สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เป็นอย่างไรกันบ้างครับในช่วงล็อกดาวน์ วิกฤตการณ์โควิด-19 นี้ดูเหมือนจะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นจำนวนมากครับ ในหลายองค์กรนั้นไม่เพียงต้องปัดฝุ่นหรือวางแผน BCP (Business ContinuityPlan) ปรับรูปแบบการดำเนินงานใหม่รายวันให้ทันท่วงทีตามสถานการณ์ต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่หลายท่านยังมองไปไกลจนถึงว่าเมื่อโรคโควิด-19 นี้หายแล้ว จะปรับองค์กรหรือกระบวนการทำงานเพื่อรับมือกับความเป็นปกติใหม่ (NewNormal) หรือที่เรียกกันในช่วงนี้ว่า “นิวนอร์มอล” อย่างไร ผมจึงลองสังเกตและอาศัยสิ่งต่างๆ รอบตัวที่กำลังเปลี่ยนแปลงและลองออกแบบข้อเสนอให้กับสังคมเพื่อให้สังคมก้าวไปสู่นิวนอร์มอล ที่ทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพจนลดการคอร์รัปชันได้ลงในที่สุด จะต้องทำอะไรบ้าง เชิญท่านผู้อ่านลองติดตามครับ
ข้อเสนออันดับแรกที่สำคัญที่สุดคือจะต้องมีการจัดการระบบโครงสร้างข้อมูลที่ถูกเก็บของภาครัฐทั้งหมดให้ถูกต้องและมี data governance มากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดเหตุวิกฤติแล้ว ข้อมูลที่รัฐมีอยู่นั้นมีปัญหาในการนำไปใช้งานมาก เช่น ข้อมูลยังไม่มีความถูกต้องเท่าที่ควร ไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงที ประชาชนไม่ทราบนโยบายการกำหนดลำดับชั้นความลับในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นส่วนตัวของประชาชนทำให้มีความกังวลและไม่ร่วมมือ ข้อมูลไม่มีการอัพเดทให้ทันสมัย ข้อมูลไม่สามารถอ้างอิงได้ด้วยว่าไปเก็บมาเมื่อไรละด้วยวิธีอะไร ข้อมูลมีลักษณะเป็นข้อมูลแบบแบนราบ โดยจะขอยกตัวอย่างจากโครงการบางโครงการที่รัฐออกแบบข้อมูลให้คนคนเดียวนั้นอาจจะมีอาชีพแค่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริงนั้น คนในสมัยนี้ก็สามารถเป็นได้หลากหลายอาชีพอาจจะมีสวนทุเรียนอยู่ตามต่างจังหวัดส่งทุเรียนออกนอกประเทศขายได้เงินมากมาย และยังเป็นพนักงานบริษัทมีประกันสังคม ในเวลาว่างยังทำงานพิเศษในลักษณะฟรีแลนซ์ จึงควรต้องมีการออกแบบทั้งระบบการจัดเก็บ ระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ระบบการตรวจสอบข้อมูล และระบบการเปิดเผยให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ต่อได้อย่างง่าย โดยเปิดเผยข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปวิเคราะห์และประมวลผลได้ทันที เพื่อที่จะสามารถชี้แจงและสร้างความโปร่งใสให้กับสังคมได้ มิเช่นนั้น จะทำให้เกิดปัญหาด้านความเชื่อมั่น และประสิทธิภาพในการเยียวยาสังคม ประชาชนบางท่านที่แท้จริงมีสิทธิ์ควรจะได้รับการเยียวยา กลับไม่ได้รับ และมีความเสี่ยงมากว่าจะมีบางท่านที่อาจจะไม่เข้าเกณฑ์แต่กลับได้รับการเยียวยา ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันหากข้อมูลต่างๆ สามารถถูกกำหนดและบิดเบือนโดยคนทุจริต จนกลายเป็นว่าระบบนี้จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มอย่างที่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้
อันดับที่สองคือ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหามากขึ้นในระยะยาวจนเป็นปกติใหม่ (New Normal) จะเห็นได้ว่าในวิกฤตการณ์นี้ มีภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคสื่อมวลชน ภาควิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ด้านนวัตกรรมทางสังคม หรือด้านอื่นๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการร่วมแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชันจะเห็นได้ว่า มีหลายกรณีที่ภาคประชาสังคมและประชาชนที่มีความสนใจในประเด็นต่างๆ ร่วมกันทำงานเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังคอร์รัปชันให้สังคมมากขึ้น นำข้อสงสัยและเบาะแสที่ตนเองมี สื่อสารให้สังคมได้ทราบและในบางกรณีก็นำไปสู่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เช่น กรณีการก่อสร้างเขื่อนกั้นม่วงงาม และหาดมหาราช ที่จังหวัดสงขลา กรณีการจัดซื้อแคร์เซตที่ลำพูน กรณีการจัดซื้อแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ และวัสดุอุปกรณ์ในการสู้โควิด ยังไม่รวมเรื่องความเหมาะสมในการซื้อโดรนเพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ฯลฯ
ทั้งนี้ ประชาชนและภาคประชาสังคมที่ร่วมเป็นหูเป็นตาก็มีข้อควรระวังคือ จะต้องมีความละเอียดในการใช้ข้อมูลในการเปรียบเทียบ ทั้งในด้านเวลา สถานที่และราคาที่ ยิ่งในช่วงที่ของขาดตลาดนั้น ราคามีความผันผวนและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่สูงทั้งยังต้องดูคุณสมบัติ เช่น เปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของน้ำยาฆ่าเชื้อ ว่าสามารถผสมใช้จริงได้เท่าไรแล้วเทียบกันได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ภาควิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ จะสามารถเข้ามาให้ความกระจ่างกับสังคมได้หากมีช่องทางการมีส่วนร่วม
นอกจากด้านความร่วมมือในการเป็นหูเป็นตาระแวดระวังภัยให้สังคมแล้ว ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในภาคส่วนเหล่านี้ยังได้เสนอกลไกการป้องกันคอร์รัปชันอีกด้วย ดังที่ คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เสนอการป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณสี่แสนล้านจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน โดยให้ใช้โมเดลแบบ โครงการเงินกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่น มิยาซาวาแพลน ปี 2542 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 ที่มีหลักเกณฑ์การใช้เงินชัดเจน และยังสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้จัดทำเว็บไซต์เฉพาะกิจให้สาธารณชนสามารถเข้าไปศึกษาติดตามได้อย่างอิสระ และให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ คณะกรรมกำกับดูแลการจัดการและเบิกจ่ายเงิน ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ มีผู้แทนจากภาคประชาชนและนักวิชาการที่สังคมยอมรับ โดยกำหนดให้ทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ดำเนินการภายใต้กติกาเดียวกันอย่างเคร่งครัด
ข้อเสนออันดับสาม คือ การพัฒนาระบบการทำธุรกรรมของทั้งรัฐกับรัฐ รัฐกับเอกชน และรัฐกับประชาชนในรูปแบบออนไลน์โดยพัฒนาประสิทธิภาพทัดเทียมหรือมากกว่าเอกชน ระบบหนึ่งที่มีพื้นที่สำหรับพัฒนาอีกมากคือ ระบบเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับพิสูจน์ยืนยันอัตลักษณ์ตัวตน ที่เอกชนนั้นพัฒนาไปถึงการใช้ลายนิ้วมือผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการทำธุรกรรมทางการเงิน การพัฒนาระบบการทำธุรกรรมโดยไม่พบเจอกันซึ่งหน้านี้ ก็อาจมีส่วนทำให้การจ่ายสินบนลดลงไปได้บ้าง ทั้งยังลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 ในช่วงนี้ด้วย
นอกจากการทำธุรกรรมแล้ว ยังควรพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ ที่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน มีผู้เล่นมากขึ้น และสนับสนุนให้มีการกระจายข่าวสารอย่างสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการรับมือกับเชื้อโควิด-19 แพงกว่าที่ประชาชนซื้อ ทั้งที่ซื้อในจำนวนมากกว่า ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เงินทอน หรือสินบน
ข้อสุดท้าย คือการจัดให้มีระบบการพัฒนาความรู้ ความสามารถของบุคลากรภาครัฐ และเอกชนด้วยรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งด้านความรู้ทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน จะเห็นได้ว่าวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับหลายวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงการการศึกษาที่จำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนจากปกติในสถานศึกษาเป็นการเรียนในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งหากมีการจัดระบบการพัฒนาความรู้ความสามารถในรูปแบบออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น อาจสร้างการเรียนรู้ในที่ดีกว่าการสอนในรูปแบบปกติ ทำให้เกิดการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น สามารถเรียนได้และทบทวนซ้ำได้ในเวลาที่สะดวก ลดงบประมาณการเรียนการสอนต่อหัวลง เป็นส่วนตัวมากกว่า มีสมาธิ และมีส่วนร่วมได้มากกว่า ทั้งยังอาจจะมีส่วนช่วยลดงบประมาณในการฝึกอบรมในระยะยาว ลดการรั่วไหลของงบประมาณในการสัมมนาดูงานนอกสถานที่
ข้อเสนอในข้างต้นนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจที่คิดอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคมในช่วงวิกฤตินี้ ในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมธรรมาภิบาล และต่อต้านคอร์รัปชันสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ทำให้พวกเราได้รับรู้ว่าโครงสร้างของสังคมเรานั้นยังต้องพัฒนาอีกมาก และยังมีความท้าทายอีกมากสำหรับผู้ที่ทำงานพัฒนา สังคมที่เปลี่ยนไปเป็นปกติใหม่จะเป็นนิวนอร์มอลที่คอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้น หรือเป็นนิวมอร์มอลที่เอื้อต่อความสุจริต เอื้อต่อการต่อต้านคอร์รัปชันก็ขอให้ทั้งสังคมร่วมมือช่วยกันกำหนดครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกันอย่างดีที่สุดครับผม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี