ในขณะที่วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19เริ่มคลี่คลายลง หลายๆ ภาคส่วนเริ่มพูดถึง “ความปกติใหม่”หรือ “New Normal” ที่จะตามมา ที่ทำให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ทั่วโลก และขณะเดียวกันรูปแบบการคอร์รัปชันในประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยแตกต่างกันไปตามพื้นที่ สภาพสังคม ทรัพยากร โครงสร้างประชากร และเงื่อนไขต่างๆ ในพื้นที่เหล่านั้น รวมไปถึงความสัมพันธ์ของคนกับคน และคนกับรัฐด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องปรับตัวและกลับมาทำความเข้าใจคอร์รัปชันในมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม เพื่อสร้างข้อเสนอและแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันในรูปแบบ “New Normal” ด้วยเช่นกัน
การมองคอร์รัปชันในมุมใหม่หมายถึงอะไร?
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันหลายครั้งที่รูปแบบการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นแบบ one size fits all หรือ แบบยาครอบจักรวาล ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าใช้ไม่ได้ผล เพราะรากของปัญหาของการคอร์รัปชันมีที่มาที่ไปที่ซับซ้อนกว่าการจะใช้แนวคิดหรือเครื่องมือสำเร็จแบบรูปแบบเดียวมาจัดการได้ เนื่องจากแต่ละแนวคิดแต่ละเครื่องมือก็เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างงานวิจัยของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ ที่ศึกษาการรับรู้เรื่องคอร์รัปชันของคนไทยในช่วงวัยแตกต่างกันซึ่งมีค่านิยมไม่เหมือนกัน จำนวน 1,200 คน ด้วยคำถามว่า “คอร์รัปชันคืออะไร” พบว่า กลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี กว่าร้อยละ 64 ให้คำตอบที่ประกอบไปด้วยคำว่า “นักการเมือง”“นักเลือกตั้ง” และ “สส.” และ คำตอบกว่าร้อยละ 71 มีคำว่า “โกง” ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งตามมาด้วยคำว่า “เงิน” แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนอายุ 30 ขึ้นไปมองการคอร์รัปชันเชื่อมโยงไปที่ “นักการเมืองโกงเงิน” ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่แคบและชัดเจน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อยกว่า 25 ปี กว่าร้อยละ 64 ตอบว่าการคอร์รัปชันคือ เจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสเอาประโยชน์เข้าตัวเอง และกว่าร้อยละ 51 เปอร์เซ็นต์ มองว่า การคอร์รัปชันคือการใช้อำนาจในทางที่ผิด ซึ่งเป็นความหมายที่กว้างขึ้น ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ขนาดคนในประเทศเดียวกัน แต่คนละวัย ก็มีความเข้าใจในเรื่องคอร์รัปชันไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้ารัฐมีนโยบายจะแก้ไขคอร์รัปชันในมุมมองของรัฐเท่านั้น ก็อาจจะได้รับความร่วมมือจากคนเพียงบางกลุ่มในสังคม ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในเชิงระบบ
นอกจากนี้งานวิจัยดังกล่าวยังศึกษาค่านิยมที่แตกต่างกันของคนแต่ละช่วงวัยด้วย โดยถามกลุ่มตัวอย่างว่า “ถ้าคุณมีลูก แล้วต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาเลี้ยงลูกของคุณ พี่เลี้ยงแต่ละคนที่ให้เลือก จะเลี้ยงลูกของคุณออกมาไม่เหมือนกัน โดยที่พี่เลี้ยงแต่ละคนจะมีลักษณะการเลี้ยงที่ได้ค่านิยมตามที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด คือ กตัญญูรู้คุณ ขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต และประหยัดอดออม ไม่เหมือนกัน”
พี่เลี้ยงคนที่ 1 จ้างวันละ 500 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความกตัญญูและความซื่อสัตย์
แต่ไม่ได้ความขยันกับการอดออม
พี่เลี้ยงคนที่ 2 จ้างวันละ 300 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความประหยัด แต่ไม่ได้อย่างอื่น
พี่เลี้ยงคนที่ 3 จ้างวันละ 500 บาท ให้เลี้ยงลูกแล้วจะได้ลูกที่มีความขยันกับความซื่อสัตย์
จากการทดลองนี้ พบว่าการให้คุณค่าต่อค่านิยม (Norm) มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุ 25-30 ปี โดยกลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญกับ ความกตัญญูรู้คุณ (42 เปอร์เซ็นต์) ความขยันหมั่นเพียร (31 เปอร์เซ็นต์) ความซื่อสัตย์สุจริต (23 เปอร์เซ็นต์) ความประหยัดอดออม (4 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งสอดคล้องกับอีกหนึ่งคำถามที่ว่า “คุณมีลูกเพื่ออะไร” ส่วนมากตอบว่ามีเพื่อให้ลูกเลี้ยงดูตนเองตอนแก่ แต่มีน้อยมากที่ตอบว่า มีลูกเพื่อทำให้สังคมดีขึ้นในอนาคต ส่วนในช่วงอายุ 15-25 ปี ให้ความสำคัญกับ ความซื่อสัตย์สุจริต (34 เปอร์เซ็นต์) ความขยันหมั่นเพียร (34 เปอร์เซ็นต์) ความกตัญญูรู้คุณ(30 เปอร์เซ็นต์) การประหยัดอดออม (2 เปอร์เซ็นต์) สะท้อนให้เห็นค่านิยมที่แตกต่างกันออกไประหว่างช่วงวัย ซึ่งอาจตอบคำถามว่าทำไมในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา การรณรงค์ค่านิยมในสังคมไทยจึงประสบความสำเร็จกับคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น
แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันในมุมมองใหม่ควรเป็นอย่างไร ?
จากงานวิจัยดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการรับรู้และการตอบสนองต่อการคอร์รัปชันของผู้คนในสังคมนั้นมีความซับซ้อนและแตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มคนและองค์กรที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันจำเป็นจะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะรูปแบบของเครื่องมือที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน ที่ควรมีความแตกต่างและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ด้วย จากที่ผู้เขียนได้ไปทบทวนบทความและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับองค์ความรู้และเครื่องมือการต่อต้านคอร์รัปชัน พบว่าสิ่งที่เป็นช่องว่างระหว่างผู้คนในสังคมกับกลุ่มคนหรือองค์กรที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันในตอนนี้ไม่ใช่การขาดองค์ความรู้หรือขาดเครื่องมือในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน แต่กลับเป็นช่องว่างที่เกิดจากการไปไม่ถึงคนในสังคมจำนวนมากต่างหาก นั่นจึงเป็นช่องว่างที่ผู้เขียนคิดว่าเราควรจะต้องกลับมาตั้งคำถามกันใหม่ว่า“ที่ผ่านมาเราสร้างเครื่องมือหรือหลักสูตรทั้งหมดนี้ขึ้นมาเพื่อใคร” ความเจ็บปวด (Pain Point) ของเขาคืออะไร ? เครื่องมือของเราจะช่วยเขาได้อย่างไร ? และวิธีไหนที่จะทำให้เขาเข้าถึงเครื่องมือของเราได้มากที่สุด ? เพราะในหลายหลักสูตรและหลายเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความน่าสนใจและน่าจะมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้มากๆ แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักหรือไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพให้สมกับที่แต่ละหน่วยงานลงทุนและลงแรงเพื่อสร้างมันขึ้นมา ดังนั้นการกลับมาทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการออกแบบหลักสูตรและเครื่องมือให้มีความสอดคล้องไปกับบริบทและวิถีชีวิตโดยเฉพาะในชีวิตวิถีปกติใหม่ (Nnew Normal) ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่กลุ่มคนหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันจะเริ่มต้นพัฒนาและปรับใช้หลักสูตรหรือเครื่องมือทั้งที่มีอยู่เดิมและที่กำลังจะสร้างขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตภายใต้ความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ซึ่งถึงแม้จะมีความท้าทายต่อการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มคนหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในปัจจุบัน แต่ถ้าเริ่มจากการมองเห็นหมุดหมายเดียวกัน และมาเริ่มต้นวางแผนการทำงานร่วมกันในระยะยาวให้สอดคล้องความปกติใหม่ (New Normal) ตลอดจนการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนให้เกิดการนำองค์ความรู้และเครื่องมือไปใช้ต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันของผู้คนในแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อไปสู่ “ความปกติใหม่ที่เป็นที่ต้องการ” (Desirable New Normal) ในการต่อสู้กับคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ปัณฑ์ฎาริณ ศรีจันทร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี