หากลองนึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก น่าจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “อย่าขี้โกงนะมันไม่ดี” ความทรงจำในวัยเด็กของผู้เขียนเองก็เช่นเดียว คุณครูที่โรงเรียนคอยพร่ำบอกเสมอให้เป็นเด็กดี ไม่ขี้โกง ซึ่งในตอนนั้นก็จำได้ แต่ไม่เข้าใจจริงๆเสียทีเดียวว่าทำไมต้องไม่โกง อาจเป็นเพราะการศึกษาไทยสอนให้นักเรียนท่องจำมากไป ทำให้เราจำได้ แต่ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ สุดท้ายแล้วเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าตัวอย่างที่ให้ท่องจำ เราจึงมีแนวโน้มโอนเอียงไปตามค่านิยมหรือวัฒนธรรมในสังคม ซึ่งคือความคิดว่าโกงนิดโกงหน่อยไม่เป็นไรเช่น การโกงข้อสอบเป็นเรื่องปกติ เป็นสีสันในชีวิตดังนั้นการใช้การศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันนั้น นอกจากจะเน้นการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมของความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนแล้ว ยังจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เด็กมีการถกเถียงและกระตุ้นให้มีการคิดวิเคราะห์มากกว่าจะสอนให้ท่องจำว่าโกงไม่ดีเพียงเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน
แนวทางการศึกษาเช่นนี้เป็นแนวทางที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และมูลนิธิเพื่อคนไทย เชื่อและให้การสนับสนุนทั้งสององค์กรจึงจับมือกันระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา การต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมไปถึงด้านเทคโนโลยี พร้อมรวบรวมหลักสูตรและเครื่องมือต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่แล้วหรืออยู่ระหว่างการพัฒนามาบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ สร้างกระบวนการการนำเข้าไปใช้ในสถานศึกษาระดับต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การขยายผลอย่างยั่งยืน ในชื่อโครงการ เยาวชนตื่นรู้สู้โกง (Active Youth) โดยแบ่งเป็น ٣ ระดับ เพื่อความเหมาะสมกับกลุ่มช่วงอายุ
ในโรงเรียนระดับประถม ผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินโครงการโตไปไม่โกง มาบ้างแล้ว โครงการนี้มีจุดเด่นหลายประการและที่สำคัญคือมีความพร้อมมากหลักสูตรมีการออกแบบและพัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) หลักสูตรครอบคลุมความดี ٥ ประการที่ช่วยสร้างชาติและต่อต้านการทุจริต ได้แก่ (١) ความซื่อสัตย์สุจริต(٢) การมีจิตสาธารณะ (٣) ความเป็นธรรมทางสังคม(٤) กระทำอย่างรับผิดชอบ และ (٥) เป็นอยู่อย่างพอเพียง นอกจากนี้ โครงการยังเตรียมสื่อการสอนทั้งหนังสือ เพลง อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนต่างๆ มาเป็นชุด พร้อมให้ครูนำไปใช้สอนในชั้นเรียนได้ทันที ตามแนวทางการศึกษาที่ไม่เน้นการบรรยายและท่องจำ แต่เป็นการเรียนการสอนในรูปแบบพาเด็กทำกิจกรรมทั้งสนุกสนานและช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการเล่านิทาน เรื่องสั้นและวรรณกรรมสำหรับเด็ก เกมการละเล่นต่างๆ การร้องเพลง กิจกรรมศิลปะ บทกวีและคำคล้องจอง รวมทั้งกรณีศึกษาและกิจกรรมสร้างประสบการณ์อื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดอย่างมีเหตุผล นอกจากนี้ในตัวโครงการเอง ยังมีการจัดอบรมครู ให้ครูสามารถนำกระบวนการนี้ไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
สำหรับปีการศึกษาที่จะถึงนี้ โครงการมีแผนจะนำหลักสูตรโตไปไม่โกง เข้าสู่โรงเรียนขยายโอกาส ผ่านเครื่องมือของวิสาหกิจเพื่อสังคมด้านการศึกษาชื่อ เอ็ดวิงส์ เอ็ดดูเคชั่น (EdWINGS) โดยใช้ระบบ “เพื่อนครู” ในการทำงาน คือจะร่วมมือกับครูในการวางเป้าหมายและแผนการทำงานร่วมกัน รวมทั้งคอยติดตามให้คำปรึกษาในระหว่างการนำไปใช้ในการเรียนการสอน ในปีนี้จะเริ่มดำเนินการนำร่องกับ6 โรงเรียน ก่อนจะขยายผลต่อไป คาดว่าในระยะแรกนี้จะเข้าถึงครูประมาณ 30 คน และนักเรียน 1,200 คน
ในส่วนของระดับมัธยมศึกษานั้น จะมีเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ที่กว้างมากขึ้น โดยจะนำเนื้อหาสาระจากหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากับคุณธรรม ธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชันมาบูรณาการกัน เช่น หลักสูตรโตไปไม่โกงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาของ ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผนวกเข้าไปในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ผ่านเครื่องมือใหม่ๆ เช่น คอร์รัปเดอะเกมส์ ที่เป็นเกมส์ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเยาวชน ด้วยการแสดงให้เห็นผลกระทบของการทุจริต โดยผู้เล่นจะติดตาม เรียนรู้ ตัดสินใจเลือกไปกับตัวละครหลัก และเผชิญกับผลกระทบของทางเลือกที่ตนเลือก
นอกจากนี้ยังมีโครงการ โรงเรียนภาคฤดูร้อน ที่เน้นการประยุกต์ทักษะผู้ประกอบการและความซื่อสัตย์สุจริตเข้าไปในกิจกรรมต่างๆเช่น ให้เด็กสร้างสินค้าและบริการเพื่อขายในตลาดอย่างมีคุณธรรม โดยมีการจัดการเรียนการสอนวิชาหลักในช่วงเช้า และช่วงบ่ายทำกิจกรรมเสริมทักษะพิเศษตามความสนใจของนักเรียน เช่น ห้องศิลปะ ห้องทดลอง ห้องเชฟกระทะเด็กเป็นต้น เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดและศักยภาพของตน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนเปิดภาคเรียน โครงการนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว2 ปีที่โรงเรียนวัดนาวง จังหวัดปทุมธานี และจะดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลไปยังโรงเรียนนำร่องอีก 4 โรงเรียนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้น
สุดท้ายในระดับอุดมศึกษา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations DevelopmentProgram: UNDP) ได้นำหลักสูตรวัยใสใจสะอาดซึ่งเป็นหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่จัดทำโดยสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าสู่เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 20 แห่ง โดยเชิญ Professor Dr.Ariane Lambert-Mogiliansky จาก Paris School of Economics ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรธรรมาภิบาลมาพัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยในระยะต่อไปสามารถนำหลักสูตรพร้อมกระบวนการที่ปรับปรุงแล้วนี้ไปปรับใช้กับรายวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง จริยศาสตร์ กฎหมายในชีวิตประจำวัน ที่หลายมหาวิทยาลัยได้นำไปเป็นหน่วยการเรียนรู้ในรายวิชาศึกษาทั่วไปแล้ว และอาจนำไปใช้ในรายวิชาเอกในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์และครุศาสตร์ได้ตามความเหมาะสมอีกด้วย
การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและหลักสูตรต่างๆ ในโครงการ Active Youth นั้น จะมีการสนับสนุนอย่างเป็นระบบโดย แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้มีเป้าหมายและมีแนวทางการทำงานในทิศทางเดียวกันที่เน้นการเปลี่ยนแปลงระยะยาวและวัดผลได้ในระยะสั้น เพื่อให้เกิดผลกระทบจริงและมีความยั่งยืน โดยการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล นำความรู้ความเชี่ยวชาญมาเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน และมีการติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จไปเป็นข้อมูลแนะนำในการพัฒนาต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี