ต่อเนื่องจากบทความต่อตระกูล ต่อภัสสร์ ต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “พัฒนาการศึกษาต่อต้านคอร์รัปชันในไทย” ที่ผู้เขียนแจ้งไว้ว่าจะนำรายละเอียดสัมมนาวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การศึกษาเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน : จากบทเรียนสู่การปฏิบัติ” ที่จัดไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน โดยศูนย์ SIAM lab ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) บทความในตอนนี้จึงขอนำรายละเอียดและผลลัพธ์จากงานสัมมนามาสรุปดังนี้
งานสัมมนาดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการนำเสนอบทเรียนการศึกษาเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันโดยศาสตราจารย์แอเรียน ลอมเบิร์ต-โมกิลเลียนสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การคอร์รัปชัน จาก Paris School of Economics โดยศาสตราจารย์แอเรียนได้เสนอว่า จากหลักสูตรการศึกษาเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ โดยหลักมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนประถมและมัธยม กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย และกลุ่มคนทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน เช่น สำหรับนักเรียน หลักสูตรต้องสนุกสนาน อยู่บนพื้นฐานของตรรกะอย่างวิทยาศาสตร์ มีมุมมองจากหลากหลายศาสตร์ และมีตัวอย่างที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน ในขณะที่เนื้อหาควรเข้มข้นขึ้นในกลุ่มต่อๆ มา โดยที่ในทุกกลุ่ม เนื้อหาควรกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและถกเถียงกัน ไม่ใช่ชี้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ถูกหรือไม่ถูก
บทเรียนนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของผู้นำเสนอต่อมาคือ ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัย SIAM-lab ในหัวข้อ สื่อกับการปลูกฝังความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันในเด็ก :กรณีศึกษาไทย โดยอาจารย์กุลลินีศึกษานิทานและวรรณกรรมของไทยที่เกี่ยวข้องกับความดีและความซื่อสัตย์ นำมาเปรียบเทียบกับวรรณกรรมในต่างประเทศ พบว่าข้อด้อยสำคัญของสื่อไทยที่ต่างจากสื่อต่างชาติ คือการเน้นการสั่งสอนโดยตรงจากผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครู อาจารย์ หรือพระสงฆ์ ทำให้เด็กไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้คิดวิเคราะห์และตีความการกระทำต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล เมื่อเจอสถานการณ์จริงที่ไม่ขาวหรือดำชัดเจนอย่างที่อยู่ในบทเรียน จึงตัดสินใจการกระทำไม่ถูก นอกจากนี้การที่สื่อไทยเน้นแสดงให้เห็นผลจากการทำผิดเป็นการลงโทษ ทำให้เด็กไม่ได้เห็นผลกระทบจริงๆ เช่น รู้ว่าถ้าทิ้งขยะลงคลองแล้วจะโดนตี แต่ไม่รู้ว่าขยะที่ทิ้งลงไปในคลองนั้นส่งผลให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อคนทั้งสังคม
หลังจากนั้นในช่วงที่สอง ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้ง 65 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ผู้ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรและเครื่องมือต้านคอร์รัปชัน และนักวิจัยในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกันระดมสมองเพื่อค้นหาแนวทางการสร้างความร่วมมือและบูรณาการหลักสูตร โครงการ เครื่องมือต่างๆ โดยให้ทุกคนตอบคำถามว่า “เราจะสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร” โดยให้ตอบผ่านการวาดรูปภาพแล้วแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่ม รูปภาพที่แต่ละคนสื่อสารออกมามีหลายรูปแบบ สะท้อนให้เห็นความสนใจและความเชี่ยวชาญของแต่ละคนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรหรือชุดการเรียนรู้ และรูปแบบการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น รูปห้องเรียนออนไลน์ที่สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ตัวโน้ตที่สื่อถึงการปลูกฝังผ่านเสียงเพลง กระบวนการการเรียนรู้ที่สอนให้รู้จักตั้งคำถาม กล้าแสดงความคิดเห็น กิจกรรมนอกห้องเรียนผ่านการทำโครงงานเพื่อฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีเชือกที่ร้อยถักเป็นเส้นเดียวกันสื่อถึงการเชื่อมโยงการทำงานจากหลายภาคส่วน ดอกไม้หลากสีที่สื่อถึงการบูรณาการหลายๆ หลักสูตรเข้าด้วยกัน และสะพานความดีที่เปรียบเสมือนพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างเยาวชน โรงเรียน และชุมชน เป็นต้น
คำถามต่อมา คือ จากความหลากหลายของโครงการ หลักสูตร และเครื่องมือต่างๆ นี้ เราจะนำภาพความหลากหลายนั้นมาบูรณาการให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างไร โดยให้แต่ละกลุ่มนำภาพของสมาชิกในกลุ่มมารวมและร้อยเรียงเป็น 1 ภาพใหญ่ สิ่งที่หลายกลุ่มนำเสนอมามีแนวทางที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น การเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานเพื่อเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้นักเรียนได้พัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ และการเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนได้เลือกหลักสูตรและเครื่องมือต่างๆ ด้วยตนเอง แทนการถูกสั่งให้นำมาสอนจากหน่วยงานกลาง
จากบทเรียนหลักสูตรการศึกษาเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศและสื่อกับการปลูกฝังความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันในเด็ก สู่การร่วมกันระดมสมอง ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ได้รู้จักหลักสูตร โครงการ และเครื่องมือต่างๆ ที่มีความหลากหลายและที่สำคัญที่สุด คือ ได้เห็นภาพการทำงานในทิศทางเดียวกันในการบูรณาการความหลากหลายของเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชัน และเห็นร่วมกันว่าควรเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถเลือกไปใช้ได้เองตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน ซึ่งเป็นอีกกลไกลหนึ่งที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้
นอกจากนี้ทุกคนยังเห็นร่วมกันว่า ควรสอนให้เด็กคิดเป็น แทนที่จะเป็นการท่องจำ สอนให้รู้จักตั้งคำถามและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมได้ เพราะสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบันมีความซับซ้อนเกินกว่าจะสามารถบอกได้ว่าถูกหรือผิดได้ ดังนั้นเด็กต้องรู้จักการคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม ถกเถียงกันด้วยเหตุและผลเพื่อหาคำตอบและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
งานสัมมนาในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขับเคลื่อนโครงการและสร้างเครือข่ายที่ต่างมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพียงสิ่งเดียว นั่นคือการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนที่มีคุณธรรม ตื่นรู้สู้โกง และเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ทุจริต ไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน
ต่อจากนี้ เพื่อให้ความเห็นร่วมเหล่านี้ได้รับการผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ทีมวิจัยศูนย์ SIAM lab จะได้สรุปผลลัพธ์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อใช้ออกแบบโครงการเยาวชนตื่นรู้สู้โกง (Active Youth) และนำข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยเพื่อประโยชน์ในระยะยาวต่อไป
การปลูกฝังให้คนไทยเป็นคนดี ซื่อสัตย์ และไม่คดโกง เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และต้องทำตั้งแต่ยังเด็ก การที่มีการพัฒนาหลักสูตร กิจกรรม โครงการ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังคุณธรมจริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชันที่หลากหลายและมีจำนวนมากเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ในขั้นต่อไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบเพื่อเสริมสร้างศักยภาพโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยการผลักดันทั้งจากภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการอย่างจริงจังเช่นนี้ คงอีกไม่นานนักที่เราจะเห็นประเทศไทยพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนจากความใสสะอาดของสังคม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี