เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐหรือที่เรียกว่า ITA (Integrity and Transparency Assessment) ประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นที่น่าเสียใจครับว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมของหน่วยงานราชการไทยอยู่ในระดับ C มีคะแนนเพียงแค่ 67.90 คะแนน ซึ่งถือว่ายังไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าต้องได้คะแนนมากกว่า 80 คะแนนขึ้นไป โดยเมื่อไปดูในรายละเอียดของการประเมินแล้วพบว่า ระดับของการป้องกันการทุจริตมีคะแนนแค่ 36.29 คะแนน และการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐมีคะแนนอยู่เพียง 53.12 คะแนนเท่านั้นซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก
แต่ถึงแม้ภาพรวมคะแนนระดับประเทศจะยังไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่น่าพอใจได้ และภาพรวมคะแนนในการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐจะผ่านเกินครึ่งมาเพียงนิดเดียว แต่ก็ต้องขอชื่นชมหน่วยงานภาครัฐหลายๆหน่วยงานที่สามารถทำคะแนนตัวชี้วัดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลรายหน่วยงานได้เต็ม 100 คะแนน เช่น กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนตำบลหนองคล้า องค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น (สามารถเข้าดูรายละเอียดการประเมิน ITA ได้ที่ https://itas.nacc.go.th) และจะเป็นโอกาสอันดีหากหน่วยงานเหล่านี้ได้มีการถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อให้เป็นแนวทางต่อหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานด้านต่างๆสำหรับการประเมินปีถัดไป และยังเป็นผลดีต่อการทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
วิธีการหนึ่งในการเพิ่มคะแนน ITA แบบตรงไปตรงมาคงหนีไม่พ้น การที่ภาครัฐ และหน่วยงานราชการไทยควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และนำข้อมูลไปใช้ต่อได้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนมาเป็นผู้ขอข้อมูล หรือตัดสินใจแทนประชาชนว่าข้อมูลไหนที่ประชาชนควรจะรับรู้หรือไม่ควรจะรับรู้ อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองยังมีความเชื่อที่ว่าผู้ที่มีข้อมูลในมือคือผู้ที่มีพลังอำนาจจึงไม่อยากเสียอำนาจนั้นไป
แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกข้อมูลที่หน่วยงานราชการถืออยู่ (ยกเว้นข้อมูลที่เป็นความลับ เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของประเทศ และข้อมูลส่วนบุคคล) ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่ ประชาชน “ต้อง” รับรู้รับทราบ เพราะเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งโดยทางตรง และทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเงินภาษี หรือการกำหนดนโยบายสาธารณะ และเมื่อประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้แล้ว ก็จะเป็นการช่วยเพิ่ม “ตา” ในการตรวจสอบติดตาม และช่วยส่งเสริมการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสมากขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นสาธารณะจะยิ่งเป็นการสร้างพลังให้กับเจ้าของข้อมูล เพราะจะเป็นการเชื่อมโยง
และเปิดโอกาสให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองภาคเอกชน นักวิชาการด้านต่างๆ และประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ สร้างนโยบายและโครงการที่เหมาะสมกับคนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศโดยไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วข้อมูลภาครัฐควรจะเรียกว่าเป็นข้อมูลสาธารณะมากกว่า
ในต่างประเทศมีแนวคิดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” (open by default, close by exception) หมายความว่า กฎหมายหรือระเบียบของภาครัฐควรจะกำหนดให้ภาครัฐ ต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ต้น และหากต้องการจะปกปิดข้อมูลใดไม่ให้ประชาชนเข้าถึงได้ จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดชุดข้อมูลที่จะปกปิดไว้อย่างชัดเจน เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ เป็นต้น ในทางหนึ่งก็จะเป็นการลดการใช้“ดุลยพินิจ” ของเจ้าหน้าที่ในการตัดสินใจว่าจะเปิดข้อมูลหรือไม่
มากไปกว่าการเปิดเผยข้อมูล คือการจัดทำข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐให้มีมาตรฐาน ซึ่งในปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนของข้อมูล สร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูล และเพิ่มคุณภาพของข้อมูลเพื่อทำให้ผู้ที่ต้องการนำข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐไปใช้งานต่อ ทั้งหน่วยงานภาครัฐเองและประชาชนสามารถใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์ได้จริง จึงได้มีประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่องการกำหนดธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วว่า ต้องมีการกำหนดมาตรฐาน มีการควบคุม และพัฒนาคุณภาพของข้อมูล ให้ข้อมูลภาครัฐมีความถูกต้องครบถ้วน เป็นปัจจุบัน รวมทั้งตัวข้อมูลต้องสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยน และบูรณาการใช้ประโยชน์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังต้องมีการจำแนกหมวดหมู่ของข้อมูลให้มีความชัดเจน มีคำอธิบายชุดข้อมูลดิจิทัลของภาครัฐ และมีบัญชีข้อมูลที่มีความถูกต้องครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน
หากหน่วยงานภาครัฐทำตามมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ นอกจากจะมีส่วนช่วยภาครัฐเองในเรื่องของการจัดการข้อมูลแล้ว ยิ่งทำให้สะดวกต่อการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพราะเพียงแค่หน่วยงาน Upload ข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาตรฐานขึ้นบนเว็บไซต์ ก็จะเป็นการลดภาระของประชาชนในการต้องเขียนใบคำร้องเพื่อไปยื่นขอข้อมูลยังหน่วยงานนั้นๆ ดีกว่าการที่หน่วยงานพิมพ์ข้อมูลทุกอย่างลงกระดาษ และติดไว้ที่กระดานประชาสัมพันธ์บนชั้น 5 ของหน่วยงานในพื้นที่ที่ประชาชนจะต้องแลกบัตรอีกสามสี่ขั้นกว่าจะเข้าไปได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเปิดหรือไม่ก็คงมีค่าเท่ากัน
ณัฐภัทร เนียวกุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี