ตลอดช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติจาก COVID-19 ตั้งแต่เริ่มปักหมุดรับมือการป้องกันโรคระบาดเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่พบนักท่องเที่ยวจากเมืองจีนป่วยรายแรกในเมืองไทย ยกระดับสู่การปิดเมืองหลังจากเกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคในเขตเมืองอย่างรวดเร็วเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้นับเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว ที่ทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้ ป้องกัน ช่วยเหลือ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ แต่ปัญหาที่พบเห็นชัดเจนที่สุดในวิกฤติครั้งนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ป้องกันสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการป้องกันสุขภาพร่างกายของตนเอง กลับขาดแคลน และมีราคาที่พุ่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความต้องการของตลาดที่มีเพิ่มมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่นับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโรคจนถึงวันนี้ผู้เขียนเองก็ยังไม่พบว่าหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคที่เกี่ยวข้องจะกลับมาซื้อขายได้ในราคาปกติ หรือหาซื้อได้ง่ายอย่างที่เคยผ่านมา
การขาดแคลนและความยากลำบากในการหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรคไม่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่บุคลากรทางการแพทย์เองที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ว่าจากโรค COVID-19 โรคอื่นๆ หรืออุบัติเหตุ กลับไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย, หน้ากาก Face Shield, อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (ชุด PPE), อุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ อย่างเพียงพอได้ จนเกิดการระดมทุนจากภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเพื่อจัดซื้อ และจัดส่งของจำเป็นเหล่านี้ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ แต่สุดท้ายเรากลับเห็นข่าวที่หลายท่านทั้งผู้มีชื่อเสียง และบุคลากรทางการแพทย์กล้าออกมาเปิดโปงว่าของที่ประชาชนและหน่วยราชการส่วนกลางส่งไปให้กับโรงพยาบาลนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ แต่ถูกกักตุนไว้เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม หรือเพื่อรักษาหน้าตาของผู้ที่มีอำนาจใน
โรงพยาบาล
นอกจากการกักตุนอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้วยังมีประเด็นที่ส่อทุจริตในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการป้องกัน แก้ปัญหา และเยียวยาผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ข่าวที่เราเห็นถึงความผิดปกติได้อย่างชัดเจน และมีประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการจัดซื้อชุดแคร์เซตคนชรา 16.3 ล้านบาทที่จังหวัดลำพูน โดยทาง อบจ.ลำพูน ได้ทำการจัดซื้อสินค้ารวมทั้งสิ้น 27,700 ชุด ในราคาชุดละ 590 บาท จากเอกชนรายหนึ่ง แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนเป็นจำนวนมากว่าสินค้าที่จัดซื้อมาไม่สมกับราคางบประมาณที่จ่ายไป จนเป็นกระแสร้อนในโลกโซเชียล ประชาชนที่มีข้อมูล และสื่อหลักหลายสำนักให้ความสนใจ ขุดคุ้ยเบื้องลึกเบื้องหลังกับประเด็นดังกล่าว จนผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน และพบการจัดซื้อไม่ชอบด้วยระเบียบการช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัย เป็นผลให้เกิดความเสียหายเต็มจำนวนกว่า 16 ล้าน 3 แสนบาท ผู้เกี่ยวข้องเป็นทั้งข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำประมาณ 10 คน จะถูกดำเนินการสอบวินัยต่อไป
จากเหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้ยกตัวมาข้างต้นนั้นเราจะเห็นจุดสำคัญที่ทำให้ปัญหาการทุจริตในช่วงวิกฤติ COVID-19 นี้ ถูกจับตามองเป็นพิเศษ และนำไปสู่การแก้ไขได้เร็วขึ้น ได้แก่ 1) มีคนกล้าออกมาเปิดโปง
ให้เบาะแส การกักตุน หรือการทุจริตอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ โดยไม่กลัวอันตราย และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี 2) เกิดการตั้งคำถามถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจจะใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลไปอย่างไม่คุ้มค่า เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ง่าย และ 3) การใช้สื่อ Social Mediaทำให้ประเด็นปัญหาต่างๆ ถูกส่งต่อ และถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กว่าที่เราจะรู้ตัวว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เราส่งไปช่วยโรงพยาบาลนั้นไปไม่ถึงผู้ที่ต้องการใช้อย่างแท้จริง อาจจะกินเวลาไปเป็นปีก็ได้
หากเราสามารถนำจุดเปลี่ยนสำคัญทั้ง 3 ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมาสร้างเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และจับตาการทำงานของภาครัฐได้ในช่วงเวลาเร่งด่วนนี้ อาจจะไม่ยากเกินไปเพราะหากได้ติดตามการทำงานของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ ที่ผ่านมานั้น มีเครื่องมือที่เตรียมพร้อมให้ประชาชนได้นำไปเป็นหูเป็นตา และร่วมจับตาการทำงานของภาครัฐได้เป็นจำนวนมาก เช่น หากประชาชนต้องการเปิดโปง ให้เบาะแสการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ มีทั้งเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน และเพจต้องแฉที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนส่งข้อมูลการทุจริตได้อย่างปลอดภัยและนำมาทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือถ้าเรายังไม่มีเบาะแสการทุจริตแต่เกิดความสงสัยในการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ก็สามารถหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทั้งงบประมาณที่ใช้ บริษัทผู้รับจ้างงานนั้นเป็นใคร มีความเกี่ยวข้องเหมาะสมกับงานหรือไม่ได้ที่ฐานข้อมูล ACTAi (https://actai.co) และสุดท้ายพลังของสื่อ Social Media ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เพจชื่อดังหรือสำนักข่าวเท่านั้น แต่ทุกคนมีสื่อSocial Media ในมือเพียงแค่ช่วยกันส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกไปสู่เพื่อนๆ รอบข้าง ก็นับว่าเป็นการใช้พลังของสื่อในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้แล้ว
ในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็ได้ยินว่าองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนา Crowdsourcing Platform เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนนำไปใช้ในการส่งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน และเป็นพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาเข้ามาทำงานร่วมกับข้อมูลจากประชาชนได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ก็เริ่มมาตรการต่อเนื่อง “การปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตท่ามกลางวิกฤติิการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19”โดยทำการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิดการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต (ScenarioAnalysis) ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่อง และให้เบาะแสการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้เป็นอย่างดี
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายใช้งบประมาณเพื่อกอบกู้วิกฤติ COVID-19 จำนวนมากถึง 1.9 ล้านล้านบาทนั้น หากประชาชนร่วมกันเฝ้าติดตาม จับตาการใช้งบประมาณผ่านข่าวสารที่เชื่อถือได้ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านเครื่องมือต่างๆ ก็อาจทำให้ปัญหาโรคระบาดและการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมลดลงได้ในคราวเดียว นำมาซึ่งสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายของประชาชน และสุขภาพของสังคมไทยในอีกไม่นาน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี