Marc Lipsitch ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา พลศาสตร์โรคติดต่อ ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้พูดถึงโรคระบาดโคโรนาไวรัส หรือ COVID-19 ว่าอาจจะเป็นไข้หวัดร้ายแรงที่สุดแห่งยุคนี้ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่า COVID-19 ดูเหมือนจะเป็นไข้หวัดชนิดหนึ่งที่เลวร้ายที่สุดของปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เนื่องจากขณะนี้องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ การระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 เป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) และรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ผู้เขียนได้เขียนบทความนี้อยู่ มียอดผู้ติดเชื้อรวม 121,564 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 4,373 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563 โดย Johns Hopskins CSSE) สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 59 ราย เสียชีวิตแล้ว 1 ราย โดยหวังใจอย่างยิ่งว่าวันที่บทความนี้ได้ตีแผ่หรือวันที่ผู้อ่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง
การแพร่ระบาดไปทั่วโลกที่เกิดขึ้นของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนและปรากฏอย่างเห็นได้ชัดคือ ภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานในการป้องกันเชื้อโรคเบื้องต้นที่ประชาชนจะดูแลตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย ตัวอย่างภาวะการขาดแคลนนี้เห็นได้ชัดจากการติดป้ายของร้านค้า ร้านขายยาที่ผ่านมาว่าไม่มีหน้ากากอนามัยบ้าง หน้ากากอนามัยขาดตลาดบ้าง รวมไปถึงตัวอย่างเช่น คำแถลงการณ์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เรื่อง กรณีการบริหารจัดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ตอนหนึ่งใจความว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลไม่สามารถจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัยชนิด N95 หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพยท์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น
เมื่อสินค้าอย่างหน้ากากอนามัย ไม่เพียงพอต่อความต้องการในภาวะวิกฤติโรคติดเชื้อโคโรนานี้ ผู้ประกอบการบางส่วนจึงมีการกักตุนสินค้าและหรือจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินสมควร ซึ่งข่าวร้อนแรงที่ผ่านมาจากแฮชแท็ก #Saveแหม่มโพธิ์ดำ เรื่องราวมาจากเพจเฟซบุ๊ค “แหม่มโพธิ์ดำ” ได้เผยแพร่เรื่องราวการกักตุนหน้ากากอนามัยและนำไปขายเกินราคาของผู้ประกอบการท่านหนึ่ง และจากเพจเฟซบุ๊ค “ต้องแฉ” ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลต่อประเด็นดังกล่าวว่า ไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ และพบเห็นผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยขายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ราคาสูงเกินความจำเป็น เช่น 50 ชิ้น ราคา 600-800 บาท หรือตกแผ่นละมากกว่า 10 บาทเลยทีเดียว ซ้ำไปกว่านั้นมีกระแสข่าวต่อมาคือ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่าภาพรวมการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือนม.ค. และ ก.พ. 2563 รวม 2 เดือน มีการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งสิ้นกว่า 330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท แม้ต่อมากรมการค้าภายในจะออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงแต่ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมต่อประเด็นนี้อย่างมาก ทุกคนหันมาให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ ร่วมหาคำตอบกันว่าในขณะที่ประชาชนทั่วไปหาซื้อหน้ากากได้ยาก แต่กลับมีผู้ส่งออกหน้ากากจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างไร
จากปัญหาการกักตุนและโกงราคาหน้ากากอนามัยทั้งหลายนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตได้ว่าประชาชนเริ่มตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป จนไม่อาจทนต่อพฤติกรรมโกงกินเหล่านี้ได้อีกต่อไป ทุกคนพยายามมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหา ช่วยกันสอดส่อง ตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูลที่ส่อความไม่ชอบมาพากล อย่างไม่รีรอการจัดการของภาครัฐอีกต่อไป นัยหนึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการบริหารจัดการของรัฐลดน้อยลง แต่ยังคงหวังว่ารัฐจะสนับสนุนและปกป้องให้ทุกคนสามารถร่วมลงมือกันเปิดโปงการโกงกินต่างๆ ได้อย่างไม่ต้องกังวลหรือกลัวการโดนข่มขู่และคุกคาม รวมถึงต้องการให้รัฐบาลแสดงถึงความจริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหา เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนคนไทยในภาวะวิกฤติเช่นนี้
ผู้เขียนมีความเห็นว่า สิ่งที่รัฐจะสร้างความเชื่อมั่นในยามวิกฤตินี้ได้ ทั้งในแง่การระบาดของโรค และแง่ของความรับผิดชอบต่อปัญหาโกงกินทั้งหลายที่เกิดขึ้น คือ การแสดงออกถึงภาวะผู้นำประเทศ สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เรียกขวัญกำลังใจของประชาชน แสดงให้เห็นถึงมาตรการที่ชัดเจนและลงมือทำอย่างรวดเร็ว ให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันท่วงที โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะ 5 ปี (ปีพ.ศ. 2560 – 2564) กำหนดว่าในประเด็นภาวะวิกฤติจะต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบูรณาการทำงานของหน่วยงานทุกงานที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลถึงประชาชนในแบบรวมศูนย์ เมื่อมองมาที่สถานการณ์ปัจจุบันลองตั้งคำถามกันดูว่า สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้จริงในสถานการณ์ขณะนี้แล้วหรือไม่อย่างไร และสิ่งสำคัญในตอนนี้อีกประการหนึ่งคือ การจะทำอย่างไรให้พลังแห่งความต้องการเปิดโปงของประชาชน สามารถสู้กับวิกฤติการโกงกินนี้ได้ เมื่อพูดถึงการต่อสู้นี้แล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า การต่อสู้ของประชาชนต้องไม่สูญเปล่า รัฐต้องแสดงถึงจุดยืนความจริงใจ มีกลไกปกป้องประชาชนผู้เผยข้อมูลไม่ให้ถูกคุกคาม หรือกล่าวได้ว่ารัฐควรมีความจริงใจและจริงจังต่อมาตรการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล (Whistleblower Protection Act) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อสร้างหลักประกันและเอื้อให้ประชาชนพร้อมเปิดโปง ส่งเสริมความเป็น Active Citizen ของประชาชนที่ช่วยกันสอดส่อง ตรวจสอบการโกงกิน การเห็นแก่ส่วนตนหรือประโยชน์พวกพ้องในยามบ้านเมืองเผชิญกับโรคระบาดอันยิ่งใหญ่นี้ และรัฐต้องใช้กลไกการตรวจสอบแห่งอำนาจรัฐเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะนำพาประเทศชาติผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้
ผู้เขียนจึงขอยกแนวทางการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล (Whistleblower Protection Act) ที่กลุ่มประเทศ G20 หรือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้สรุปไว้ 5 ประการ ดังนี้
1.กฎหมายต้องกำหนดว่าอะไรคือการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับความคุ้มครอง และใครจะได้รับความคุ้มครองบ้าง ผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองต้องครอบคุมกว้างขวางหรือเรียกได้ว่า“No loophole approach” เพื่อไม่ให้การทุจริตคอร์รัปชันรอดพ้นสายตาประชาชน
2.ความคุ้มครองตามกฎหมายต้องครอบคลุมรอบด้าน เพื่อให้ผู้เปิดเผยข้อมูลไม่กังวลและพร้อมจะเปิดเผยให้ข้อมูลนั้นๆสิ่งที่สำคัญประการแรก คือ ต้องไม่เปิดเผยตัวตนผู้ให้ข้อมูล เว้นแต่ได้รับความยินยอม ต่อมาห้ามไม่ให้มีการกระทำแก้แค้น กลั่นแกล้ง คุกคามผู้เปิดเผยข้อมูล เช่น ลดตำแหน่ง เปลี่ยนแปลงหน้าที่ การนำไปพิจารณาค่าตอบแทนหรือสวัสดิการ หรือการตัดสินใจและการกระทำที่ไม่ชอบมาพากล เป็นต้น
3.กฎหมายต้องระบุถึงช่องทางในการเปิดเผยข้อมูลไว้ให้ชัดเจน กล่าวคือกำหนดความชัดเจนของช่องทางและขั้นตอนในการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งมักจะกำหนดการเปิดเผยเป็น 3 ชั้น คือ เปิดเผยต่อหน่วยงานตรวจสอบดูแลภายในองค์กร, เปิดเผยต่อหน่วยงานต่อหน่วยงานภายนอกองค์กร และเปิดเผยต่อสื่อมวลชนและสาธารณะ
4.จัดให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อผู้เปิดเผยข้อมูล
5.ต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและดำเนินคดี ในกรณีการกระทำที่แก้แค้น กลั่นแกล้ง หรือคุกคามผู้เปิดเผยข้อมูล โดยต้องดูแลและดำเนินการให้อย่างถึงที่สุด
มีการกระตุ้นให้คนตื่นตัวและรู้สิทธิตามกฎหมายปกป้องผู้เปิดเผยข้อมูล อีกทั้งมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของกลไกคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลอยู่ตลอด ต้องให้ประชาชนรู้สิทธิและการใช้ประโยชน์มากพอจนเกิดความมั่นใจและพร้อมจะเปิดเผยข้อมูล รวมไปถึงการมีระบบประเมินผลดำเนินการทางกฎหมายอยู่ตลอด เพื่อความมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้งาน
การให้หลักประกันคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล (Whistleblower Protection Act) เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะสิ่งที่ประชาชนหรือผู้ให้ข้อมูลนั้นต้องการจะได้รับจากบุคคลหรือหน่วยงานผู้มีอำนาจแห่งรัฐ คือ การได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกตอบโต้หรือถูกคุกคามไม่ว่ากรณีใดๆ ดังนั้น การที่ประชาชนจะพร้อมออกมาให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ เปิดเผยการฉ้อโกงหรือการทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ ได้นั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการ หรือกฎหมายที่เคร่งครัดและชัดเจนในการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล และสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกนำมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง มิใช่การมีไว้ซึ่งกฎหมายและหลักเกณฑ์ประดับไว้เพียงเท่านั้น
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี