ในช่วงที่ผ่านมานี้ ผมได้เห็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจมากสองกรณีที่เกี่ยวข้องกับการโกงและการสู้โกง เชื่อว่าท่านผู้อ่านเองก็คงสนใจและเกาะติดในประเด็นดังกล่าวไม่ต่างกัน ระหว่างติดตามอยู่ก็มีหลากอารมณ์ครับ ทั้งตกใจและดีใจ พอได้รับ “ข้อมูล” ซึ่งเป็นผลจากการที่มีกลไกสอบหาข้อเท็จจริงก็พอจะทำให้ใจชื้นได้บ้าง เกิดอารมณ์ดีใจว่าสุดท้ายคนที่ทำผิดสักวันก็จะต้องมีคนได้ทราบและคงจะต้องรับผิดชอบความเสียหายกันต่อไป
กรณีแรกคือ เรื่องกรณีคำสั่งไม่ฟ้องบอส อยู่วิทยา ที่มีความน่าสนใจคือ เรื่องนี้เริ่มมาจากสื่อต่างประเทศที่ตีข่าวให้ข้อมูลกับสังคมในต่างประเทศก่อน จนกระทั่งสื่อไทยนำเสนอข่าวออกมาบ้าง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากพลเมือง และจนกระทั่งนำไปสู่การถกเถียงของสังคมและมีการวิเคราะห์ “ข้อมูล” ที่สำคัญต่างๆ เช่น ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดที่สามารถนำมาคำนวณความเร็วรถ ผลตรวจสารเสพติดในร่างกาย ฯลฯ จนสุดท้ายนายกรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 10 ท่าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ เเละการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งแต่ละท่านเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในข้อกฎหมาย มีความเป็นอิสระ ไม่ได้เป็นตำรวจหรืออัยการ (คณะกรรมการ บางท่านหากมีความเกี่ยวข้องจะใช้วิธีส่งผู้แทนเข้าร่วม) เข้ามาทำหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดี และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาระบบ
ภายในเวลา 30 วัน อาจารย์วิชาก็ได้ส่งมอบรายงานการตรวจสอบและออกมาแถลงโดยได้ให้ข้อสังเกตว่ากรณีคำสั่งไม่ฟ้องในครั้งนี้ น่าจะมีความร่วมมือกันของบุคคลถึง 8 กลุ่ม คือ พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนวน พนักงานอัยการ นายตำรวจที่เป็นผู้บังคับบัญชา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ทนายความ พยานตัวการและผู้สนับสนุน เป็น “การร่วมมือกัน” อย่างสามัคคีจนผมตกใจอุทานว่า อห (โอ้โห)
หลายคนอาจถามว่า กรณีนี้น่าสนใจอย่างไร น่าตกใจอย่างไร ประเทศเราก็มีการโกงในเกือบทุกส่วนมิใช่หรือ? ก็ต้องตอบว่าถ้าหากปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมสามารถถูกแทรกแซงโดยเส้นสายหรือสินบนเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว บ้านเมืองคงไม่มีความสงบสุขเป็นแน่ เพราะทุกคนที่ทำผิด (รวมไปถึงพ่อแม่หรือเครือญาติ) ก็คงต้องหาและทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองหรือบุคคลที่ตนเองรักรอดพ้นจากการรับผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยเรานั้นเป็นสังคมเครือญาติที่มีเครือข่ายคอนเนคชั่นที่มีแนวโน้มไปในทางช่วยเหลือและตอบแทนบุญคุณซึ่งกันและกัน ในความเห็นของผม ความยุติธรรมนั้น แม้ในปัจจุบันอาจไม่สามารถพูดได้เต็มปากได้ว่ามี 100% แต่ก็ต้องทำให้ใกล้เคียงมากที่สุด ยิ่งมีเหตุการณ์ปรากฏเด่นชัดต่อทั้งสังคมแบบนี้ ต้องไม่ให้คนจำนวนมากยอมจำนนต่อการใช้อำนาจโกงไม่รับผิด จนทุกคนหันมาเล่นซิกแซ็กกันหมดสังคมเสียก่อนครับ
ผมเชื่อว่าคดีนี้อาจไม่ใช่คดีแรกที่มีความบกพร่อง แต่ก็ขอให้เป็นคดีสุดท้ายครับ และยังหวังว่าประชาชนจะเฝ้าจับตาดูต่อว่าผู้ที่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมนั้นจะได้รับผลอย่างไร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดการร่วมคิด ร่วมปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือพัฒนากระบวนการบางกระบวนการที่ยังมีจุดอ่อนในการโกงอยู่ เช่น การทำสำนวน การสอบสวน การสั่งฟ้อง กระบวนการร้องขอความเป็นธรรม ฯลฯ
กรณีที่สอง คือ เรื่อง การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย การบินไทยนั้นในสมัยก่อนเท่าที่ผมจำความได้ตั้งแต่เด็กเป็นสายการบินที่มีชื่อเสียงเรื่องการบริการที่ดี อาหารอร่อย เป็นหนึ่งในความภูมิใจของประเทศ ราคาตั๋วที่ซื้อได้ก็อยู่ในราคาตลาดการบินแบบ full service ผมเองก็เคยได้ใช้บริการอยู่หลายครั้งขึ้นไปก็เห็นผู้คนนั่งเกือบเต็มลำทุกครั้ง แต่กลับประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปีจนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูนั้นคงต้องมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเป็นแน่ เรื่องนี้เองจึงเป็นประเด็นที่พลเมืองให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ผมเองก็ได้ติดตามข้อมูลความเห็นเรื่องนี้จากหลายคนทั้งที่เคยเป็นพนักงาน เป็นลูกค้า หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งได้ฟังผลที่คุณถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุน ที่พบว่ามีเรื่องที่ส่อเค้าไปในทางทุจริตหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องสินบนการจัดหา จัดซื้อ จัดจ้าง การเพิ่มเงินเดือนของผู้บริหารที่สูงการขายตั๋วให้ตัวแทนจำหน่ายในราคาที่ต่ำจนการบินไทยไม่สามารถทำกำไรได้ ฯลฯ แต่เรื่องที่น่าตกใจที่สุดคือ การตรวจพบว่าฝ่ายช่างมีการทำ OT เกินจริง โดยตรวจพบพนักงาน 1 คน ทำOT สูงสุด ได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำ OT ถึง 419 วัน ทั้งๆ ที่ 1 ปี มีเพียง 365 วัน อห (โอ้โห) อีกแล้วครับ
เป็นกรณีศึกษาที่จะเป็นบทเรียนให้สังคมว่า องค์กรไหนมีการทุจริตคอร์รัปชัน สุดท้ายจะเป็นอย่างไร ตอนจบของเรื่องนี้มีไม่กี่ทางครับ คือพนักงานอาจจะตกงาน ไม่มีงานทำ เพราะบริษัทล้ม หรือพนักงานที่ประพฤติการทุจริตถูกไล่ออกจากบริษัท และอาจจะโดนคดีความฟ้องร้องตามไป
สิ่งสำคัญในการค้นพบข้อเท็จจริงในเรื่องการทุจริตหรือส่อเค้าไปในทางทุจริตของทั้งสองเรื่องนี้คือ “ข้อมูล” ที่ทั้งสองคณะได้พบจากกระบวนการหาข้อเท็จจริง จะเกิดอะไรขึ้นหากข้อมูลนั้นไม่ต้องสืบเสาะหา แต่มีแสดงไว้ให้ผู้บริหารหรือประชาชนทั่วไปได้วิเคราะห์ ก็คงจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสังคมทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ นี่แหละครับพลังของความโปร่งใส พลังของข้อมูลแต่ลำพังข้อมูลอยู่นิ่งๆ ของมันอย่างเดียวก็เห็นจะไม่พอ จากกรณีทั้งสองจะต้องประกอบด้วยประชาชนพลเมืองที่ไม่ยอมรับการโกง ไม่ยอมให้ใครโกง และเครื่องมือหรือกลไกที่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือในด้านสื่อ ไปจนถึงกลไกทางกฎหมาย ที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลที่ได้นั้นมาวิเคราะห์ หรือตรวจพบความผิดปกติของข้อมูลที่ถูกบิดเบือนได้
ผมได้เห็นความสนใจ ความไม่พอใจไปจนกระทั่งความโกรธ ความแค้นต่อระบบที่ไม่ยุติธรรม ต่อการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อพินิจพิเคราะห์ดู อาจเป็นสัญญาณได้ว่าคนไทยไม่ยอมรับการโกง และจะไม่ยอมให้ใครโกงมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านว่า ในวันพุธที่ 15 กันยายน 2020 เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป จะมีการจัดกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2563 :จับโกงโคตรง่ายแค่ปลายนิ้ว - Power of Data ซึ่งเป็นกิจกรรมออนไลน์บน Facebook เพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นที่น่าสนใจครับว่า ข้อมูลนั้นจะกันโกง หรือจะแก้โกงได้อย่างไร ผมจะร่วมชมกับทุกท่านด้วยครับ
สุภอรรถ โบสุวรรณ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี