ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสเรื่องการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนของสถาบันการศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งนั้นเป็นที่สนใจและทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย บ้างก็เห็นด้วยที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีอิสระในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ บ้างก็แสดงความเป็นห่วงเรื่องความเป็นระเบียบวินัย เรื่องค่าเครื่องแต่งกาย เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดการแข่งขันกันแต่งตัวในหมู่นักเรียน ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวมีแนวทางว่าการใส่ชุดนักเรียนที่เหมือนกันนั้นจะช่วยสร้างความเท่าเทียม และผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายได้
ถ้าเราลองมาวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่าย จากการศึกษาเรื่อง “ความจริงของรายจ่ายการศึกษาไทย” ของ รศ.ดร.ชัยยุทธ์ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2556พบว่า เฉพาะค่าเครื่องแบบนักเรียนทั้งในส่วนของรัฐบาลและที่ผู้ปกครองต้องจ่ายนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีจึงเกิดคำถามงบประมาณนี้คือความสิ้นเปลืองหรือไม่ และหากยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนแล้วจะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้หรือไม่
ในประเด็นนี้ ศูนย์ข้อมูลข่าว TCIJ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความสิ้นเปลืองของค่าใช้จ่ายด้านเครื่องแบบนักเรียนที่เกิดจากระบบงบประมาณ เนื่องจากงบประมาณของโรงเรียนนั้นจะถูกคิดเป็นรายหัว งบประมาณจึงเพิ่มขึ้นแบบแปรผันตามจำนวนนักเรียน ผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งถึงกับใช้วิธีปรับเปลี่ยนชุดนักเรียนให้สวยงามเพื่อดึงดูดให้เด็กเข้ามาเรียน ส่งผลให้ผู้ปกครองของนักเรียนปัจจุบันในโรงเรียนนั้นต้องซื้อชุดใหม่ทั้งๆ ที่ชุดเดิมยังใช้การได้ นอกจากนี้ผู้ปกครองสามารถนำใบเสร็จค่าเครื่องแบบมาเบิกกับโรงเรียนได้ ดังนั้นต่อให้ชุดเดิมยังใช้ได้ผู้ปกครองก็อยากจะเปลี่ยนใหม่ หรือบางครั้งไม่มีการตรวจสอบว่าใบเสร็จที่นำมาเบิกนั้นซื้อเครื่องแบบนักเรียนมาจริงหรือไม่ เพราะโรงเรียนเองต้องการแค่ใบเสร็จไปยืนยันเพื่อขอเบิกงบเท่านั้น
นอกจากความสิ้นเปลืองในการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าแล้ว ยังมีการทุจริตจัดซื้อชุดนักเรียนที่เคยเกิดเป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2559 ขององค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยมีการจัดซื้อชุดนักเรียนที่เกินจำนวนสะสมมาเป็นเวลา 10 ปี จำนวนถึง 5 เเสนชุด มูลค่าความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากการทุจริตจะส่งผลต่องบประมาณแผ่นดินแล้ว การทุจริตงบประมาณการจัดซื้อชุดนักเรียนในบางที่นั้นก็ส่งผลถึงตัวนักเรียนเองด้วย เนื่องจากมีการจัดซื้อชุดนักเรียนที่ไม่มีคุณภาพมาแจกจ่ายให้กับนักเรียน
ปัญหาการทุจริตในสถานศึกษา ซึ่งที่จริงแล้วควรเป็นจุดเริ่มต้น “แก้โกง” ที่ดีในการหล่อหลอมเยาวชนให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้มีการทุจริตเฉพาะเรื่องของการจัดซื้อชุดนักเรียนเพียงเท่านั้น
แต่จากผลการศึกษา “แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตในสถานศึกษาและการสร้างนักเรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี ที่ไม่คดโกง” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อปี 2556 พบว่าสถานศึกษากลายเป็น “จุดเริ่มโกง” จากการวิจัยเชิงปริมาณใน 45 โรงเรียน เกี่ยวกับการทุจริตในโรงเรียน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53.08 เคยพบเห็นการทุจริตในสถานศึกษา
ซึ่งพฤติกรรมที่พบเห็นมากที่สุดคือ การเบียดบังเวลาราชการเพื่องานอื่น รองลงมาคือการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน, การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง, การแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ และประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง ตามลำดับ ดังเช่นที่สื่อนำมาเสนอข่าวหลากหลายกรณี เช่น การทุจริตงบประมาณอาหารกลางวันนักเรียน, การทุจริตโครงการนมโรงเรียนที่จัดซื้อนมไม่ได้มาตรฐาน, การทุจริตสนามเด็กเล่นที่ใช้งบประมารณจัดซื้อแพงกว่าท้องตลาด, การทุจริตทุนการศึกษากองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เสียหายกว่า 88 ล้านบาท, การทุจริตของผู้บริหารสถานศึกษาปลอมชื่อนักเรียนเพื่อโกงงบประมาณมาใช้ส่วนตัว เป็นต้น
ถึงแม้พฤติกรรมการทุจริตในสถานศึกษาจะมีมากเพียงใด แต่การพยายามปลูกฝังเยาวชนผ่านสถานศึกษา และหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชาติ เป็นพลเมืองที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริตนั้น ก็ยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ด้าน จากความร่วมมือของหลายๆ องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงเกิดเป็นกิจกรรมและโครงการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โครงการโตไปไม่โกง,โครงการโรงเรียนคุณธรรม, หลักสูตรสุจริตไทย,เกมออนไลน์ เดอะ คอร์รัป, บอร์ดเกมต้านคอร์รัปชัน The Trust รวมทั้งในอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดความร่วมมือจากหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ โดยมีแนวทางจากหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในแนวทางใหม่ ที่เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้หลายรูปแบบตามความถนัดและความพร้อมของผู้เรียน รวมทั้งสามารถเข้าถึงสถานศึกษาและประชาชนได้แพร่หลายมากขึ้น เพราะความรับผิดชอบในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ดีนั้น ไม่ใช่หน้าที่เฉพาะโรงเรียนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ควรเป็นความร่วมมือร่วมใจกันสั่งสอนอบรม และเป็นแบบอย่างที่ดีจากทั้งครอบครัว ชุมชน และที่สำคัญ สังคมรอบๆ โรงเรียนต้องร่วมเป็นหูเป็นตา ร่วมตรวจสอบสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมให้ “โรงเรียน” เป็นจุดแก้โกง มากกว่า จุดเริ่มโกงแบบที่ผ่านมา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี