จบไปแล้วสำหรับการประกวดนางงามที่คนไทยทุกคนรอคอยกับเวที Miss Universe 2019 ที่มีสาวงามกว่า 90 ประเทศเข้าประกวด แม้ว่าเราจะได้ผู้ชนะไปแล้วแต่กิจกรรมที่เป็นที่สนใจของแฟนๆ หลังจากนี้ คือ การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นคำถามที่นางงามแต่ละประเทศได้รับในรอบ TOP 5 ซึ่งในฐานะแฟนนางงามจึงอดไม่ได้ที่จะนำประเด็นคำถามและคำตอบบนเวทีของฟ้าใสมาขยายความผ่านมุมมองของผู้เขียนที่อยู่ในเวทีของการต่อต้านคอร์รัปชันว่าประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไรและเราเรียนรู้อะไรจากคำถามนี้บ้าง
สตีฟ ฮาร์วีย์ พิธีกรบนเวที ยิงคำถามแก่ ฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น ตัวแทนประเทศไทยเกี่ยวกับความเห็นของเธอต่อนโยบายของรัฐบาลในการรักษาความปลอดภัยของประชาชนแต่ในขณะเดียวกันการกระทำเหล่านั้นก็เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของประชาชน และให้เธอเลือกตอบว่าอะไรสำคัญกว่าระหว่าง “ความมั่นคง/ความปลอดภัย” กับ “ความเป็นส่วนตัว” ซึ่งฟ้าใสให้คำตอบว่า “รัฐบาลไม่ควรก้าวล่วงสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนแต่ความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะหาจุดตรงกลางอย่างไรเพื่อให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย” ซึ่งคำตอบของฟ้าใสนับเป็นคำตอบที่ดีทีเดียว และผู้เขียนเห็นด้วยว่ารัฐบาลควรคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมาเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สะท้อนว่ารัฐยังล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวของประชาชน โดยเฉพาะในมิติของการต่อต้านคอร์รัปชันและการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลผ่านการใช้เทคโนโลยีการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข่าวสารบนระบบอินเตอร์เนตซึ่งเป็นวิธีการต่อต้านคอร์รัปชันอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมการต่อต้านคอร์รัปชัน
วิธีที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงสร้างความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกยุคดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างด้วยปลายนิ้ว แต่ทว่าความสะดวกสบายนั้นย่อมทำให้ความเป็นส่วนตัวดูเลือนรางออกไป เพราะทุกการกระทำบนโลกดิจิทัลต่างเก็บร่องรอยเอาไว้เสมอและบางครั้งร่องรอยที่ว่าก็สามารถสาวกลับมาที่ต้นทางได้หากสิ่งที่เราสืบค้นหรือโพสต์เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่เห็นชอบ จึงเป็นเหตุผลให้เกิดการผลักดันสิทธิของพลเมืองในยุคดิจิทัลขึ้น โดยเป็นการต่อยอดจากหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชนมาสู่กฎบัตรว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานสำหรับอินเตอร์เนต (Charter of Human Rights and Principles for the Internet) โดยสิทธิดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการใช้อินเตอร์เนตอย่างเสรีภาพโดยปราศจากการถูกข่มขู่คุกคามเพื่อให้การเข้าถึงอินเตอร์เนตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีกลุ่มคนบางกลุ่มใช้อินเตอร์เนตเป็นเครื่องมือในการก่อการร้าย การปลุกระดม และสร้างข่าวเท็จที่ทำให้เกิดความแตกตื่นในสังคม (fake news) ทำให้รัฐบาลเริ่มหันมาควบคุมการใช้งานอินเตอร์เนตมากขึ้น และภายหลังกลายมาเป็นเหตุผลหลักของรัฐบาลในการเข้าสืบค้นหรือสอดแนมข้อมูลของประชาชนที่มากเกินความจำเป็นซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของประชาชนที่แลกมากับความมั่นคงของประเทศ
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนอย่างเดียวเท่านั้นแต่เป็นข้อเท็จจริงที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่รัฐบาลได้เข้ามาสอดแนมการใช้อินเตอร์เนตและล้วงลึกข้อมูลส่วนตัวของประชาชนจนนำไปสู่การจับกุมผู้ที่เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐบาล โดยศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (2562) อ้างถึงรายงาน Freedom of the Net 2019 ที่ทำการสำรวจเสรีภาพการใช้อินเตอร์เนตจาก 65 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่ไร้เสรีภาพทางอินเตอร์เนต และได้ระบุว่ามี 40 ประเทศที่ได้จัดตั้งโครงการเฝ้าระวังการใช้งาน social media ของประชาชนขั้นสูงสุด นั่นหมายความว่าร้อยละ 89 ของผู้ใช้งานอินเตอร์เนตทั่วโลกถูกตรวจสอบโดยรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในข้อมูลที่รัฐบาลเฝ้าระวังมากที่สุด คือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของผู้นำระดับสูงของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นสาเหตุหลักที่บั่นทอนการพัฒนาของประเทศอย่างร้ายแรง แต่เพราะเหตุใดข้อมูลเหล่านี้ถึงกลายเป็นข้อมูลที่รัฐบาลพยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนรู้เห็นและนำมาซึ่งการจับกุม ข่มขู่ คุกคามประชาชนที่แสดงความเห็นหรือแบ่งปันข้อมูลเหล่านั้นบนโลกออนไลน์
ความพยายามของรัฐบาลในการปิดกั้นข้อมูลด้านการทุจริตคอร์รัปชันและลงโทษประชาชนที่แบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่ใช้พลังของ Social Media ในการต้านโกง เพราะประเด็นเรื่อง “ความมั่นคง ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว” ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน เนื่องจากประเด็นเหล่านี้ช่วยลดทอน “ความกลัว” ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมาเปิดหน้าสู้กับคอร์รัปชัน รวมถึงการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของประชาชนและการคุกคามจากภาครัฐ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารงานของรัฐบาลและความเป็นอิสระในการตรวจสอบการทำงานโดยภาคประชาชน เพราะกลไกในการร่วมตรวจสอบจะเกิดขึ้นไม่ได้หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและรัฐไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ข้อจำกัดเหล่านี้จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการร้องเรียนเรื่องการทุจริต และการเป่านกหวีด (Whistleblower) ในภาคประชาชน เพราะรัฐไม่สามารถส่งมอบกลไกที่มีความมั่นคงมากพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผล
ปัจจัยดังกล่าวถูกระบุในผลการศึกษาเบื้องต้นของวิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์ และคณะ (2562) ในงานวิจัยเรื่องราชการไทยไร้คอร์รัปชัน : การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการแจ้งเบาะแสการทุจริต ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ได้ทำการศึกษาทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 2,070 คน จาก 7 หน่วยงานเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแสการทุจริต พบว่า การร้องเรียนการทุจริตนั้นมีต้นทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการแสวงหาข้อมูลหรือพยานหลักฐาน ต้นทุนความไม่ปลอดภัยในชีวิต ต้นทุนความมั่นคงในอาชีพ ต้นทุนโอกาสที่จะถูกกลั่นแกล้งหรือถูกคุกคามจากหน่วยงาน รวมไปถึงต้นทุนที่เกิดจากความล่าช้าของหน่วยงานรัฐในการดำเนินคดีตั้งแต่กระบวนการรับเรื่องและการไต่สวน และได้สรุปว่าปัจจัยที่จะเอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐออกมาแจ้งเบาะแสมากขึ้นนั้น คือการแจ้งจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนและเพิ่มภาระให้กับผู้ร้องเรียน ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชนจากการทำ crowdsource เรื่องประสบการณ์ร้องเรียนการทุจริตต่อหน่วยงานภาครัฐใน “เพจต้องแฉ” พบว่า ปัญหาที่พบในการร้องเรียนผ่านหน่วยงานของภาครัฐ คือ การไม่ได้รับความคุ้มครองจากหน่วยงานในการปกปิดตัวตนผู้ร้องเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการทำงานของหน่วยงานรัฐ (เพจต้องแฉ, 2562) ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งทำ คือ การสร้างกลไกที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้แจ้งเบาะแสและระบบคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดเหล่านี้ ยังคงปรากฏอยู่ในเเนวทางการคุ้มครองผู้เเจ้งเบาะเเสการทุจริต โดยผู้แจ้งเบาะแสต้องเปิดเผยตัวตนด้วยการระบุชื่อ-สกุล บัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้หน่วยงานติดต่อกลับและได้ให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ เรียกหาพยานและหลักฐานเพิ่มเติมโดยตรงกับผู้ร้องเรียน และมีการกำหนดโทษในกรณีที่เรื่องร้องเรียนนั้นเป็นเท็จ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่าอาจทำให้เกิดการบิดเบือนข้อมูลและกลายเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตอบโต้ผู้แจ้งเบาะแสได้ เพราะในขณะที่รัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นในข้อมูลที่ได้รับจากประชาชน แต่ประชาชนที่เป็นผู้แจ้งเรื่องกลับถูกลดทอนความเป็นส่วนตัวลง อย่างไรก็ตามในต่างประเทศ มีความพยายามที่จะนำกลไกด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้รับมากกว่าการผลักภาระและความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการร้องเรียนให้กับประชาชน เช่น การทำเหมืองข้อมูล (data mining) การนำเสนอหลักฐานทางดิจิทัล (forensic tools) การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (artificial intelligence) รวมถึงการสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ (open data) อย่างครอบคลุมเพื่อให้ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบในเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลได้อย่างสะดวกและไม่สร้างภาระที่มากเกินไปให้กับประชาชน
ดังนั้น หากเวที Miss Universe ในครั้งนี้ คือ การประกวดเฟ้นหาผู้ที่สนใจเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ผู้เขียนคงจะต้องตอบคำถามของสตีฟว่า หากเราต้องการให้ประชาชนออกมาต้านโกง เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะการต่อต้านคอร์รัปชันมีต้นทุนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะความกลัว หากเราไม่พยายามลดต้นทุนให้ต่ำลงด้วยการสร้างระบบที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวและสนับสนุนให้การต้านโกงเป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย เราคงไม่สามารถสร้างแนวร่วมในการต้านโกงได้สำเร็จ และหากรัฐบาลเชื่อว่าประชาชนที่ตื่นรู้สู้โกง คือ ทรัพยากรสำคัญในการต้านโกง สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ การสร้างระบบนิเวศที่ปลอดภัยของการต่อต้านคอร์รัปชันภายใต้หลักการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวเพื่อคุ้มครองประชาชนที่ต้องการเข้ามาต่อต้านคอร์รัปชันและสร้างความเชื่อมั่นในกลไกการร้องเรียนของภาครัฐให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย
สุภัจจา อังค์สุวรรณ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี