การสร้างความตระหนักรู้ ให้คนตื่นตัว และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ควรให้เรียนรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ โดยเชื่อมโยงกับเรื่องใกล้ตัว สอนให้เด็กวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบของปัญหาคอร์รัปชันได้ด้วยตัวเอง เพราะรูปแบบของการคอร์รัปชันมีความซับซ้อนมากและเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่เรื่อยๆ ตามยุคสมัย ไม่สามารถสอนแบบบอกเล่าได้ทั้งหมด
วิธีการสอนให้คิดวิเคราะห์แบบนี้ ผู้เขียนได้ศึกษากรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ เรื่องหลักสูตรจริยธรรมออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ MERLOT Journal of Online Learning and Teaching ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความตระหนักรู้และพัฒนากระบวนการคิดการให้เหตุผลเชิงจริยธรรม โดยหลักสูตรดังกล่าวใช้วิธีการเรียนรู้แบบโสเครติส (Socratic) ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning อีกรูปแบบหนึ่ง โดยเรียนรู้ผ่านคำถาม ถามไปเรื่อยๆ จนผู้เรียนสามารถเข้าใจบทเรียนได้ คำถามจะเป็นลักษณะการกระตุกให้คิด กระตุ้นให้ใช้เหตุผลและตรรกะในการเรียนรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงได้ในชีวิตประจำวัน
ความน่าสนใจคือ เราจะสามารถเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยการเรียนออนไลน์ได้อย่างไร เพราะโดยทั่วไปแล้ว การเรียนออนไลน์คือการเรียนคนเดียว เรียนที่ไหนเวลาไหนก็ได้ แต่การเรียนแบบ Active Learning คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเน้นการมีส่วนร่วม การทำกิจกรรม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ยาก ดังนั้น การออกแบบคอร์สนี้จึงเป็นการตั้งคำถามเป็นหลัก กระตุ้นให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ผ่านสถานการณ์ตัวอย่าง และมีการบูรณาการรูปแบบการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning) เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจหลักจริยธรรมผ่านสถานการณ์จริง กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และเสริมสร้างกระบวนการคิดเพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ผ่านการสะท้อนความคิดตนเอง โดยในบทเรียนและแบบฝึกหัดจะไม่บอกว่าผิดหรือถูก แต่จะให้นักเรียนค้นหาความหมายและนัยที่ซ่อนในการตัดสินใจเชิงจริยธรรมด้วยตนเอง
หลักสูตรนี้มีทั้งหมด 4 บทเรียน ได้แก่ (1) การเรียนรู้แบบนักปรัชญา (Virtual Philosopher Learning) เป็นการฝึกการเรียนรู้โดยใช้คำถาม ให้ผู้เรียนได้ทบทวนความคิดของตนในประเด็นทางจริยธรรมที่ยากต่อการตัดสินใจ (ethical dilemma) ผ่านสถานการณ์ต่างๆ เช่น ให้ผู้เรียนตัดสินใจเลือกว่า คุณค่าของมนุษย์เท่ากันหรือไม่ และยกสถานกาณ์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายตับที่มีเรื่องราวว่า คุณสามารถปลูกถ่ายตับได้เพียง 1 คน แต่มีคนที่ต้องการตับนี้ถึง 3 คน ในเหตุผลและความจำเป็นที่ต่างกัน ผู้เรียนจะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร หรืออาจจะยกสถานการณ์มาให้แล้วถามว่า หากผู้เรียนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจะทำอย่างไร (2) การกระจายอย่างเป็นธรรม (Distributive Justice) ผู้สอนจะอธิบายหลักการของการกระจายอย่างเป็นธรรมก่อน และจากนั้นจะมีสถานการณ์ให้เลือกว่า หากเจอเหตุการณ์แบบนี้เราจะกระจายสินค้าแบบไหนไป เป็นชุดคำถามต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และสุดท้ายจะมีการวิเคราะห์ผลจากการเลือกของเราว่าอยู่บนหลักการใด อย่างไร และส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างไร (3) ทรัพย์สินทางปัญญา (Digital Property) จะให้เลือกความหมายของคำว่า “ขโมย” ในความคิดของผู้เรียน และจากนั้นจะมีสถานการณ์ตัวอย่างมาให้ฝึกวิเคราะห์ว่าใช่ขโมยหรือไม่ โดยประเด็นที่ต้องวิเคราะห์แยกแยะจะเข้มข้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องขโมยไปจนถึงหลักคุณธรรม ศีลธรรม และบทเรียนสุดท้าย (4) คุกกี้โด (Cookie Dough) หรือแป้งคุกกี้ดิบ เป็นการชวนผู้เรียนคิดผ่านการเปรียบเทียบคุกกี้กับมนุษย์ คือ จากคุกกี้โดนี้ เมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่าคุกกี้ได้ เมื่อผสมส่วนประกอบต่างๆ ในถ้วย เมื่อโดถูกวางในเตาอบ เมื่ออบใกล้เสร็จแล้ว หรือเมื่อเอาออกมาจากเตาอบเป็นคุกกี้ เช่นเดียวกับการเป็นมนุษย์ เมื่อไหร่เราจึงจะเรียกว่าคนนั้นเป็นมนุษย์ เมื่อตั้งครรภ์ เมื่อเกิดการฝังตัว เมื่อเป็นทารกในครรภ์ หรือเมื่อออกมาลืมตาดูโลก บทนี้จะไม่ใช่การเล่าเรื่องให้คิดตามไปเรื่อยๆ แต่เป็นการชวนคิดผ่านการทำคุกกี้จริงๆ ทำให้ผู้เรียนเห็นภาพตาม และสนุกไปกับการเรียน
ทั้งนี้ในทุกบทเรียนจะมีกระบวนการหลัก 3 อย่าง คือ (1) เปิดบทเรียนด้วยแนวคิด/หลักการของประเด็นนั้นๆ (2) ในระหว่างการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการตั้งคำถาม ผ่านสถานการณ์ตัวอย่าง และมีตัวเลือกให้ตอบ โดยใช้การตัดสินใจเชิงตรรกะที่แตกกิ่งก้านสาขาไปเรื่อยๆ (logical decision tree) คือ การเลือกของผู้เรียนจะไม่มีถูกผิด แต่ทุกตัวเลือกจะนำไปสู่ผลขั้นต่อไปที่แตกต่างกัน และสุดท้าย (3) ปิดบทเรียนด้วยการวิเคราะห์ผลการเลือกของผู้เรียนที่สอดคล้องกับหลักการที่ผู้เรียนเชื่อเหตุและผลของการเลือก และที่สำคัญคือจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันอย่างไร
การเรียนรู้จะเริ่มจากการตั้งคำถามกับผู้เรียนก่อนเสมอ แม้เป็นเชิงหลักการ ทฤษฎี ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกสิ่งที่ตนเชื่อหรือเห็นด้วย แล้วค่อยให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดไปเรื่อยๆ ให้เข้าใจถึงเหตุและผลของสิ่งที่ตนเลือก และไม่ใช้หลักการคุณธรรมจริยธรรมเป็นตัวนำ แต่ใช้สถานการณ์ตัวอย่างแทน แล้วจึงอธิบายหลักการต่างๆ ในสถานการณ์นั้นๆ ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ลึกกว่า สร้างคุณค่า และสรุปผลเป็นความรู้ของตนเองได้ ข้อดีของการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ คือ ผู้เรียนจะกล้าตอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่เขินอาย ไม่ประหม่า หรือกลัวใครจะตัดสิน และการที่ไม่มีเวลามากำหนด สามารถเรียนนานแค่ไหนก็ได้ เรียนซ้ำกี่รอบก็ได้ ทำให้เรียนรู้ได้ลึกขึ้น ได้ทบทวนความคิดตัวเองไปเรื่อยๆ
การออกแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยวิธีการเรียนรู้ผ่านคำถาม หรือ โสเครตีส ทำให้หลักสูตรออนไลน์มีความน่าสนใจมากขึ้น ผู้เรียนสามารถฝึกคิดวิเคราะห์ และสนุกกับการเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับการเรียนในห้องเรียน
กัญญารินทร์ เวียงอินทร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี