ในแต่ละปีงบประมาณของประเทศไทยรั่วไหลออกไปจากการคอร์รัปชันกว่า 3 แสนล้านบาท การประมาณการนี้อาจไม่ไกลจากความเป็นจริงเลย หากประเมินจากตัวเลขที่ผู้ประกอบการทั่วประเทศให้ข้อมูลว่าต้องจ่ายสินบนในการทำธุรกิจโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 25-30 จากงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุนปีละกว่าล้านล้านบาท และยังมีการคาดการณ์ต่อว่าถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์ยังรุนแรงเช่นนี้ต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าการทุจริตอาจสูงถึง 5 แสนล้านบาทต่อปี (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ,2556)
ด้วยความสูญเสียที่มากมายขนาดนี้ ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่าคอร์รัปชันคือปัญหาอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลกระทบเชิงลบในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง (พิเศษ สอาดเย็น และ ธงทอง จันทรางศุ, 2559) โดยจากรายงานการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: แนวโน้ม นโยบาย และแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย (สมชัย จิตสุชน,2556) ที่ได้ศึกษาถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำพบว่า นอกจากการคอร์รัปชันจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าลง อัตราภาษีก้าวหน้าลดลง มีการใช้จ่ายในสังคมน้อยลงแล้ว การคอร์รัปชันยังส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมและทำให้ระดับความยากจนของคนในสังคมนั้นสูงขึ้น คนในสังคมจึงมีโอกาสที่จะคอร์รัปชันมากขึ้น เพราะเชื่อที่ว่าการคอร์รัปชันจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่ของตนเองดีขึ้นได้โดยที่ไม่
รู้สึกผิด
จากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้เขียนจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ตลอดการเรียน 15 ปีในรั้วโรงเรียน และอีก 4 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัย การปลูกฝังองค์ความรู้เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันถูกพูดถึงอย่างไรในระบบการศึกษาที่ผ่านมา หรือเคยมีใครมาตั้งคำถามกับเราบ้างไหมว่าในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของประเทศเราจะเป็นส่วนหนึ่ง (Accountability) ที่ทำสถานการณ์นี้ดีขึ้นได้อย่างไร ?
ผู้เขียนจึงได้ไปทำความเข้าใจโครงสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้เรื่องคอร์รัปชันและการสร้างระบบที่ดีในการแก้ไขปัญหาเรื่องคอร์รัปชันในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) พบว่า เนื้อหาเรื่องคอร์รัปชันส่วนใหญ่จะอยู่ในรายวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นหลัก รองลงมาคือวิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาประวัติศาสตร์ โดยมีจุดเน้นสำคัญเป็นการผูกโยงเนื้อหาการเรียนรู้เข้ากับการปลูกฝังผู้เรียนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม และมีจริยธรรมเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงการปลูกฝังเรื่องคอร์รัปชันในมิติของสังคมศาสตร์ (SocialScience) เพียงมิติเดียวอาจจะไม่สามารถนำไปสู่แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันได้ เพราะนอกจากเรื่องศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมแล้ว ยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับข้องกับมิติของวิทยาศาสตร์ (Natural Science) และจิตวิทยา (Psychology) ที่คุณครูผู้สอนสามารถตีความและสอดแทรกเรื่องราวเหล่านี้เข้าไปในคาบเรียนของตนเองได้
ข้อสังเกตนี้สามารถพิสูจน์ได้จากที่ผู้เขียนได้ทดลองนำหลักสูตรเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่าสิบหลักสูตรไปประยุกต์ใช้ กับนักเรียนในจำนวน 4 โรงเรียน เพื่อค้นหาว่านักเรียนมีความเข้าใจต่อต่อคำว่า โกง ทุจริต และ คอร์รัปชัน อย่างไร และนักเรียนคิดว่าตัวเองสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่แค่ไหน ผลจากกระบวนการพบว่า การกระทำที่เข้าข่ายโกง ทุจริต และ คอร์รัปชัน ที่นักเรียนให้ความสำคัญและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใกล้ตัว เช่น การซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งประธานนักเรียน โดยการที่มีผู้สมัครจากชั้นประถมปลาย ไปบอกน้องๆ ประถมต้นหรืออนุบาลว่าจะซื้อขนมให้ถ้าหากว่าเลือกตนเอง หรือการหยักยอกเงินสหกรณ์ในโรงเรียน โดยผู้ที่ยักยอกเป็นคนที่ไปช่วยครูขายของ แต่ไม่สามารถระบุคนทำได้ โดยทั้ง 2 ตัวอย่างเหตุการณ์ข้างต้นพบว่านักเรียนให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้เพราะพวกเขาได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อนโดยตรง เช่น ได้ประธานนักเรียนที่บริหารงานไม่เป็นจนสุดท้ายครูต้องจัดเลือกตั้งใหม่ หรือพวกเขาไม่ได้รับเงินปันผลจากสหกรณ์ เพราะครูบอกว่าเงินถูกขโมยและไม่สามารถจับตัวคนขโมยได้ โดยไม่ได้สนใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี และในกระบวนการที่ผู้เขียนนำไปใช้นั้นก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณธรรมหรือความดีแต่อย่างใดเช่นกัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถทำให้ผู้คนเห็นว่าเรื่องราวการคอร์รัปชันมันส่งผลกระทบและทำให้พวกเขาได้รับความเดือดร้อนโดยตรงได้อย่างไรบ้าง เมื่อนั้นพวกเขาก็จะเกิดความต้องการหรือความอยากรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะให้ตนเองไม่ต้องเดือดร้อนจากเรื่องเหล่านี้อีก ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดความรู้ในการสร้างธรรมภิบาลในโรงเรียนได้
ดังนั้น การต่อต้านคอร์รัปชันที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่การรอพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาไล่ล่ากลุ่มคนที่คอร์รัปชัน แต่มันคือการช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบที่ดีที่สามารถป้องกันการเกิดคอร์รัปชันหรือการสร้างธรรมาภิบาลได้ตั้งแต่แรก โดยหน่วยงานของรัฐต้องออกแบบองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการทำงานตรวจสอบเรื่องทุจริตด้วยความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่มีข้อยกเว้นให้กับผู้มีอำนาจ โดยสื่อมวลชน และ ประชาชน มีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานและการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐอย่างรอบด้าน เพื่อรู้เท่าทันสถานการณ์คอร์รัปชันต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และเมื่อทุกภาคส่วนมีระบบดีแล้ว ต่อให้มีคนคิดจะคอร์รัปชันเกิดขึ้นไม่ว่าในระดับไหน ก็จะสามารถทำได้ยากหรืออาจถึงขั้นทำไม่ได้เลย (ประจักษ์ ก้องกีรติ, 2559)
คำถามสำคัญในตอนนี้คือ “เราจะออกแบบโรงเรียนหรือห้องเรียนที่ทำให้การพูดถึงเรื่องคอร์รัปชันและการปลูกฝังธรรมภิบาลมีมิติหรือบริบทที่สร้างสรรค์และแตกต่างไปจากเดิมได้อย่างไร” เพื่อปลูกฝังองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมให้นักเรียนสามารถรับมือกับสถานการณ์การคอร์รัปชันในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบในสังคมที่ดีโดยเริ่มจากสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้ในชีวิตประจำวันในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมได้ และคงจะดีไม่น้อยหากการพูดคุยปัญหาเรื่องคอร์รัปชันและการมีส่วนร่วมในการสร้างระบบในสังคมที่ดีในโรงเรียนจะถูกรวบรวมและถอดบทเรียนเอาไว้ผ่านเครื่องมือหรือตัวกลางบางอย่างเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันของคุณครูที่มาแลกเปลี่ยนพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียนของตนเอง เพื่อให้นักเรียนมีความรู้และความเข้าใจต่อผลกระทบที่ตามมาของการคอร์รัปชัน และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อไปต่อยอดการเรียนรู้ของตนเองได้ต่อไปในอนาคต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี