การเป็นผู้ฟังที่ดีสำคัญอย่างไร? และทำไมเราถึงต้องเป็นผู้ฟังที่ดี? ตัวผู้เขียนเองก็เคยสงสัยว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นมีประโยชน์และมีความสำคัญอย่างไรที่แสดงให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เกิดปรากฏการณ์การวิพากษ์วิจารณ์ของนักเรียนต่อเรื่องคุณภาพการให้บริการของสถานศึกษาบนทวิตเตอร์ที่เป็นประเด็นร้อนแรงจนสามารถติดเทรนด์ประจำวันเป็นอันดับหนึ่งได้ ทำให้ผู้เขียนมองว่านี่เป็นการส่งสัญญาณบางอย่างที่กำลังบอกว่า “เสียง” ของใครบางคนกำลังถูกเพิกเฉย การมองข้ามความสำคัญของกลุ่มคนเล็กๆ อย่าง “นักเรียน” เป็นสิ่งสะท้อนว่า บางทีคุณสมบัติ “การเป็นผู้ฟังที่ดี” อาจเป็นส่วนสำคัญที่ภาคสังคมยังขาดหายไป
การเป็นผู้ฟังที่ดี คือ การยอมรับฟังความคิดเห็นหรือคำแนะนำของผู้อื่น พร้อมทั้งนำสิ่งเหล่านั้นมาประกอบการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานต่อการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วม ด้วยการเปิดโอกาสและยอมรับฟังความเห็นต่างจากผู้อื่น ผู้เขียนคิดว่าสถานการณ์การพัฒนาการศึกษาไทยเองก็เช่นกันที่จำเป็นจะต้องมี “ผู้ฟังที่ดี” คอยรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคมโดยเฉพาะจากตัวผู้เรียน อีกทั้งผู้ฟังที่ดียังสามารถผลักดันเสียงเหล่านี้ให้แปรเปลี่ยนเป็นอิทธิพลแห่งการสร้างความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การให้บริการทางการศึกษาที่ได้มาตรฐานและตอบโจทย์ผู้เรียนมากที่สุด
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องและต่อยอดพัฒนาเป็นงานศึกษาวิจัยประเด็นการสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนในโรงเรียนตามหลักธรรมาภิบาล ภายใต้การดำเนินงานชื่อ โครงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในโรงเรียน (School Governance) โดยทีมวิจัย SIAM lab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมือการตรวจสอบคุณภาพโรงเรียนอย่างมีส่วนร่วม และเพื่อสร้างข้อมูลเปิดด้านการศึกษา (open data) ที่ได้มาตรฐาน ที่ผ่านมาผู้เขียนและคณะได้ทำการศึกษาเก็บข้อมูลทั้งจากการสืบค้นและทำกิจกรรมในชื่อโครงการ We The Students กับตัวแทนนักเรียนจาก 3 ตัวแทนโรงเรียนนำร่องไปแล้ว ในเบื้องต้นผู้เขียนสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ 3 ประเด็น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการสร้างเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ นั้นคือ การสร้างความโปร่งใส (transparency) การสร้างการมีส่วนร่วม (participation) และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (accountability)
การสร้างความโปร่งใสหรือการทำข้อมูลเปิดของโรงเรียน:จากที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาเก็บข้อมูลพบว่า ข้อมูลเปิดด้านการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมด 9 หมวด คือ ข้อมูลสถานศึกษา ข้อมูลผู้เรียน ข้อมูลผู้สอน ข้อมูลครุภัณฑ์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลสิ่งปลูกสร้าง ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างข้อมูลการเรียนการสอน และข้อมูลรางวัล โดยประชาชนสามารถสืบค้นได้จากแหล่งสืบค้นออนไลน์ดังนี้ 1. ระบบสารสนเทศเพื่อบริหารการศึกษา (Education Management Information System: EMIS ) โดย สพฐ. 2. เว็บไซต์ทางการโรงเรียน โดย สพฐ. และ 3. เว็บไซต์แยกของแต่ละโรงเรียน ซึ่งปัญหาที่พบเหมือนกันในการเข้าถึงข้อมูลก็คือ การเผยแพร่ข้อมูลไม่ครอบคลุมครบถ้วนทั้ง 9 หมวด โดยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลการเรียนการสอน และข้อมูลรางวัล เป็นข้อมูลที่ไม่พบการเผยแพร่บนทั้งสามแหล่งสืบค้นมากที่สุด ผลจากการสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นว่า กระบวนการการเปิดเผยข้อมูลทางการศึกษาในปัจจุบันนั้นยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างที่ถือเป็นข้อมูลสำคัญต่อการแสดงถึงความโปร่งใสในการทำงานของโรงเรียนก็ไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผยให้สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้ประชาชนรวมทั้งนักเรียนไม่ทราบข้อมูลที่จำเป็นต่อการติดตามและพิจารณาตรวจสอบการดำเนินงานของโรงเรียนได้อย่างที่ควรเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล อันหมายถึงการทำงานที่โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
การมีส่วนร่วม: ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยและร่วมทำกิจกรรมกับตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนนำร่อง ภายใต้โครงการ We The Students ผ่านการทำกิจกรรมสำรวจคุณภาพการบริการทางกายภาพในโรงเรียน หรือ School Through Our Eyesซึ่งเป็นการจำลองพื้นที่ (space) ให้นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาปรับปรุงโรงเรียนในทิศทางที่ตนเองเห็นชอบ โดยมีคณะครูและผู้อำนวยการร่วมรับฟังการนำเสนอของตัวแทนนักเรียนด้วย หลังจากจบกิจกรรมผู้เขียนได้มีการติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนพบว่า โรงเรียนนำประเด็นปัญหาด้านการบริการเชิงคุณภาพ และข้อเสนอการแก้ปัญหาของนักเรียนมาพิจารณาแก้ไข ตัวอย่างกรณีนักเรียนจากตัวแทนโรงเรียนนำร่องแห่งหนึ่งเสนอให้โรงเรียนพิจารณาเปลี่ยนแม่ครัว เพราะยังมีคุณสมบัติจัดการบริหารงานครัวได้ไม่ดีนัก ผู้อำนวยการจึงได้พิจารณาและทำการปรับเปลี่ยนระบบโรงอาหารใหม่ในปีการศึกษาหน้าที่จะถึง เพื่อให้สนองต่อความต้องการของนักเรียนและทำให้ระบบการครัวของโรงเรียนมีคุณภาพมากขึ้น
เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมจำลองพื้นที่นั้นเป็นการช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและแก้ปัญหา สามารถช่วยกระตุ้นการพัฒนาปรับปรุงการบริการคุณภาพในโรงเรียนได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งงานศึกษาวิจัยเรื่องบทบาทการมีส่วนร่วมของเยาวชนในด้านการพัฒนาเยาวชนเชิงรุกและการพัฒนาเยาวชนเชิงยุติธรรมทางสังคมสำหรับเยาวชนที่มีความเสี่ยงสูงและเยาวชนชายขอบ ประเทศแคนาดา ได้มีการรายงานว่า องค์กรที่เปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการทำงาน ด้วยการสร้างพื้นที่ที่ไร้การตัดสิน มีความปลอดภัยและมีความสะดวกใจ (non-judgmental place and comfortable and safe place) จะสามารถทำให้เยาวชนกล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดได้เต็มเสียง อีกทั้งยังส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของทั้งสองฝ่ายในเชิงบวกอีกด้วย
ความรับผิดชอบต่อหน้าที่: หลังจากการทำกิจกรรมสำรวจโรงเรียน ผู้เขียนและคณะได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่ช่วยสะท้อนความคิด (reflection) ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ปัญหาตามหลักเหตุและผล (cause and effect analysis) โดยมีวิธีการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) เป็นหลักในการออกแบบกระบวนการ ซึ่งสิ่งที่นักเรียนสะท้อนออกมาต่อปัญหาด้านการบริการเชิงคุณภาพ ส่วนใหญ่สะท้อนมุมมองความคิดในเชิงการยอมรับว่าตนเองเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหา เช่น ห้องเรียนไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย นักเรียนสะท้อนว่าสาเหตุคือ “พวกเราไม่ช่วยกันเก็บรักษา ใช้เสร็จแล้วไม่เก็บให้เป็นที่” หรือห้องน้ำไม่สะอาด นักเรียนสะท้อนว่า สาเหตุเกิดจาก “พวกเราไม่ช่วยกันรักษาความสะอาด ใช้เสร็จแล้วไม่ล้างให้เรียบร้อย” ในส่วนของการเสนอวิธีการแก้ปัญหา นักเรียนสามารถเสนอแนวทางการแก้ไขที่เริ่มได้จากตัวเอง เช่น นักเรียนเสนอให้มีการจัดประกวดห้องเรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนช่วยกันดูแล ตกแต่งห้องเรียนให้สวยงามโดยโรงเรียนมีหน้าที่สนับสนุนรางวัลและอำนวยการการจัดกิจกรรม หรือนักเรียนเสนอการแก้ไขปัญหาเศษอาหารเหลือทิ้งด้วยการขอรับปริมาณอาหารจากแม่ครัวให้น้อยลง เพื่อลดปริมาณเศษอาหารในโรงอาหาร เป็นต้น
ทั้งสามประเด็นที่ได้กล่าวมา ผู้เขียนเห็นว่าเป็นวิถีทางที่โรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษาควรหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งเรื่องการเปิดเผยข้อมูลทางการศึกษาเพื่อสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้โดยประชาชนและนักเรียน การสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ในขอบเขตการทำงานของตน โดยทั้งสามประเด็นคือองค์ประกอบของการมีคุณสมบัติ “ผู้ฟังที่ดี” ที่โรงเรียนและหน่วยงานสามารถสร้างได้ ผ่านการจัดพื้นที่สำหรับส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ทุก “เสียง” ได้รับความสำคัญและสามารถสร้างอิทธิพลต่อการพัฒนาระบบคุณภาพการให้บริการในโรงเรียนบนพื้นฐานการทำงานตามหลักธรรมาภิบาล
ท่านสามารถติดตามการดำเนินโครงการ We The Students ได้ที่เฟซบุ๊คเพจ We The Students Thailand และ Youtube ช่อง We The Students Thailand
ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี