นวัตกรรม หรือ Innovation เป็นสิ่งที่เราคงจะคุ้นและได้ยินกันมาสักพัก แต่ใครบ้างจะสามารถจำกัดความได้ว่า นวัตกรรมคืออะไร? และนวัตกรรมจะบวกรวมกับสังคมได้อย่างไร?
ถ้าพูดถึงนวัตกรรม เราคงจะนึกถึงเทคโนโลยี วิทยาการ ความทันสมัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ อย่างที่ Berkun (2019) เขียนในหนังสือของเขาว่า มายาคติหนึ่งของนวัตกรรมคือการเกิดโมเม้นท์ปิ๊งแวบที่ทำให้เราคิดค้นสิ่งใหม่แบบชั่วขณะ และกลายเป็นว่าสิ่งๆ นั้นคือของสดใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดหรือเกิดขึ้นบนโลกใบนี้มาก่อน ก็คงไม่แปลกนักถ้าจะกล่าวแบบกว้างๆ ว่า นวัตกรรมคือ “การสร้างสิ่งใหม่” “กระบวนการใหม่” หรือ “สิ่งของใหม่”
แล้วถ้าเอานวัตกรรมบวกกับสังคมล่ะ หน้าตาจะเป็นแบบไหน คุณสินี จักรธรานนท์ ประธานมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) ให้มุมมองเกี่ยวกับนวัตกรรมสังคมว่า “เป็นผลจากการพยายามหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้น อาจริเริ่มโดยผู้ที่เห็นปัญหา คิดวิเคราะห์และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อออกแบบแนวทางแก้ไข” ในทางเดียวกัน คุณคุณาวุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นว่า “นวัตกรรมสังคมคือความใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตัวกระบวนการหรือความรู้ ที่มีผลกระทบชัดเจน และมีความยั่งยืน” จากการให้มุมมองของทั้งสองท่านทำให้สรุปได้ว่า นวัตกรรมสังคม หรือ Social Innovation (SI) คือการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการใหม่ที่สร้างสรรค์ การใช้ทรัพยากรที่มีอย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างวิธีการแก้ปัญหาทางสังคมใหม่ๆ ที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน
เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ที่ทางองค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศให้ทั่วโลกเตรียมรับมือกับสภาวะการระบาดใหญ่ (pandemic) ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และการกักกันโรค (quarantine) จึงกลายเป็นวิถีทางสังคมใหม่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติและยึดถือเป็นหลักสำคัญ กลายเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มนวัตกรรมสังคมที่ฉับพลันเร่งด่วน โครงการมากมายถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนในสังคมที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นถึงความสำคัญและประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มนวัตกรรมสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตินี้ จึงได้ให้การสนับสนุนคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ChangeFusion, Ashoka Thailand และ HAND Social Enterprise ในการดำเนินโครงการวิจัยนวัตกรรมสังคมในวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อศึกษาสรุปบทเรียน ต่อยอด และสนับสนุนนวัตกรรมสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
คณะผู้วิจัยเริ่มศึกษาจากการสืบค้นออนไลน์ รวบรวมข้อมูลโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการระบาดในเดือนมกราคม พบว่ามีโครงการช่วยเหลือ เยียวยากลุ่มต่างๆ จำนวนกว่า 90 โครงการ แต่ละโครงการมีการดำเนินงานและให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันออกไป ยิ่งเป็นจุดที่น่าสนใจว่าภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน มีโครงการช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนได้ครอบคลุมทุกด้านเกือบร้อยโครงการ เราจึงดำเนินการศึกษาแบบเจาะลึกมากขึ้น โดยใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการเก็บข้อมูลเชิงลึกผ่านการตอบแบบสอบถามออนไลน์โดยผู้พัฒนาและดำเนินโครงการจำนวน 41 โครงการ ทำให้พบว่า SI ในช่วงวิกฤติโควิด-19 มี 5 ลักษณะเด่นร่วมกัน ได้แก่ 1.โครงการดำเนินงานโดยภาคประชาสังคมและเอกชนเป็นส่วนใหญ่ 2.โครงการริเริ่มพัฒนากันด้วยตัวเองจากการรวมกลุ่มกับเพื่อนหรือภาคี เน้นทีมงานที่เป็นอาสาสมัครเป็นหลัก 3.โครงการมีเป้าหมายชัดเจน มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและครอบคลุม 4.โครงการถูกก่อตั้งขึ้นโดยผู้คนที่มีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายที่อยากจะช่วยเหลือสังคม 5.โครงการกว่าครึ่งเลือกรูปแบบการช่วยเหลือโดยตรงในวิกฤติครั้งนี้เป็นหลัก เช่น การส่งเสริมด้านรายได้ อาชีพ หรือ การบริจาคอาหารและสิ่งของจำเป็น เป็นต้น
BKK Pay Forward เป็นตัวอย่าง SI ที่ถึงแม้ว่าโครงการมีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเพียงชั่วคราวในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่รูปแบบกระบวนการทำงานกลับน่านำเอามาถ่ายทอดเป็นบทเรียนวิชา SI101 ได้ โดยเริ่มต้นจาก 3 มี ง่าย ๆ คือ “มีแรงจูงใจ” ทำเพื่อสังคม “มีพื้นฐาน” ด้วยการนำประสบการณ์ทำงานหลายๆด้านมาประยุกต์ใช้ และ “มีเป้าหมาย” ชัดเจนมุ่งช่วยเหลือ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ร้านอาหาร ผู้ให้ที่อยากบริจาค และผู้รับที่เดือดร้อนจากการสูญเสียรายได้เพื่อยังชีพ ผนวกกับการทำงานของทีมงานและเครือข่าย ที่ทุกคนสามารถร่วมเป็นผู้ตรวจสอบได้โดยการเปิดเผยข้อมูลใน social media และรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าต่างๆ ผ่านกลุ่มแชทไลน์ โครงการจึงสามารถช่วยเหลือแจกจ่ายข้าวกล่องให้กลุ่มผู้เดือดร้อนได้กว่าประมาณ 23,000 อิ่ม และร้านอาหารจำนวนอีก 19 ร้าน ทั่วกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ จากการจัดสัมมนาออนไลน์ (webinar)โดยคณะผู้วิจัย หัวข้อ “SI รวมมิตร สู้โควิด-19”ที่ผ่านมา ตัวอย่าง SI ที่น่าจับตาอีกโครงการ คือInfoAid.org เว็บไซต์แพลตฟอร์มตัวกลางประสานด้านข้อมูลการบริจาคสิ่งของให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95, Face shield และเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุคนไร้บ้าน คนพิการ ผู้หญิง ผู้หญิงตั้งครรภ์ พนักงานบริการ และแรงงานข้ามชาติ ที่ยังต้องการความช่วยเหลือด้านสิ่งของยังชีพและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ โดยได้ร่วมมือกับ ChangeFusion ภาคีเครือข่ายทั้งภาคสังคมและภาคเอกชน เพื่อริเริ่มและดำเนินโครงการ จนสามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้ประมาณ 55,000 คน จาก 38 จังหวัดทั่วประเทศ
แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเห็นได้ชัดจากการศึกษาครั้งนี้ ว่าอะไรคือกุญแจดอกสำคัญของการไขประตูสู่ความสำเร็จและยั่งยืนของเหล่า SI ในช่วงวิกฤติ ก็คือ การทำงานตามหลักธรรมาภิบาล ที่ต้องอาศัย 2 หลักใหญ่ ทั้งหลักความโปร่งใส (transparency) คือโครงการต้องมีรูปแบบการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ซับซ้อน บวกกับหลักการมีส่วนร่วมโดยการสร้างความไว้วางใจ (trust building and participation) เปิดกว้างในการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคีต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ อันจะเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนและขยายผลต่อไปได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่านวัตกรรมสังคมเหล่านี้ แม้จะเริ่มมาจากเพียงการมีโมเม้นท์ปิ๊งแวบ แต่จะสามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้จริงและยั่งยืนได้ก็เพราะการมีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายชัดเจน มีความสร้างสรรค์ และรู้จักนำประสบการณ์หรือสิ่งที่มีอยู่มารังสรรค์ให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด บวกกับการทำงานอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนทำให้เกิดเป็น “นวัตกรรม+สังคม” สมการที่ใครนำไปใช้ก็สามารถสร้าง SI ได้ โดย “ไม่ต้องหัด”ก็ทำได้ในช่วงวิกฤติ
ท่านผู้อ่านสามารถติดตามผลการศึกษาโครงการวิจัยต่อได้ทางเพจเฟซบุ๊ค เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ, ChangeFusion, Ashoka Thailand และเพจเฟซบุ๊คHAND Social Enterprise
โดย ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี