ช่วง 2 สัปดาห์ก่อน หลายท่านน่าจะได้ดูซีรี่ส์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ (ตอนจบ) หรืออาจจะได้เห็นกระแสที่พูดถึงซีรี่ส์เรื่องนี้ผ่านตากันมาบ้าง แม้จะเป็นซีรี่ส์ที่ถูกดัดแปลงมาจากภาพยนตร์เมื่อปี 2560 แต่ถ้าใครได้ดูทั้ง 2 เวอร์ชั่นก็คงต้องบอกว่าเป็นความเหมือนที่แตกต่าง โดยเฉพาะตอนจบของเรื่องที่ประทับใจผู้เขียนมาก ในการที่กล้าจะเล่นกับเรื่องการวางแผน แต่เป็นการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาการโกงในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่
“เขาโกง แต่เราก็ไม่เห็นต้องไปโกงกับเขานี่” ประโยคนี้ของแบงก์ (ตัวเอกของเรื่อง) ถือว่าเป็นประโยคสำคัญ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าคนเราทุกคนย่อมมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แยกแยะได้ว่าการโกงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่สุดท้ายเจ้าของคำพูดนี้กลับกลายเป็นคนวางแผนการโกงระดับชาติเสียเอง ซึ่งที่จริงแล้วก็คงไม่ต่างจากคนดูซีรี่ส์แบบพวกเราที่รู้อยู่แก่ใจเสมอว่า “การโกง” เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่ทำไมหลายๆ ครั้ง เราก็เลือกที่จะโกง โดยให้เห็นผลปลอบใจตัวเองว่า “แค่นี้เองไม่เป็นไรหรอก” หรือประโยคยอดฮิตติดปากคนไทย “ใครๆ ก็ทำกัน” เมื่อทำบ่อยเข้าจนในที่สุดเราอาจจะต้องมานั่งถามตัวเองแบบที่ลินถามแบงค์ว่า “นี่แกกลายเป็นคนแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไร” เราอาจจะตอบไม่ได้ว่าเราเปลี่ยนเป็นคน “โกง” ไปตอนไหน แต่ถ้าถามว่าเรารู้ไหมว่าสิ่งที่เรากำลังโกงนั่นมันผิด เราทุกคนย่อมรู้แน่นอน แต่อาจจะเป็นเพราะปัจจัยทางสังคมหลายอย่าง ที่ตีกรอบให้เราต้องเลือกเดินไปโกงก็ได้
จากเหตุการณ์ต่างๆ ในซีรี่ส์ สะท้อนให้เราได้เห็นระบบในสังคมที่บีบให้คนเลือกโกงได้ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่ (1) ระบบการศึกษาที่ต้องใช้เงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” ในการซื้อคุณภาพการศึกษาที่ดี มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ครบครันให้กับลูก ทั้งๆ ที่หากดูจากงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจำนวนกว่าสามแสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 นับว่าเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งมาเสมอ ซึ่งควรจะส่งผลให้ทุกโรงเรียนสามารถมีคุณภาพการศึกษาที่ทัดเทียมกันได้แล้ว (2)ได้เห็นคุณภาพชีวิตของครูไทยนอกจากต้องทำหน้าที่หลักคือ สอนแล้วก็ต้องแบกรับภาระอื่นๆ มาทำนอกเวลาจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรือเวลาให้กับครอบครัวที่เพียงพอรวมไปถึงเรื่องรายได้ที่ครูหลายคนออกไปเปิดสอนพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้ให้ตนเอง แต่นั่นก็กลับกลายเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง (3) การควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนที่ไม่มีมาตรฐาน ครูสามารถออกข้อสอบที่มีแต่นักเรียนที่จ่ายเงินเรียนพิเศษเท่านั้นถึงจะได้คะแนน (4) และเมื่อครูใช้สิทธิในการควบคุมดูแลสถานศึกษาออกกฎข้อบังคับต่างๆ ในโรงเรียนที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่เปิดโอกาสให้เกิดพื้นที่ของการยอมรับความแตกต่างของนักเรียน ก็เป็นการบีบบังคับให้นักเรียนจะต้องเลือกทำการโกงเพื่ออยู่รอดในสังคมนั้นเพราะไม่มีสิทธิตั้งคำถามหรือไม่เคยได้รับคำอธิบายการกระทำที่ไม่ถูกต้องในโรงเรียนได้ เมื่อนักเรียนเห็นพฤติกรรมที่เรียกว่า “การโกง” เหล่านี้ในสถานที่ที่บ่มเพาะให้คนมีความรู้ ความสามารถ และเป็นคนดีของสังคม เขาจึงเลือกที่จะต่อสู้กับการโกงด้วยความรู้สึกที่ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากต้องโกง จนนำไปสู่การพัฒนาของตัวละครจากคนที่ไม่สามารถยอมรับการโกงเล็กๆเช่น การลอกข้อสอบ สู่คนที่วางแผนโกงข้อสอบระดับประเทศได้
เหตุการณ์ต่างๆ ในซีรี่ส์ที่สะท้อนสังคมไทยดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และในสถานศึกษาเท่านั้น ยังมีประเด็นต่างๆ อีกมากที่เราอาจจะไม่ได้ฉุกคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญ เพราะเห็นจนชินชาคิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย อย่างที่ผู้อำนวยการในเรื่องได้กล่าวว่า “โลกทำงานแบบนี้ ระบบของมันก็เป็นแบบนี้” เราจึงต้องทน และทำตามกันไปแบบนี้ ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยด้านจิตวิทยาในหัวข้อ “Who Doesn’t?” — The Impact of Descriptive Norms on Corruption จาก Free University Amsterdamเพื่อค้นหาสาเหตุของการคอร์รัปชันในตัวเรา โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบเล่นเกมเพื่อเข้าร่วมประมูลงานจากรัฐบาล และสามารถติดสินบนรัฐบาลได้เพื่อทำให้บริษัทของตนเองชนะการประมูล โดยก่อนเริ่มเกมจะมีคำอธิบายว่า ในสังคมนี้มองว่าสินบนเป็นเรื่องปกติ หรืออีกอันคือบอกว่าไม่มีใครเขาทำกันหรอก ซึ่งเป็นตัวแปรควบคุมที่ทำให้ผลการทดลองออกมาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดหากผู้เข้าร่วมทดลองได้รับการบอกเล่าว่า การคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ พวกเขาจะเลือกยัดเงินใต้โต๊ะ และในทางตรงกันข้าม ถ้าเกมบอกว่าการคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่ทำกัน พวกเขาก็เลือกที่จะยัดเงินน้อยลง (ข้อมูลจาก the101.world)
การติดตามกระแสของซีรี่ส์เรื่องนี้ทำให้เห็นแนวคิดของผู้ชมที่คาดเดาตอนจบไปในทิศทางต่างๆ ซึ่งมี 2 แบบหลักๆ ก็คือ ตัวละครที่ทำการโกงทุกคนโดนจับ และหมดอนาคต หรืออีกแบบก็คือทุกคนรอด และทำการโกงไปเรื่อยๆ ซึ่งหนีไม่พ้นแบบฉบับตอนจบละครไทย แต่สุดท้ายซีรี่ส์เลือกที่จบตามแบบฉบับของโลกแห่งความเป็นจริงก็คือ คนที่สำนึกผิดได้รับโอกาสในการแก้ไข คนที่ถลำเข้าไปสู่วังวนของการโกงเพื่อความอยู่รอดต้องรับโทษ และสุดท้ายที่อาจจะไม่ถูกใจคนดูมากที่สุดก็คือลูกคนรวยที่ใช้โอกาสในการหลบหนีความผิดไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับโทษใดๆ ซึ่งผลของตัวละครนี้ยิ่งตอกย้ำคนดูถึงความไม่ยุติธรรมในสังคมอย่างชัดเจนขึ้นไปอีก
ผู้เขียนเชื่อว่าซีรี่ส์เรื่องนี้จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความรู้สึก “ไม่ทนต่อการโกง” ของคนดูมากขึ้นไปอีกขั้น และหากมีการกระตุ้นให้ภาคประชาชนรู้สึกถึงการไม่ยอมรับต่อการโกงนี้อย่างต่อเนื่องแล้ว ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเองก็ต้องร่วมกันเสนอช่องทางการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน และปัญหาสังคมต่างๆ อย่างจริงจัง และทำให้เห็นผลได้จริง ด้วยวิธีที่ง่ายเหมือนกับคอนเซ็ปต์ขอองงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ปี 2563 ที่เพิ่งจัดไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า“จับโกงโคตรง่ายแค่ปลายนิ้ว” ที่ดึงเอาพลังของข้อมูล และพลังของประชาชนในการจับตาการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ผ่านเครื่องมือ ACT Ai ที่ในปีนี้กำลังพัฒนาส่วนต่อขยาย “จับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai” เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบการใช้งบแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 หากเกิดการตื่นตัว และเกิดความร่วมมือขึ้นแล้ว ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าคำพูดสุดท้ายของซีรี่ส์เรื่องนี้ที่ว่า“Generation เราต้องไม่มีคนโกงแล้ว” จะเกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน
นันท์วดี แดงอรุณ – HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี