ภาพลักษณ์หนึ่งของสังคมไทยที่มีความโดดเด่นคือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการให้ ผู้คนนิยมการทำบุญโดยการบริจาคทั้งด้านทุนทรัพย์ สิ่งของอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ หรือสิ่งของอื่นๆ เพื่อการช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่นๆ การเปิดรับบริจาคเงินทุนและสิ่งของเป็นที่พบเห็นกันได้ทั่วไปในสังคม มีการบริจาคในหลากหลายช่องทาง เช่น การรับบริจาคผ่านหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงในแวดวงสังคม
กรณีกระแสร้อนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมาก เมื่อคุณฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชชื่อดังเปิดรับบริจาคเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการโพสต์ข้อความขอรับบริจาคผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจของส่วนตัว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 และระบุระยะเวลาในการรับบริจาค 1 เดือน ในตอนแรกมีการโพสต์ข้อความให้บริจาคผ่านกองทุนลมหายใจเชียงใหม่ ภายในวันเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลงขอให้บริจาคผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว และอ้างว่าเป็นคำแนะนำของผู้ใหญ่เพื่อความสะดวกในการบริหารเงินหรือนำเงินบริจาคไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่
ภายหลังจากการเปิดรับบริจาค กลับพบการร้องเรียนจากทีมอาสาดับไฟป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” ว่า ทีมอาสาไม่เคยได้รับเงิน หรือสิ่งของที่ได้จากการบริจาคครั้งนี้ และไม่พบการเปิดเผยยอดบริจาค ข้อร้องเรียนดังกล่าวได้รับความสนใจจากคนในสังคมจนเกิดการตั้งคำถามถึงเงินบริจาคว่าเป็นจำนวนเท่าใด มีการนำเงินบริจาคไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และมีการเรียกร้องให้คุณฌอนออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคม
เมื่อสังคมมีการเรียกร้องให้มีการชี้แจงเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 คุณฌอนได้ออกมาชี้แจงรอบแรก โดยระบุว่าจากการขอรับบริจาคที่ผ่านมา มีผู้ใจบุญร่วมบริจาคเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 875,741 บาท พร้อมแจ้งรายละเอียดการนำเงินไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและวิกฤตการณ์โควิด โดยเงินส่วนหนึ่งนำไปบริจาคและซื้อสิ่งของส่งมอบให้พื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และนำเงินไปใช้โฆษณาโพสต์ โดยจ่ายค่าโฆษณาให้แก่ทางเฟซบุ๊คเป็นจำนวนเงิน 254,516 บาท หลังการชี้แจงสังคมก็ยังมีข้อสงสัยต่อเนื่องหลายประการ เช่น มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ยอดรับบริจาคที่เปิดรับเป็นเวลานานจะมียอดเพียงหลักแสน การใช้เงินบริจาคไม่ตรงตามชี้แจงวัตถุประสงค์ การนำเงินบริจาคไปใช้ในงานด้านการโฆษณามีความเหมาะสมหรือไม่นอกจากนี้ยังพบว่าเอกสารการซื้อของเพื่อไปบริจาคพบว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ประชาชนจึงต่างช่วยกันสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม จนนำมาสู่การที่หน่วยงานรัฐเข้าดำเนินคดี
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 คุณฌอนได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง พร้อมแจ้งจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคทั้งหมด 1,338,644 บาท พร้อมแสดงเอกสารชี้แจงรายละเอียดการเดินบัญชีธนาคารที่ใช้เปิดรับ (statement) โดยมีประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากเข้ามาร่วมกันตรวจสอบเอกสาร และทำการตั้งข้อสังเกตในการรายละเอียดการเงินสำหรับการเปิดรับบริจาคในครั้งนี้
เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ สังคมไทยจึงควรตระหนักถึงเรื่องความโปร่งใสในการรับบริจาคมากขึ้น เพราะปัจจุบันนั้นมีการเปิดรับบริจาคเช่นนี้บ่อยครั้ง เพื่อนำเงินและสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ ทั้งนี้เพื่อคลายข้อสงสัยเรื่องว่ามีกระบวนการอย่างไรให้การเปิดรับบริจาคถูกต้องตามกฎหมาย ผู้เขียนจึงขอยกพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ที่มีการกำหนดลักษณะการรับบริจาคหรือรับเรี่ยไรเพื่ออธิบายหลักเกณฑ์สำคัญทางกฎหมายที่ใช้ในการเปิดรับบริจาค
ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 มาตรา 4 ระบุว่า การเรี่ยไรหมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย
ผู้ที่จะทำการเรี่ยไรจำเป็นต้องมีการขออนุญาตทำการเรี่ยไรจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำหรับต่างจังหวัดสามารถติดต่อขออนุญาตที่ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยผู้ขออนุญาตทำการเรี่ยไรต้องมีการระบุวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไร มีการกำหนดวิธีการ จำนวนเงินที่ต้องการ สถานที่ที่ทำการเรี่ยไร และกำหนดระยะเวลาในการเรี่ยไรให้ชัดเจน ในกรณีที่มีการได้รับอนุญาตจะมีการมอบใบอนุญาตเรี่ยไรให้กับผู้ร้องขอ และผู้ได้รับอนุญาตจำเป็นต้องแสดงใบอนุญาตต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่ร้องขอตรวจสอบการเรี่ยไร
คุณสมบัติผู้ขอทำการเรี่ยไรต้องเป็นบุคคลผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ ไม่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ และไม่เคยต้องโทษฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะ และพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบ 5 ปี ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ
นอกจากหลักเกณฑ์ปฏิบัติขออนุญาตในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังมีการกำหนดบทลงโทษ หากเกิดการหลอกลวงหรือมีเจตนาฉ้อโกง ให้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 แล้วแต่กรณีประกอบกับฐานความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดมูลฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และในกรณีที่ทำการเรี่ยไรผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การโพสต์ข้อความในเชิงรับบริจาคผ่านทางเฟซบุ๊คเพจของตนจะนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบการพิจารณาการเปิดรับบริจาคหรือเรี่ยไรที่มีลักษณะหลอกลวงหรือเจตนาฉ้อโกงเป็นความผิดในกฎหมายหลายฉบับในการพิจารณาบทลงโทษมักจะพิจาณาแต่กรณีที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ถือว่าเป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ในการควบคุมการเรี่ยไรหรือการรับบริจาค อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้ยังพบช่องว่างอีกมาก เช่น ความล้าหลังของกฎหมายที่มีการบัญญัติและบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานานอาจจะไม่ครอบคลุมการขอรับบริจาคในทุกรูปแบบที่พบเห็นในปัจจุบัน เช่น ข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติผู้ขอเรี่ยไรตาม พ.ร.บ. ไม่ได้หมายรวมถึงนิติบุคคลที่ขออนุญาตเรี่ยไรได้ ไม่มีการระบุอำนาจให้คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรดำเนินการตรวจสอบภายหลังการรับเรี่ยไรได้ทันที ไม่มีการเปิดช่องให้หน่วยงานภายนอกหรือบุคคลภายนอกเข้าตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริจาค และการกำหนดบทลงโทษปรับตามพ.ร.บ.เป็นจำนวนที่น้อยเกินไป
การเรี่ยไรหรือการเปิดขอรับบริจาคจำเป็นต้องมีการขออนุญาตเพื่อดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย และเพื่อความมั่นใจผู้บริจาคควรขอให้ผู้รับบริจาคแสดงเอกสารการรับอนุญาตตามกฎหมาย และการขอให้มีการเปิดเผยยอดเงินรับบริจาค อีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้เขียนนำมาเพิ่มเติม คือผู้สนใจบริจาคสามารถบริจาคผ่านแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือได้ ยกตัวอย่างได้จากการบริจาคผ่านเทใจซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเปิดระดมทุนช่วยเหลือโครงการด้านสังคมต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และอื่นๆ โดยผู้ร่วมบริจาคสามารถเลือกบริจาคให้กับโครงการที่ตนสนใจได้ มีการแสดงรายละเอียดโครงการ ยอดเงินรับบริจาค ระยะเวลาเปิดรับบริจาคอย่างชัดเจน ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างความมั่นใจและความสะดวกต่อผู้ต้องการบริจาคได้อย่างดี
โดย พัชรี ตรีพรม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี