ตอนนี้หลายๆ ท่านคงกำลังติดตามเรื่องการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาที่กำลังดำเนินอยู่ สิ่งที่น่าสนใจมาขบคิดในประเด็นการเรียกร้องสิทธิในครั้งนี้คือทำไมการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ถึงทำให้คนทั้งประเทศโกรธแค้นและออกมาร่วมชุมนุมกันโดยไม่หวั่นกลัวสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายดีในสหรัฐอเมริกา? คำตอบของคำถามนี้อาจอยู่ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การแบ่งแยกของอเมริกาที่ได้ทำให้เกิดโครงการสร้างความอยุติธรรมเชิงระบบและการเหยียดผิวที่มีความรุนแรงและฝังลึกอยู่ในโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่ได้เริ่มขึ้นและจบลงที่การเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์
ปัญหาการเหยียดผิวในสหรัฐอเมริกาเริ่มตั้งแต่ในช่วงปี 1619 ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีการค้าขายทาสและกลายเป็นแหล่งค้าทาสขนาดใหญ่เพื่อมารองรับการขยายตัวทางภาคเกษตรกรรมได้แก่การปลูกอ้อยและฝ้าย คนเหล่านี้โดนลักพาตัวข้ามมหาสมุทรจากทวีปแอฟริกา ถูกนำมาขาย และถูกปฏิบัติอย่างเหี้ยมโหด โดนทรมานทั้งทางกายและทางใจ ผู้หญิงบางคนก็โดนข่มขืน ไม่ได้รับเงินและไม่มีสิทธิไถ่ถอนตัวเอง เนื่องจากระบบทาสของอเมริกามีข้อแตกต่างเรื่องผิวสีเป็นตัวบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างชนชั้น คนอเมริกันจึงมองว่าคนผิวดำเหล่านี้ด้อยกว่าและเป็นประชากรระดับล่าง อันเป็นจุดเริ่มต้นการเหยียดผิวในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกัน
แม้การสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาในปี 1865 จะทำให้ทาสเหล่านี้ได้เป็นอิสระและได้รับสิทธิพื้นฐานบางประการจากความพยายามของรัฐที่ต้องการฟื้นฟูประเทศ แต่ความรู้สึกของคนผิวขาวที่มองคนเหล่านี้เป็นประชากรระดับล่างมาหลายร้อยปีไม่ใช่สิ่งที่สามารถหายไปได้ในชั่วข้ามคืน การปฏิบัติต่อคนผิวดำยังมีเส้นแบ่งและการเหยียดหยามชัดเจน สิทธิที่คนผิวดำได้มากขึ้นกลับทำให้คนผิวขาวบางกลุ่มไม่พอใจ ทำให้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เกิดกฎหมายขึ้นในหลายท้องที่ในอเมริกาที่เรียกกันว่ากฎหมายจิม โครว์ (Jim Crow’s Law) อันเป็นกฎหมายแห่งรัฐและท้องถิ่นที่ทำให้การแบ่งแยกทางผิวสี หรือ Segregation เป็นสิ่งถูกกฎหมาย การแบ่งแยกผิวสีเป็นการแบ่งแยกทั้งในเชิงพื้นที่ การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตพื้นฐานในปัจจุบันในทุกๆแง่มุม ทั้งการศึกษา การทำงาน การอยู่อาศัย การทำกิจกรรมชีวิตประจำวัน การกินอาหาร การเดินทาง ฯลฯ ในขณะที่กฎหมายจิม โครว์ ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นโดยเฉพาะในแถบใต้ของประเทศ การฆาตกรรมคนผิวดำด้วยก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย
การแบ่งแยกในสังคมนี้ ทำให้เวลาต่อมาในยุค 50 และ 60 เกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิที่ทำให้คนได้รู้จักกับชื่อนักเคลื่อนไหว อย่าง Martin Luther King Jr. และนักเคลื่อนไหวอีกหลายพันคนที่ออกมาเรียกร้องด้วยวิธีสันติเพื่อให้อเมริกาเป็นประเทศที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ความพยายามอย่างสันติวิธีของพวกเขากว่า 10 ปี ทำให้การแบ่งแยกผิวสี ได้ถูกยกเลิก และเกิดการออกกฎหมายห้ามจ้างงานอย่างไม่เท่าเทียมโดยแบ่งแยกบนพื้นฐานของผิวสี, ศาสนา, และเพศ (Affirmative Act) แต่...การแบ่งแยกหรือกดขี่ในสังคมก็ยังไม่จบ ประวัติศาสตร์แห่งการแบ่งแยกนี้ ได้ทิ้งร่องรอยทางสังคมและวัฒนธรรมไว้จนทำให้การเหยียดผิวแทรกซึมในระบบสังคม แต่มาในรูปของระบบใหม่ที่เรียกว่า Systemic Racism ที่หมายถึงการแสดงออกของการเหยียดผิวไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกของปัจเจกหรือกลุ่มบุคคลอีกต่อไป แต่เมื่อปัจเจกเหล่านั้นอยู่ในสถาบันของสังคม ความไม่เท่าเทียมจึงขยายไปแฝงอยู่ในทั้งระบบและสถาบันของสังคม ซึ่งบางครั้งอาจดูไม่เปิดเผยหรือตรงตัวเท่าการกระทำปัจเจกจนเรามองไม่ออกด้วยซ้ำว่ามันคือความไม่เท่าเทียม สิ่งนี้ยังคงอยู่ในสังคมอเมริกาถึงปัจจุบัน และเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงยังมีการเรียกร้องความเท่าเทียมตลอดแม้โครงสร้างแบบเดิมๆ จะหายไป ซึ่งมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
การเข้าถึงเงินกู้หรือการเป็นเจ้าของบ้าน - จากการแบ่งแยกทางสังคมรวมไปถึงความอคติของคนผิวขาวที่ไม่อยากให้คนผิวดำมาอาศัยในละแวกเดียวกัน ทำให้คนผิวดำกระจุกตัวอาศัยในบางพื้นที่ โดยพื้นที่เหล่านั้นมักถูกธนาคารจัดไว้ว่าเป็นโซนสีแดง (Redlining) แปลว่าเป็นโซนที่มีสถานะยากจนมีความเสี่ยงสูง ธนาคารจะไม่ปล่อยกู้ให้ ทำให้คนผิวดำโดนปฏิเสธการเข้าถึงเงินกู้
การจ้างงาน - อัตราการว่างงานของคนผิวดำสูงกว่าคนผิวขาวเป็นเท่าตัวมาหลายทศวรรษ ไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือวุฒิการศึกษาจะเป็นอย่างไร (Desilver, 2013) มีงานวิจัยมากมายออกมายืนยันว่าการเหยียดผิวสีในการสมัครงานเป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ให้เห็นเสมอ เช่น หากมีคนผิวดำและคนผิวขาวที่มีประวัติการทำงานและการศึกษาเหมือนกันเป๊ะๆ คนผิวขาวมีโอกาสมากกว่าคนดำประมาณ 50% ในการได้รับการเรียกกลับไปสัมภาษณ์หรือได้งาน (Bertrand & Mullainathan, 2003)
การศึกษา - การศึกษาก็อาจจะไม่ได้เป็นคำตอบในการหนีความอยุติธรรมเหล่านี้ แม้เด็กทุกคนในอเมริกาจะมีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน แต่ในระบบการศึกษาก็ยังมีความไม่เท่าเทียมในหลายๆ มิติ ทั้งในเชิงเงินช่วยเหลือและการสนับสนุนจากรัฐ หรือในเชิงการปฏิบัติที่เด็กผิวดำมีความเป็นไปได้ที่จะโดนลงโทษหรือพักการเรียนมากกว่า 3 เท่า จากการกระทำผิดเมื่อเทียบกับเพื่อนผิวขาวที่ทำผิดแบบเดียวกัน (US Department of Education Office for Civil Rights, 2014) และเมื่อถูกส่งไปถึงกระบวนการยุติธรรม เด็กผิวดำมักมีโอกาสมากกว่าเด็กผิวขาว 18 เท่าที่จะโดนดำเนินดคีในฐานะผู้ใหญ่ ในขณะที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ (Goff, Phillip Atiba, et al., 2014)
กระบวนการยุติธรรม - สัดส่วนประชากรผิวดำ คิดเป็น 13% ของประชากรในอเมริกา แต่คิดเป็น 40% ของประชากรที่ติดคุก (Prison Policy Initiative, 2014) ซึ่งมีสถิติและข้อมูลมากมายที่ยืนยันได้ว่ารากของปัญหาไม่ใช่เพราะมีจำนวนคนผิวดำกระทำความผิดมากกว่าคนผิวสีอื่นๆ แต่เป็นเพราะเมื่อคนผิวขาวกับคนผิวดำทำความผิดอันเดียวกัน คนผิวดำมักถูกจับกุมหรือดำเนินคดีมากกว่า และการถูกดำเนินคดีของคนผิวดำมักจบลงที่การติดคุกมากกว่าคนผิวขาวที่กระทำความผิดแบบเดียวกัน ต้นตอนอกจากจะเป็นอคติในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังมาจากการที่ชุมชนคนผิวดำมักเป็นเป้าหมายที่ตำรวจจับตาและคุกคามมากกว่า และเมื่อเกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจ คนผิวดำมักถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรง ดังนั้น นายจอร์จ ฟลอยด์ เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยหลายพันชื่อของคนอเมริกันผิวดำที่เป็นเหยื่อความรุนแรงของตำรวจ
การบริการทางสาธารณสุข - ในระบบการบริการทางสาธารณสุขก็ยังมีความไม่เท่าเทียม มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าหมอในระบบโรงพยาบาลประมาณ 67% มีอคติต่อคนผิวดำ (American Journal of Public Health, 2012) โรงพยาบาลที่คนผิวดำไปใช้บริการได้ (จากข้อจำกัดเรื่องการเงินการที่อยู่อาศัย) ก็มักเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐน้อยและมีเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์น้อยกว่า แม้คนผิวดำที่เป็นหมอ ก็ยังเจออุปสรรคในการได้รับการสนับสนุนเพื่อทำโครงการวิจัยเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานหมอคนผิวขาวที่มีวุฒิการศึกษาและประสบการณ์เท่ากัน (Ginther et al., 2011)
ความมั่งมี - หนึ่งในสิ่งวัดความร่ำรวยหรือมั่งมีของคนอเมริกาคือการเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อการเป็นเจ้าของบ้านเป็นอุปสรรคสำหรับคนผิวดำที่ติดอยู่ในกับดักความไม่เท่าเทียมเหมือนเดิม พวกเขาจึงไม่สามารถมีทรัพย์สินสะสมในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ความมั่งมียังเป็นสิ่งที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อรุ่นก่อนหน้าพวกเขาโดนกีดกันจากสังคมทุกทาง พวกเขาจะส่งต่ออะไรให้รุ่นต่อไป
เหล่านี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมเชิงระบบซึ่งสอนให้เรารู้ว่าแม้ประวัติศาสตร์ของการกดขี่ในรูปแบบที่ชัดเจนจะจบไปแล้ว แต่ความอยุติธรรมยังแทรกซึม กัดกิน และส่งผลลบอยู่ในระบบสังคมจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น การประท้วงที่เกิดจากการกระทำรุนแรงของตำรวจในครั้งนี้เป็นเพียงแต่อาการแสดงออกปลายทางของความเจ็บป่วยเรื้อรังในการกระทำรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวสีโดยเฉพาะคนผิวดำมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในความไม่เท่าเทียมหลากหลายที่ประชากรผิวสีในสหรัฐอเมริกาต้องประสบอยู่ทุกวันของชีวิต ความไม่เท่าเทียมนี้ในสังคมอเมริกาเป็นสิ่งที่น่ากลัวเนื่องจากมีแง่มุมบางอย่างที่มองไม่เห็นด้วยตา เพราะมันเป็นเรื่องของอคติที่เติบโตและพัฒนามาเป็นระบบสังคมที่ผุพังเช่นทุกวันนี้
ดังนั้น นอกจากการติดตามข่าวเรื่องการประท้วงแล้ว การทำความเข้าใจความไม่เท่าเทียมที่เป็นรากของปัญหาทั้งหมดนี้ในประเทศเขา อาจจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราเห็นแง่มุมของคอร์รัปชันได้ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้นในประเทศเรา ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องการใช้เงินหรืออำนาจในทางมิชอบ แต่รวมไปถึงสังคมที่มีความผุพังด้านคุณธรรมและกดขี่คนบางกลุ่มบนพื้นฐานของลักษณะหรือความคิดที่แตกต่างด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี