ทั้งนี้แม้จะเป็นเพียงสิทธิในขั้นประชาพิจารณ์ ยังไม่ก้าวหน้าไปถึงขั้นลงประชามติได้แบบในหลายประเทศก็ตาม แต่คุณสรรพสิทธิ์ มองว่า รธน.50 ก็ยังมีเนื้อหาเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีทางเลือกของตนเองมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา
“อยากจะบอกว่า รัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และมีอำนาจในการตัดสินชะตาชีวิตตัวเองมากที่สุด จริงๆ มันก็ไม่มากเท่าไร แต่ก็ยังมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น คือปี 50 เพราะพูดถึงสิทธิชุมชน มีอำนาจตัดสินใจ ในระดับประชาพิจารณ์
จริงๆ มันต้องเป็นการลงมติ ผมยกตัวอย่างการจะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ทั้งที่จับปลาชายฝั่งทะเล หรือการท่องเที่ยวในทะเลอันดามัน ต้องมีอำนาจในการลงมติ ในต่างประเทศเขากำหนดไว้เลย ใครอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถออกเสียงลงประชามติ ในการกระทำใดๆ ของรัฐ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา” คุณสรรพสิทธิ์ ให้ความเห็น
ในตอนแรกนี้ เราได้ชี้ให้เห็นว่า 40 ปีผ่านไปหลัง 14 ตุลา 2516 คนไทยทั่วไปก็ยังไม่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากนัก เพราะกลไกต่างๆ ยังมุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนต่างๆ มากกว่าประชาชนโดยรวม ในตอนหน้า เราไปฟังมุมมอง ว่าด้วยการชุมนุมของประชาชน คุณภาพของรัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงวิเคราะห์ว่า ในอนาคตสังคมไทยน่าจะเดินไปในทิศทางใด
COOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี