เมื่อกล่าวถึงคำว่า “โรงเรียนดีมีคุณภาพ” ตามทัศนคติของคนทั่วไปอาจใช้ความมีชื่อเสียง ความเป็นเลิศทางวิชาการ หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการสอบวัดผลของนักเรียนเป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพของสถานศึกษาในประเทศเกือบจะทั้งหมด จากมุมมองที่ว่านี้เองก็นำมาสู่กระบวนการเชิงนโยบายที่มีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนแบบเส้นตรงตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา เมื่อไม่นานมานี้ท่านอาจได้ยินข่าวการเสนอแนวนโยบายของรัฐ ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนอีลิท (elite school)ที่แปลว่า “โรงเรียนของชนชั้นนำ” เพิ่มขึ้นมา เพื่อตอกย้ำการยกระดับคุณภาพโรงเรียนไทยที่มุ่งเน้นพัฒนาแต่เพียงมิติของความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการ โดยมีหลักในการคัดกรองและส่งเสริมเฉพาะเด็กเก่งและเป็นเลิศเพียงเท่านั้น ซึ่งก็มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านจากผู้คนจำนวนมากต่อแนวคิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากทั้งสองด้านของเหรียญ ผู้เขียนมองว่าการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนแบบขาเดียวนั้นคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่น้อย หากการพัฒนาที่ว่านี้เป็นการพัฒนาที่เน้นชูความเป็นเลิศ แต่กลับซุกซ่อนปัญหาอีกมากมายหลายด้านของโรงเรียนเอาไว้ใต้พรม
เราคงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าที่ผ่านมาการศึกษาไทยของเราเน้นเพียงการพัฒนาคุณภาพในด้านใด คำถามที่เกิดขึ้นตามมา แล้วใครบ้างที่ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนานี้? ถึงแม้ยุทธศาสตร์เหล่านี้จะวางทิศทางการทำงานมุ่งไปที่ “เด็กนักเรียน” โดยยึดหลักการตอบสนองความต้องการและความสนใจของเด็กเป็นที่ตั้ง แต่ตัวแสดงนี้กลับไม่ถูกพูดถึงบทบาทที่พวกตนจะร่วมพัฒนาคุณภาพภายในโรงเรียนของตนได้เลย เพราะแผนดำเนินงานต่างๆ มักกล่าวถึงแค่บุคลากรการบริหารจัดการโรงเรียนและคุณครู แม้ในช่วงหลังจะพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนมากขึ้น แต่สุดท้ายการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนก็ยังเป็นเพียง “เรื่องของผู้ใหญ่”
ทั้งนี้ หนึ่งในปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม ก็คือ ปัญหาคุณภาพการให้บริการเชิงกายภาพในโรงเรียน ซึ่งได้สร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคุณภาพที่เด็กนักเรียนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การมีโต๊ะเรียนที่ไม่เพียงพอการมีห้องน้ำที่ขาดความปลอดภัยตามมาตรฐาน หรือการจัดตั้งโรงอาหารที่ไม่เป็นไปตามหลักสุขอนามัยพื้นฐาน เป็นต้น
กอปรกับในปัจจุบัน Twitter ได้กลายมาเป็นช่องทางออนไลน์ที่เด็กนักเรียนรุ่นใหม่จำนวนมากใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนของตน เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ยอมให้เสียงของพวกตนถูกซุกไว้ใต้พรมอีกต่อไป และได้ขยายพรมแดนของปัญหาออกไปในวงกว้างจนเกิดเป็นกระแสที่เด็กรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาท้าทายระบบการบริหารจัดภายในโรงเรียน ผ่านการติด hashtag โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น #savebcc#เกียมอุดม #โยธินมรณะ #โรงเรียนมัธยมหลังเขา หรือ #โรงเรียนชื่อดังย่านเอกชัย เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโรงเรียนนั่นเอง
“เสียง” เหล่านี้ก็คือการสะท้อนถึงความอึดอัดไม่พอใจของเด็กนักเรียนรุ่นใหม่ต่อการบริหารจัดการภายในโรงเรียนที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้เป็นเวลานาน จนนำมาสู่การแสดงออกผ่านแพลตฟอร์มที่พวกตนรู้สึกถึงการมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หากแต่ถูกมองข้ามในการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้
จากสภาวะความคับข้องใจที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนอย่างกว้างขวาง ได้จุดประกายแนวคิดในการเปลี่ยนความตึงเครียดให้กลายเป็นความร่วมมือผ่านการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียน (from tension to participation) โดยทีมนักวิจัยจาก Siam Lab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มดำเนินโครงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในโรงเรียน (School Governance) ภายใต้โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน (ระยะที่ 2) สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งได้ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ศึกษา เปิดพื้นที่ให้นักเรียนในฐานะเยาวชนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นผ่านกลไกในการร่วมสำรวจโรงเรียนของตน เกิดการรวบรวมชุดข้อมูลเปิด (open data)เกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการของโรงเรียนได้ อีกทั้งนักเรียนยังได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันผ่านการลงมือทำจริง
ความสำคัญของโครงการวิจัยนี้คือการสร้างแพลตฟอร์ม “We The Students” อันเป็นพื้นที่ออนไลน์ให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจคุณภาพการให้บริการของโรงเรียน ผ่านการจัดกระบวนการที่ชื่อว่า “กิจกรรม Schools Through Our Eyes” และสามารถรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างปลอดภัยโดยไม่เปิดเผยตัวตน (school checklist) นำไปสู่การร่วมกันปรับปรุงคุณภาพของโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้น และจัดทำชุดข้อมูลเปิดในโรงเรียน (school data) ที่มาจากความต้องการของนักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเพิ่มมิติของแนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้กับภาครัฐได้ รวมถึงเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ธรรมาภิบาลในกลุ่มนักเรียน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโรงเรียน (school sharing) โดยยึดการออกแบบแพลตฟอร์มให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 3 ป. ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้แก่ “ปลูกฝัง-ป้องกัน-เปิดโปง” ในการสร้างกลุ่มพลเมืองตื่นรู้สู้โกงในระดับเยาวชน การสร้างช่องทางสำรวจคุณภาพการให้บริการของโรงเรียน และการจัดทำข้อมูลเปิดเพื่อส่งเสริมการร่วมกำกับและตรวจสอบโรงเรียน อันจะเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับบุคลากรการบริหารจัดการโรงเรียนและเจ้าหน้าที่รัฐนำไปปรับปรุงคุณภาพของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ความท้าทายของงานวิจัยชิ้นนี้คือการสร้างความมั่นใจให้กลุ่มเด็กนักเรียนรู้สึกได้ว่า “เสียง” ของพวกตนนั้นมีความหมาย เสียงที่นอกจากจะส่งไปถึงกลุ่มนักเรียนด้วยกันแล้ว ก็ยังถูก “รับฟัง” จากกลุ่มผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น “อย่างสร้างสรรค์” และสร้างข้อเสนอแนะที่เริ่มมาจากการมีส่วนร่วมของพวกตน (bottom-up) นำไปสู่ผลลัพธ์ของการเป็น “โรงเรียนดีมีคุณภาพ” โดยไม่ต้องอาศัยกลไกและมุมมองการพัฒนาคุณภาพจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวอันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยไม่เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง และนับเป็นการเปลี่ยนความตึงเครียดให้กลายเป็นความร่วมมือผ่านการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียนได้อย่างแท้จริง
โดยผู้อ่านสามารถติดตามความคืบหน้าโครงการผ่านทาง “เฟซบุ๊คเพจ Siam Lab
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี