สวัสดีค่ะผู้อ่าน ผ่านมาครึ่งปีแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างคะพวกเราทุกคนคงได้เผชิญสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กัน คือ เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบมากพอสมควร ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างไวที่สุด ผู้เขียนจึงขอชวนท่านผู้อ่านมาดูว่าภาครัฐมีแนวทางฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 นี้อย่างไร โดยขอยกมาตรการหนึ่งคือ “แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม วงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท” หนึ่งใน พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท
เหตุผลที่นำ “แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม วงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท” มากล่าวในบทความนี้ เนื่องจากเป็นงบประมาณที่จัดสรรให้หน่วยงานราชการนำไปดำเนินโครงการในพื้นที่ต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ และมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพวกเราทุกคน โดยแต่ละโครงการมีแนวทางเพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทยจาก
ผลกระทบโควิด-19 เช่น การสร้างงานสร้างอาชีพ การยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบล กระตุ้นการอุปโภค บริโภค และการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยโครงการต่างๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไปจนถึงได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนนำงบประมาณไปดำเนินโครงการ ซึ่งได้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการเหล่านี้ในเว็บไซต์ ThaiME ที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://nscr.nesdb.go.th/thaime/ ประกอบกับอ่านบทความนี้เพื่อให้เห็นภาพไปพร้อมๆ กันค่ะ
ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของเว็บไซต์ ThaiME ในลำดับถัดไป ผู้เขียนขอชื่นชมสภาพัฒน์ว่ามีแนวทางจัดทำเว็บไซต์ที่ดี สนับสนุนให้เกิดความโปร่งใส ในที่นี้หมายถึง มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ และให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากในช่วงระยะที่มีการยื่นเสนอโครงการของแต่ละหน่วยงานเพื่อเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรอง ทางสภาพัฒน์ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการของแต่ละหน่วยงานที่ได้เสนอมา ผู้เขียนเองมีความสนใจ และได้เข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ ThaiME อยู่บ่อยครั้งตั้งแต่เริ่มมีการเปิดเผยโครงการที่ยื่นเสนอ จนถึงปัจจุบันที่มีการอนุมัติโครงการไปแล้วบางส่วน หลังจากร่วมตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ ThaiME ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่จับตามองการใช้งบ 4 แสนล้านบาทนี้ พบว่า ThaiME มีการพัฒนาที่ดี สามารถเปิดเผยข้อมูล และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ รวมไปถึงมีการทำงานร่วมกับเว็บไซต์ “ไทยเฝ้าระวัง” ตรวจสอบเงินกู้ สู้ COVID ของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) เพื่อรับแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนความผิดปกติจากโครงการเหล่านั้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อสังเกตบางประการเพื่อร่วมเป็นแนวทางในการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น (ข้อสังเกตจากข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค. 2563) ดังนี้
1.การเปิดเผยข้อมูล ค่อนข้างยากต่อการใช้งานหรือยากต่อการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ เนื่องจากชุดข้อมูลมีโครงสร้างที่หลากหลาย มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา อาจทำให้เกิดความสับสนในการติดตามข้อมูลและความคืบหน้าในการดำเนินงาน ซึ่งเข้าใจได้ว่าผู้จัดทำกำลังพัฒนาระบบ และพยายามปรับให้เกิดความเหมาะสมอย่างมากที่สุด
2.การแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านฟอร์มซึ่งจำเป็นต้องกรอกข้อมูลชื่อ-นามสกุล และเลขบัตรประจำตัวประชาชน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถกดเพื่อแสดงความเห็นได้ อาจจะสร้างความกังวลหรือความไม่สะดวกใจในการแสดงความคิดเห็นได้
3.ไม่พบข้อสรุปผลของการแสดงความคิดเห็นจากประชาชน ไม่ทราบความคืบหน้าว่าหน่วยงานได้นำความคิดเห็นเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร จึงยากต่อการติดตามความคืบหน้าของเรื่องที่ส่งไป
นอกจากนี้ผู้เขียนพบว่าเพจเฟซบุ๊ค “ต้องแฉ” ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ และโครงการต่างๆ ภายใต้แผนดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และช่วยกันจับตามองการใช้งบ 4 แสนล้านบาท และจากการสังเกตในเพจต้องแฉ มีผู้ให้ความสนใจ และมีความเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่อโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และนำเสนอเหตุผลจากประสบการณ์ที่แต่ละคนเคยพบเจอการโกงในโครงการลักษณะนั้นๆ มาแล้ว โดยเห็นได้ว่าภาคประชาชนมีความพร้อม และพยายามที่จะร่วมจับตามองการทำงานภาครัฐ ต้องการให้เกิดความโปร่งใส และอยากร่วมต่อต้านคอร์รัปชันไปด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นหากภาครัฐมีการเปิดเผยข้อมูล และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ด้วยการพัฒนาระบบเปิดเผยข้อมูลที่ง่ายต่อการใช้งาน และตอบสนองการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจทำให้เกิดประสิทธิผลได้มากขึ้น
ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลจากโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 3 โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ ซึ่งได้ทำการศึกษาว่า สังคมไทยมีความพยายามในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมาอย่างยาวนานแต่เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิผล จากคำถามนี้ผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างคะ หลายๆ คนคงมีคำตอบในใจตามมุมมองของแต่ละคน ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลส่วนหนึ่งจากวิจัยที่สอดคล้องกับเรื่องราวของบทความนี้มาร่วมตอบคำถามไปด้วยกันค่ะ นั่นคือ “การเปิดเผยข้อมูลทางการเมืองให้กับสาธารณะ” งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการทดสอบ และพบว่า การออกแบบระบบการเปิดเผยข้อมูล (open data) ที่ผ่านมามักเน้นว่าจะเปิดเผยข้อมูลอะไร ออกแบบหน้าตาเว็บไซต์อย่างไร ทำให้เว็บไซต์ที่เปิดเผยข้อมูลจำนวนมากมีความสวยงามแต่ขาดการสร้างผลกระทบจากการจัดกลุ่มข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากพอ จึงทำให้เป็นการเก็บข้อมูลอย่างไม่เป็นระบบตามความต้องการของประชาชน จากการทดลองกับประชาชนทั่วไปที่เข้าถึงอินเตอร์เนตได้ ได้ผลการศึกษาที่สามารถนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายได้ ดังนี้
1.นอกจากการเปิดเผยข้อมูลย่างครบถ้วน และมีจำนวนมากแล้ว ควรจัดหมวดตามประเด็นพิจารณาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนหรือภาคส่วนที่สนใจในประเด็น สามารถติดตามการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ
2.การจัดทำเว็บไซต์ ควรมีคุณสมบัติในการใช้งานที่ง่ายสำหรับบุคคลทั่วไป การมีส่วนร่วมในการออกแบบของประชนทั่วไปจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
3.การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ควรมีการบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
จากข้อสรุปส่วนหนึ่งของงานวิจัยอาจเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ได้นำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้กับระบบเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อตอบสนองตามความต้องการ และเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานของประชาชน ให้สามารถร่วมกันเป็นหูเป็นตา สอดส่อง และป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชันได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เช่นนี้ ประเทศชาติไม่ควรถูกฉุดรั้งจากคอร์รัปชันตัวร้ายที่รุนแรงไม่แพ้เชื้อไวรัส และเป็นเชื้อร้ายกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน สุดท้ายนี้ผู้เขียนสนับสนุน และเป็นกำลังใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ และพร้อมพัฒนาการทำงานเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับประชาชน
โดย เจนจิรา บำรุงศิลป์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี