ผู้เขียนเคยได้กล่าวถึงแนวคิดอารยสถาปัตย์ไปในบทความ “Universal Design กับการต่อต้านคอร์รัปชัน” เมื่อปลายปีที่แล้ว ปีใหม่นี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะยกแนวคิดนั้นขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง เนื่องจากโครงการวิจัยสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน โดยศูนย์ Siam Lab ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เริ่มดำเนินการวิจัยในระยะที่สองแล้ว เพื่อขยายผลการศึกษาจากระยะแรกที่ถอดบทเรียนประเด็นปัญหา และการสร้างความร่วมมือในระดับชุมชน มาสังเคราะห์เพื่อสร้างเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชน
เมื่อวันที่ 26-27 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา คณะวิจัยจากกรุงเทพมหานครและนครราชสีมา ได้เดินทางไปยังอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อร่วมกิจกรรมสร้างเสริมสัมพันธ์ชุมชนและศักยภาพนักวิจัยในโครงการ “กลไกการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและการเฝ้าระวังติดตามคอร์รัปชันโดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา : พื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน” ซึ่งให้ความสำคัญต่อกลไกแก้ปัญหาจากล่างขึ้นบน และมีลักษณะเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ซึ่งเป็นการวิจัยโดยคนในชุมชนเอง
ระยะทางจากตัวเมืองน่าน ไปยังอำเภอบ่อเกลือ ผ่านอำเภอปัว ทำให้ผู้เขียนมีเวลามากพอที่จะสังเกตถึงความสมบูรณ์และสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติริมทาง แต่ในขณะเดียวกัน ความเว้าแหว่งของพื้นที่เขาบางส่วนก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของปัญหาที่ชุมชนเล็งเห็น จากการศึกษาในระยะแรก สถานการณ์คอร์รัปชันส่วนใหญ่ที่พบในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือมีความเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิทำกิน การแก้ปัญหาภัยพิบัติ และงบประมาณการพัฒนาพื้นที่ ทั้งโครงการปลูกป่า การสร้างฝายชะลอน้ำ การทำแนวกันไฟป่า เป็นต้น
กิจกรรมร่วมกับนักวิจัยพื้นที่กว่า 40 ท่าน ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในสามตำบล ทั้งดงพญา ตำบลบ่อเกลือใต้และตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จัดขึ้นที่ศาลาวัดนากุ่ม บ้านผักเฮือก โดยมีภูเขาเขียว ลมหนาวและหมอกโอบล้อมสำหรับผู้เขียนซึ่งไม่เคยทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนมาก่อนกิจกรรมตลอดสองวันนี้ท้าทายและเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทำความเข้าใจความละเอียดอ่อนของการสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อสังคม โดยกิจกรรมแบ่งเป็นสี่ช่วงใหญ่ คือ
หนึ่ง กิจกรรมระดมสมองเพื่อวาดภาพของดีในชุมชน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงทุนทางสังคมเเละทรัพยากรที่ชุมชนหวงแหน ทำให้ทราบว่าชาวบ้านให้ความสำคัญกับสิ่งใดร่วมกันมากที่สุด ในกิจกรรมนี้ทุกกลุ่มได้นำเสนอสิ่งที่เป็นของดีของชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าไม้ นาข้าว ต้นชมพูภูคา ปลาพวงหิน บ่อเกลือโบราณ รวมถึงสิ่งที่จับต้องได้ยากขึ้นอย่างวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนผ่านการทอผ้า วิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ
สอง การแสดงละครเพื่อสะท้อนปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนและวิธีการแก้ไขปัญหา จะทำให้ทราบประเด็นปัญหาที่คนในชุมชนประสบร่วมกันและขั้นตอนจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกกลุ่มนำเสนอประเด็นที่ไม่ซ้ำกันตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่า ไฟป่า วิกฤติน้ำแห้งขอด การบุกรุกป่าหรือพื้นที่ทับซ้อน หนี้สินทั้งในและนอกระบบ เเละการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร วิธีการเเก้ปัญหาที่แต่ละกลุ่มนำเสนอมักเป็นการเเจ้งเรื่องไปยังผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้เป็นตัวแทนในการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าที่ชาวบ้านจะจัดการปัญหากันเอง ความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่บ้านกับชุมชนจึงมีลักษณะกึ่งทางการ มีความเคารพเเละเกรงใจในตัวผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งการแสดงละครได้สะท้อนแนวคิดนี้ออกมาได้อย่างแยบคายผ่านการวางตำแหน่งสูง-ต่ำของตัวละครในเรื่อง
สาม กิจกรรมระดมสมองเพื่อวาดภาพการมีส่วนเกี่ยวข้องโดยหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อทราบถึงขั้นตอนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่นกับชุมชนในการจัดการปัญหาร่วมกันตั้งเเต่เกิดปัญหาขึ้น จนสามารถเเก้ปัญหาได้ ทุกกลุ่มได้นำปัญหาที่นำเสนอมาเขียนเป็นแผนภูมิการเเก้ไขปัญหา โดยระบุขั้นตอนในการเเก้ปัญหาเเละใส่รายชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เยอะที่สุด ทุกกลุ่มได้เเลกเปลี่ยนภาพปัญหาระหว่างกลุ่มเพื่อทดสอบผลสัมฤทธิ์ในการสื่อสารด้วยภาพ ซึ่งเป็นการสื่อสารการกระทำที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าแนวคิดที่สื่อสารด้วยภาพได้ยากจากนั้นกระบวนการได้ให้ทุกกลุ่ม ลดหน่วยงานรัฐออกจากแผนภาพ ให้เหลือเพียง 1-2 หน่วยงานเท่านั้น โดยข้อสรุปที่ได้จากทุกกลุ่ม พบว่าเเต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน หลายเรื่องสามารถจัดการแก้ไขได้เองภายในระดับท้องถิ่น เช่น ปัญหาไฟป่า ปัญหาการรับซื้อสินค้าเกษตร เป็นต้น โดยผู้ที่เข้ามามีบทบาทเเทนหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ คือ อาสาสมัครหรือเครือข่ายในชุมชนที่สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ รวมถึงกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีช่องทางในการให้ความช่วยเหลือหรือติดต่อประสานงานได้รวดเร็ว
สี่ การแสดงละครเพื่อสะท้อนภาพการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยลดการพึ่งพาหน่วยงานรัฐลง และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อทราบถึงศักยภาพของชุมชนในการจัดการปัญหาด้วยตนเองเเละเห็นวิธีการใช้ทุนทางสังคมเพื่อจัดการปัญหาให้สำเร็จในระดับพื้นที่
ความท้าทายที่พบตลอดทั้งการทำกิจกรรมมีทั้งการต้องพยายามทำตนให้กลมกลืนกับนักวิจัยท้องถิ่นด้วยการ “พูดภาษาเดียวกัน” และ “ฟังอย่างเข้าใจ” เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวลัวะและคุ้นเคยกับการใช้ภาษาถิ่น นักวิจัยเมืองที่ไม่เคยอู้กำเมืองก็ยิ้มรับทั้งด้วยความสนุกสนานและด้วยสายตากึ่งขออภัยในความไม่เข้าใจ ช่วงอายุที่หลากหลายก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานร่วมกันภายในกลุ่มต้องอาศัยการสื่อสารและการจัดกระบวนเพื่อขอความร่วมมือด้วยวิธีที่แตกต่าง แม้ตลอดกิจกรรมทั้งสองวันจะไม่มีการเอ่ยถึงคำว่ากระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือDesign thinking ผู้เขียนและคณะวิจัยเองก็ตระหนักได้ว่านี่เองคือสองขั้นตอนแรกของกระบวนการออกแบบโดยที่ผู้ใช้มีส่วนร่วม คือ การเข้าใจปัญหาอย่างถูกต้องด้วย Empathetic listening และการระดมความคิดนอกกรอบ และแม้ในการลงพื้นที่ครั้งแรกนี้ คณะวิจัยชุมชนในอำเภอบ่อเกลือ จะยังไม่อาจลงมือสร้างกลไกที่สมบูรณ์ อันป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของ Design thinking
ได้ แต่ชุมชนได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือการได้แสดงออกและประจักษ์ด้วยตนเองว่า ประชาชนมีอำนาจสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้จากต้นน้ำ ซึ่งแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่จะสามารถกระจายตัวเป็นเครือข่ายและทำงานอย่างเข้มแข็งขึ้น ก่อนจะรวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนปลายน้ำได้ต่อไป
เบ็ญจลักษณ์ เด่นดวง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี