ในช่วงเดือนที่ผ่านมา บทความภายใต้คอลัมน์ “ลงมือ สู้โกง”ได้เขียนถึงข้อค้นพบจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียนที่น่าสนใจไว้หลายตอน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการออกแบบและการทดลองต้นแบบเครื่องมือการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของเยาวชน ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ดำเนินงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยจะขอชวนผู้อ่านมาถอดรหัสกระบวนการวิจัยในการออกแบบเครื่องมือ “We The Students” ที่ถูกพูดถึงในบทความหลายตอนที่ผ่านมา โดยเครื่องมือนี้จะช่วยส่งเสริมบทบาทของกลุ่ม “นักเรียน” ในการป้องกันคอร์รัปชันได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทีมวิจัยให้ความสำคัญเนื่องจากมีศักยภาพสูงในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในรั้วโรงเรียน แต่ในความเป็นจริงกลุ่มนักเรียนส่วนใหญ่กลับมีโอกาสในการมีส่วนร่วมทำงานกับโรงเรียนของพวกเขาเองน้อยมาก
ทีมวิจัยได้ตั้งสมมุติฐานไว้ว่า การมีเครื่องมือหรือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือทำจริงและหยิบยกปัญหาใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขามาแก้ไข ก่อนจะขยับไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันนอกรั้วโรงเรียน จะช่วยสร้างจิตสำนึกในการทำงานเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันที่สำคัญในอนาคตได้ โดยแนวทางการปลูกฝังรูปแบบนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำหน้าที่สนับสนุนเครื่องมือและทรัพยากรในการต้านโกงเพื่อให้นักเรียนได้เข้าร่วมการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านการลงมือทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชนของเขาตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการออกแบบพื้นที่หรือโครงการที่ดำเนินการโดยนักเรียนเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ภายในกลุ่มและสร้างความตระหนักรู้ในการต่อต้านคอร์รัปชันได้ดีกว่าการปลูกฝังผ่านการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
โจทย์วิจัยนี้จึงมีความท้าทายอยู่ที่ว่า เราจะออกแบบเครื่องมือสำหรับนักเรียนด้วยวิธีใดที่จะทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องมือนี้ไปกับเราตั้งแต่ต้นทางเหมือนกับแนวทางของโครงการที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น Check My School, Development Check, Integrity Club และ School Management Committees ที่ดึงเอากลุ่มนักเรียนเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เครื่องมือได้รับการยอมรับจากกลุ่มนักเรียน ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจึงได้นำกระบวนการ design thinking มาใช้เพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของนักเรียน โดยหัวใจสำคัญของกระบวนการอยู่ที่ “นักเรียน” และ “การแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์” เน้นทำความเข้าใจว่าพวกเขาต้องการอะไรและนำมุมมองที่ได้มาออกแบบเครื่องมือที่พัฒนาจากล่างขึ้นบน (bottom-up research) วิธีการนี้จึงน่าจะตอบโจทย์ของงานวิจัยได้ โดยทีมวิจัยทำหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยงผ่านกระบวนการการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งมีกระบวนการวิจัยที่นำมาถอดรหัสได้ 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 เริ่มต้นจากการรวบรวม pain points ที่สำคัญของนักเรียนที่ทำให้การต่อต้านการคอร์รัปชันไม่มีประสิทธิภาพด้วยกระบวนการ “empathize” ผ่านการฝังตัวในทวิตเตอร์กว่า 5 เดือน รวมถึงการพูดคุยและทำกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมาย พบว่า นักเรียนมีความต้องการทำงานร่วมกับโรงเรียนในการ feedback ปัญหา แต่มีข้อจำกัด 3 ด้าน คือ การขาดการเข้าถึงข้อมูลเปิดของโรงเรียน ขาดกลไกการมีส่วนร่วมปฏิบัติ และขาดพื้นที่ในการร่วมมือ ทำให้การมีส่วนร่วมยังไม่ได้รับการยอมรับจากโรงเรียน โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียนที่ตอนนี้ยังเป็นเรื่องของโรงเรียนมากกว่าการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวและติดแฮชแท็กเพื่อรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นกว่าร้อยโรงเรียน เรียกร้องให้นักเรียนเข้ามามีบทบาทในการกำกับติดตามปัญหา เช่น #รร.มัธยมชื่อดังย่านฝั่งธน #รร.ดังย่านบางกะปิ #รร.มัธยมหลังเขา แฮชแท็กเหล่านี้สะท้อนว่านักเรียนมีความพร้อมในการลงมือทำแต่ยังขาดโอกาสและพื้นที่ในการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียน คุณครูและผู้บริหารภายในรั้วโรงเรียนของพวกเขา
ขั้นที่ 2 ทำการระบุปัญหาของนักเรียนที่พบร่วมกันด้วยกระบวนการ “define” และหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการ “ideate” ซึ่งจากการวิเคราะห์ pain points และระดมความเห็นกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ได้ไอเดียมาออกแบบเครื่องมือ “We The Students” โดยเป็นการผนวกเอาจุดเด่นของพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์มาทดลองสร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันภายใต้กระบวนการ “OPEN-JOIN-LEARN” ที่มีทั้งกิจกรรมในรั้วโรงเรียนและการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ โดย “OPEN” ช่วยลดข้อจำกัดด้านการเข้าถึงข้อมูลด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลเปิดของโรงเรียนและออกแบบให้เข้าใจง่าย ตอบโจทย์ในการติดตามการทำงานของโรงเรียนได้ เช่น งบประมาณโรงเรียน “JOIN” ช่วยสร้างกลไกการมีส่วนร่วมสำรวจคุณภาพการให้บริการของโรงเรียนและสร้างเกณฑ์มาตรฐานการประเมินเพื่อสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียนได้จริง และ “LEARN” ช่วยเปิดพื้นที่ให้นักเรียนร่วมทดลองใช้กลไกดังกล่าวและผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างนักเรียนและโรงเรียน ซึ่งเครื่องมือนี้มี Key หลักอยู่ที่การส่งเสริมบทบาทของนักเรียนว่าเขาสามารถตรวจสอบโรงเรียนได้ผ่านเครื่องมือการสำรวจ และให้พื้นที่ในการร่วมมือแก้ปัญหาของนักเรียนและครู
ขั้นที่ 3 ทำการออกแบบ prototype และนำไปทดสอบเพื่อเก็บรวบรวมผลลัพธ์และทำการวิเคราะห์ผลการใช้งานเครื่องมือที่มาจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยได้นำกิจกรรม “School Through Our Eyes” และเครื่องมือ “We The Students” ไปทดลองกับกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายเพื่อประเมินประสิทธิภาพของกลไกสำรวจที่ได้ออกแบบไว้และการจัดทำข้อมูลเปิดของโรงเรียนเป้าหมาย ผลจากการทดลองร่วมกับนักเรียน คุณครูและผู้บริหารโรงเรียน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดย prototype สามารถใช้งานได้จริงและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ซึ่งกลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมก็มาด้วยความเต็มใจเพราะต้องการให้โรงเรียนมีการพัฒนา ส่วนคุณครูและผู้บริหารก็ได้รับ feedback ทั้งทางบวกและทางลบเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด พิสูจน์ได้จากปัญหาที่ถูกสำรวจผ่านเครื่องมือของเราได้รับการแก้ไขจริงโดยโรงเรียนดังนั้น เครื่องมือของเราจึงแสดงให้เห็นว่าทั้งโรงเรียนและนักเรียนพร้อมที่จะทำงานร่วมกันหากมีพื้นที่หรือเครื่องมือที่เหมาะสมมาเป็นตัวเชื่อมระหว่างกัน รวมถึงการออกแบบเครื่องมือภายใต้กระบวนการ “OPEN-JOIN-LEARN” ช่วยให้การมีส่วนร่วมของนักเรียนมีคุณภาพมากขึ้นจากการเข้าถึงข้อมูลเปิดเกี่ยวกับโรงเรียนที่ถูกเรียบเรียงให้อยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้งานและการสร้างช่องทางให้นักเรียนรายงานปัญหาคุณภาพการให้บริการของโรงเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และร่วมประเมินความพึงพอใจได้ ทำให้เครื่องมือนี้เป็น “กระบอกเสียง”ให้กับนักเรียนอย่างแท้จริง รวมถึงนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างมีส่วนร่วมของหน่วยงานทีเกี่ยวข้องและประชาชนที่สนใจ
3 ขั้นตอนที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปนั้น เป็นการถอดรหัสกระบวนการออกแบบเครื่องมือ “We The Students” ที่เป็นต้นแบบของเครื่องมือป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของนักเรียน โดยได้นำเอากระบวนการ design thinking มาใช้ซึ่งจัดเป็นกระบวนการใหม่ที่นำมาใช้ในงานวิจัยด้านการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเพื่อให้ได้แนวทางการออกแบบเครื่องมือที่ตอบโจทย์มากที่สุดและเกิดการใช้งานจริงในกลุ่มเป้าหมาย โดยในระยะต่อไป ทีมวิจัยคาดหวังว่าเครื่องมือนี้จะถูกผลักดันให้นำไปใช้จริงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการประเมินคุณภาพของโรงเรียนควบคู่ไปกับการประเมินเชิงปริมาณของภาครัฐหรือนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในหลักสูตรต้านโกงเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง รวมถึงเป็นเครื่องมือให้กับนักเรียนที่ต้องการมีส่วนร่วมบริหารจัดการโรงเรียนแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเข้าไปพูดคุยกันได้ที่เพจเฟซบุ๊ค We The Students Thailand และร่วมติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการเพื่อสร้างสังคมที่เอื้อให้“เสียง” ของนักเรียนทุกคนมีความหมายอย่างแท้จริง
สุภัจจา อังศ์สุวรรณ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี