เนื่องในวันแม่แห่งชาติซึ่งเป็นวันที่ให้พวกเราต่างระลึกถึงความรักของผู้เป็นแม่ ผู้เขียนอยากให้วันแม่เป็นวันที่พวกเราให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศด้วยเช่นกัน เพราะความเท่าเทียมทางเพศย่อมหมายถึงโอกาสที่ต่างๆ เช่น การศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการรัฐและการทรัพยากรที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน รวมถึงผู้หญิงผู้ซึ่งเป็นแม่ของพวกเรา ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าการคอร์รัปชันนั้นเปรียบเสมือนภัยร้ายที่แฝงอยู่ในสังคมที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ทุกคนคงทราบอยู่แล้วว่าการคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก และพวกเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบของมัน แต่ที่บางท่านอาจจะยังไม่ทราบคือ ภัยร้ายนี้ส่งผลกระทบต่อบุคคลบางกลุ่มมากกว่าคนทั่วไปอีก จากการศึกษาของหลายหน่วยงาน เช่น UN Women และองค์กร Transparency International (TI) ชี้ว่าประชากรเพศหญิง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีระดับรายได้ต่ำ เป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบและต้องแบกรับภาระจากการคอร์รัปชันมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่นในสังคม เพราะว่าผู้หญิงกลุ่มนี้มักไม่รู้ว่าการเข้าถึงบริการสาธารณะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้ช่องโหว่นี้แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง และเมื่อเราดูโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเช่นในสังคมไทย จะเห็นได้ว่าผู้หญิงส่วนมากยังถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านที่ดีและต้องดูแลครอบครัว จุดนี้เองทำให้ผู้หญิงจะต้องรับภาระจากการคอร์รัปชันมากกว่าผู้ชาย ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายต่อไป
การคอร์รัปชันทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กได้สร้างอุปสรรคต่อผู้หญิงในการเข้าถึงการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานและทรัพยากรที่จำเป็น การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ทำให้รัฐนั้นสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลไปสู่คนแค่บางกลุ่ม ทำให้การจัดสรรงบประมาณและการให้บริการสาธารณะไม่มีประสิทธิภาพ จากการศึกษาในปี 2557 โดยองค์กร TI ชี้ว่าผู้หญิงที่มีฐานะยากจนต้องพึ่งพาสวัสดิการและการบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐมากกว่าเพศชาย เช่น การรับการดูแลครรภ์ และการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น ผู้หญิงจึงได้รับผลกระทบมากเมื่อสวัสดิการที่จำเป็นเหล่านี้ขาดหายไปซึ่งการศึกษานี้พบว่าประเทศที่มีการเรียกเก็บสินบนจากการบริการสาธารณสุขสูงจะมีอัตราที่ผู้หญิงเสียชีวิตจากการคลอดบุตรสูงมาก เพราะผู้หญิงหลายคนไม่มีทรัพยากรมากพอจะจ่ายค่าสินบน จึงเลือกที่จะคลอดบุตรที่บ้าน ซึ่งมีความอันตรายมากกว่า แน่นอนว่าในระบบที่มีการโกงเยอะขนาดนี้ ผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินได้ก็จะถูกดีดออกจากการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ในกรณีที่ผู้หญิงต้องเป็นผู้ที่ดูแลครอบครัวหลัก เช่น การเลี้ยงดูบุตร และคนชราในบ้าน ยิ่งมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบของการคอร์รัปชันมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากตนเองต้องไปใช้บริการสาธารณะแล้ว ยังจะต้องพาลูกไปใช้บริการอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งหากมีการเรียกเก็บสินบนเพิ่มเติมอีก แน่นอนว่าผู้หญิงจะต้องรับภาระมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชันจึงยิ่งซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำทางเพศมากกว่าเดิมในมิติของรายได้และฉุดรั้งไม่ให้ผู้หญิงสร้างตัวให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกหลายชิ้นที่ชี้ว่ารูปแบบการคอร์รัปชันที่ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงจะพบเจอมากที่สุด คือ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ หรือsextortion หรือ การคอร์รัปชันรูปแบบที่ผู้ที่มีอำนาจยื่นข้อเสนอทางเพศ เช่น การขอมีเพศสัมพันธ์ เพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่างให้กับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าเป็นการ “ใช้ร่างกายในการจ่ายสินบน” แทนการจ่ายในรูปแบบของเม็ดเงิน เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งทำเรื่องขอกรีนการ์ดสำหรับอาศัยในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขู่ว่าจะไม่ยอมอนุมัติกรีนการ์ดให้และจะส่งญาติพี่น้องเธอกลับประเทศหากเธอไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย หรือในโรงเรียนนักเรียนผู้หญิงหลายคนยอมมีเซ็กซ์กับอาจารย์เพื่อแลกกับเกรดที่ดีขึ้น เป็นต้น สิ่งที่น่าแปลกใจคือ การคอร์รัปชันรูปแบบนี้มักถูกมองข้ามว่าไม่ใช่การคอร์รัปชัน เพราะหลายคนมองว่าการคอร์รัปชันเกี่ยวข้องกับเงินเพียงเท่านั้น
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านหลายคนคงตั้งคำถามว่าเราจะเริ่มต้นเข้ามาเป็นความหวังในการปราบโกงเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างไร? ในข้อนี้องค์กร TI ได้เสนอแนวทางในการต้านโกงที่สอดแทรกมิติของความเท่าเทียมทางเพศไว้น่าสนใจมากครับ
ประการแรก รัฐบาลควรจะมีมาตรการในการส่งเสริมสิทธิสตรี โดยอาจเริ่มจากการอบรมเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการจากรัฐที่สำคัญ เมื่อผู้หญิงรู้จักสิทธิของตนเองก็จะมีแนวโน้วที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เรียกร้องความโปร่งใสและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้นโยบายและการจัดสรรงบประมาณสะท้อนความต้องการของผู้หญิงด้วย
ประการที่สอง คือการมีกลไกในการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสที่มีความโปร่งใส สามารถเข้าถึงได้ และมีความปลอดภัยต่อที่ผู้ร้องเรียน เพื่อเป็นช่องทางที่ช่วยเหลือเหยื่อคอร์รัปชันในรูปแบบการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ในหลายกรณีผู้หญิงมีความหวาดกลัวที่จะร้องเรียนและในหลายบริบทสังคมการถูกข่มขืนเป็นเรื่องน่าอายที่จะร้องเรียน จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบการร้องเรียนที่ช่วยปกปิดผู้ร้องเรียนด้วย
และประการที่สาม คือ การปรับให้มาตรการปราบโกงคำนึงถึงมิติผลกระทบที่แตกต่างกันต่อประชากรเพศชายและเพศหญิงด้วย กระบวนการสร้างมาตรการในการปราบโกงนั้นควรที่จะสอดแทรกตัวชี้วัดในเรื่องของเพศและการคอร์รัปชันด้วย (gender dimension of corruption)
ในโอกาสวันแม่ปีนี้ สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนมีสิทธิและสามารถจะมีส่วนร่วมทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อแม่และผู้หญิงทุกคนได้ คือการร่วมต้านโกงด้วยกันผ่านวิธีและกระบวนการต่างๆ ที่เราเคยได้นำเสนอไปในบทความต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้จาก facebook page HAND Social Enterprise นะครับ
โดย เจริญ สู้ทุกทิศ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี