ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ร้อยพลังต่อต้านคอร์รัปชัน” เมื่อปี 2559 ตัวแทนองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันต่างเห็นพ้องกันว่าอุปสรรคสำคัญหนึ่งของการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ การขาด active citizenหรือใช้คำภาษาไทยว่า พลเมืองตื่นรู้
พลเมืองตื่นรู้คืออะไรก่อนที่จะตื่นรู้หรือแปลตรงตัวตามคำว่า activeว่าตื่นตัวเราเป็นพลเมืองกันแล้วหรือยัง
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศกล่าวว่า พลเมืองที่แปลมาจากคำว่า citizenเป็นแนวคิดที่สืบเนื่องมาจากนครของกรีกโบราณ คนที่เป็น citizen เป็นสมาชิกของนคร การเป็นสมาชิกนี้เองที่มีนัยของความเป็นเจ้าของ(ownership)และมีความเป็นพวกเดียวกัน(sense of belonging)กับสมาชิกคนอื่นๆ
อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวไว้ในหนังสือ “Politics (การเมือง)” ว่า บทบาทของพลเมืองสัมพันธ์กับระบอบการปกครอง เพราะแต่ละระบอบมีความต้องการพลเมืองที่แตกต่างกันไปในประเทศไทยที่มีการปกครองโดยนิตินัยเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทบาทหนึ่งของพลเมืองคือการมีส่วนร่วมในการดูแลรัฐที่ตนเป็นเจ้าของ แม้ตนจะมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐการเป็นพลเมืองที่ active หรือแปลความหมายอย่างตรงตัวว่า ตื่นตัว จึงหมายถึงการกระตือรือร้นในบทบาทนี้ของตน
งานวิจัย “ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย”โดยดร.ถวิลวดี บุรีกุล, รัชวดี แสงมหะหมัด, และEugenie Merieauพบว่าการมีความภูมิใจในการเป็นคนไทยเป็นคุณสมบัติการเป็นพลเมืองที่ประชาชนไทยให้ความสําคัญสูงที่สุดเป็นอันดับสองในขณะที่คุณสมบัติข้อเดียวกันนี้ เป็นคุณสมบัติที่ประชาชนคิดว่าตนมีจริงมากเป็นอันดับแรก
ความภูมิใจในการเป็นคนไทยเป็นสิ่งที่เราต่างได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่จำความไม่ได้ ทุกเช้าเวลาแปดนาฬิกา ภาพธงไตรรงค์โบกสะบัดบนยอดเสาทั้งในจอและนอกจอเตือนใจให้คนทุกหมู่เหล่าระลึกถึงสามสถาบันหลักที่เป็นศูนย์รวมใจ สีแดงคือชาติ สีขาวศาสนา น้ำเงินหมายว่าพระมหากษัตริย์ไทย และสถาบัน “ชาติ” นี้เองที่ผู้เขียนเห็นว่าควรแก่การนำมาอภิปรายความเกี่ยวข้องกับการเป็น active citizen
ครั้งหนึ่งภาพข่าวแสดงขยะทิ้งเรี่ยราดในบริเวณที่นั่งหลังจากงานเชียร์กีฬาทีมชาติไทยกับต่างชาติทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าเป็นภาพที่ขัดแย้งอย่างประหลาดความรู้สึกเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่วมใจกันเชียร์ทีมชาติ มิได้มีความเกี่ยวข้องกับสำนึกต่อพื้นที่สาธารณะ อันเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราเป็นเจ้าของเลยหรือ
ภาษาอังกฤษมีคำว่า patriotism และ nationalismที่กล่าวถึงความนิยมในชาติของตน โดย patriotism เมื่อแปลเป็นภาษาไทยหมายถึง ความรักชาติ ส่วน nationalism คือความนิยมชาติบ้างก็แปลว่า คลั่งชาติ
การรักในชาตินั้นคือการมองตนเป็นเจ้าของและมีความรับผิดชอบต่อชาติ ในขณะที่ความนิยมชาตินั้นคือการมองชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรแก่การยกย่องเชิดชู
ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเกิดกระแสต่อว่านักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ถือป้าย “ไทยแลนด์แดนกะลา” เดินขบวนเปิดพิธีว่าไม่เหมาะสมและเป็นการดูถูกชาติ สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำความ “รัก”ในความหมายของ nationalism
ความภูมิใจในความเป็นคนไทย อันเป็นสมาชิกของ ชาติไทย ที่ควรแก่การเทิดทูนนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดจึงปรากฏภาพขยะทิ้งเรี่ยราดเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะสำนึกของความเป็นพลเมืองในความรับรู้ของคนไทย มิได้หมายถึงความเป็นเจ้าของ อันนำมาซึ่งความรู้สึกหวงแหนและต้องการให้เกิดการพัฒนาด้วยเหตุนี้เราผู้หยุดยืนตรงเพื่อเคารพธงชาติในเวลาแปดนาฬิกา จึงยังคงกระทำการฉ้อฉล หรือกระทำการไร้ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมได้โดยที่ไม่เห็นว่ามีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด
เมื่อเข้าใจความหมายของพลเมืองในระบอบ
ประชาธิปไตยแล้ว เราจึงเข้าใจได้ว่าการทำหน้าที่พลเมืองอย่างกระตือรือร้นมิใช่การเดินเข้าไปเตือนผู้ที่ไม่หยุดยืนเคารพธงชาติให้หยุดยืนตรง หรือประณามผู้ที่ชี้ประเด็นที่อาจทำให้เราตระหนักถึงปัญหาเพื่อให้ชาติพัฒนาด้วยคำว่า “แดนกะลา” แล้วถามพวกเขาเหล่านั้นว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า”
คำถามต่อไปที่จะนำไปสู่การสร้าง active citizen จึงเป็นคำถามว่าแล้วจะทำอย่างไร
งานวิจัย “ใจบันดาลแรงสู่แรงบันดาลใจเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน” โดย อ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาคและคณะภายใต้โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน มุ่งศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันยังคงยืนหยัดทำงาน เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจที่อาจนำไปสู่การสร้างโครงการต่อต้านคอร์รัปชันที่ทำให้เกิด active citizen ได้
คณะผู้วิจัยพบว่าระบบการปลูกฝังที่มีนั้นยังไม่ทำให้เกิด active citizen ทั้งที่ตัวเลขผู้ผ่านโครงการปลูกฝังมีมากพอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นอกเหนือไปจากการขาดปัจจัยเชิงกลไกที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ผู้วิจัยตั้งสมมุติฐานว่า การปลูกฝังด้วยคุณธรรมเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ผลการวิจัยข้อหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าควรแก่การนำมาอภิปรายคือ การมีความใคร่รู้และความสนุกในการค้นหาคำตอบ
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการสร้างกลไกต้านคอร์รัปชันโดยภาคประชาชนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณเกรียงไกร สืบสัมพันธ์วิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้รับคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนาว่า สิ่งใดที่ประชาชนควรมีเพื่อการเฝ้าระวังและมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันและคำตอบของวิทยากร คือ “คำถาม” ต่อข้อมูลที่ได้รับ
วิทยากรอธิบายว่า ประชาชนอาจตั้งคำถามได้กับทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอน ใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำ และนึกใคร่รู้ว่าใครเป็นผู้กำหนดราคา ใครเป็นผู้ดำเนินการ และราคานั้นสมเหตุผลหรือไม่ เมื่อผ่านถนนหนทางก็อาจตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดถนนจึงเป็นหลุมเป็นบ่อบ่อยครั้ง วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมีความแข็งแรงพอหรือไม่ ใครเป็นผู้เลือกผู้ดำเนินการก่อสร้างหรือวัสดุเหล่านั้น มีการละเมิดระเบียบควบคุมน้ำหนักของยานพาหนะที่สามารถวิ่งได้หรือไม่
เช่นเดียวกันนี้ เราอาจย้อนกลับไปถึงเรื่องความเป็นพลเมืองของชาติ และถามว่าเพราะอะไรผู้ที่ไม่หยุดเคารพธงชาติจึงทำเช่นนั้น ทำไมเราจึงรู้สึกไม่สบายใจกับภาพนั้นหรือแม้แต่ทำไมก่อนหน้านี้เราจึงไม่เคยคิดตั้งคำถาม
ความใคร่รู้นี้เองที่จะนำไปสู่การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ กล่าวคือเป็นไปเพื่อการพัฒนาได้ แต่เพื่อการนั้น มิใช่เพียงพลเมืองที่จะฝึกตั้งคำถาม รัฐผู้เป็นตัวแทนของพลเมืองทั้งหลายก็มีหน้าที่สนับสนุนการลดต้นทุนหรือเพิ่มกำไรของการตั้งคำถามนั้นด้วย ทั้งนี้เพราะรัฐและพลเมืองต่างเป็นผู้ผลิตซึ่งกันและกัน
เพื่อเป็นการตอบคำถามในหัวข้อบทความ ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนผู้อ่านเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับจากบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลที่นำเสนอมีความน่าเชื่อถือหรือถูกต้องเพียงใด เป็นกลางหรือไม่ มีจุดมุ่งหวังในการเขียนอย่างไร และแม้แต่ ท่านเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้เขียนหรือไม่
เพื่อที่ในไม่ช้าพลเมืองจะได้ตื่นจากการหลับใหลอันยาวนาน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี