Coconut Empire โดยการออกแบบของคุณวิภาพรรณวงษ์สว่าง หรือนานา เป็นบอร์ดเกมที่ฉายภาพให้เห็นว่า “การเมืองคือทุกอย่างของชีวิต” นั้นเป็นอย่างไร โดยเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ลองสร้างประสบการณ์ด้วยตนเองผ่านการสวมบทบาทเป็นกลุ่มอำนาจต่างๆ ภายใต้บริบทแบบสังคมไทย มีการหยิบเอาเรื่องราวทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในประเทศ มาใส่บนเกมกระดานทำให้ผู้เล่นได้สัมผัสกับการบริหารบ้านเมือง การต่อสู้แย่งชิง การตกลงผลประโยชน์ และการเข้าถึงอำนาจ ในแบบที่เราเองก็อาจจะเคยพบเห็นกันอย่างคุ้นชินในปัจจุบัน
ซึ่งในธีมเกม Coconut Empire คือเกาะโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรที่ผู้นำคนเก่าได้เสียชีวิตไป และกำลังต้องการผู้นำคนใหม่ขึ้นมาครองอำนาจแทน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดศึกแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำบนเกาะ โดยจะมีผู้เล่นอย่างน้อย 4-6 คน มาสวมบทบาทเป็นตัวละครในอาณาจักรแห่งนี้ โดยตัวละครในเกมก็ถูกพัฒนามาจากคาแร็กเตอร์ที่หลากหลาย ทำให้ผู้เล่นที่มีอิสระในการตีความและเลือกสวมบทบาทไปกับคาแร็กเตอร์เหล่านั้นได้ด้วยตนเอง โดยเมื่อเริ่มเกมผู้เล่นแต่ละคนจะมีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินได้แก่ นา หมู่บ้าน เหมือง และจำนวนหมากที่ไม่เท่ากัน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้สามารถซื้อเพิ่มได้ในระหว่างเกม โดยภายในเกมจะเรียกหมากเหล่านี้ว่า “หนู” ที่จะคอยทำหน้าที่หารายได้ และใช้ต่อสู้กับหนูของผู้เล่นคนอื่นๆ ที่มีสีแตกต่างกัน รวมไปถึงใช้ในการช่วงชิงทำเนียบรัฐบาลเพื่อตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้ปกครองด้วยซึ่งการขึ้นเป็นรัฐบาลนั้นมีความสำคัญต่อการเป็นผู้ชนะในเกมมาก เพราะผู้เล่นแต่ละคนจะมีภารกิจในการที่จะเป็นผู้ชนะที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อผู้เล่นได้ขึ้นเป็นรัฐบาลจะทำให้มีอำนาจในการออกกฎหมายต่างๆ ได้ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะส่งผลต่อกติกาในเกมทั้งหมด ทำให้ผู้เล่นที่มีอำนาจสามารถทำเอื้อผลประโยชน์ให้ตนเองทำภารกิจได้สำเร็จได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจภายในเกมคือการทำภารกิจสำเร็จนั้นจะทำด้วยตนเองแต่เพียงผู้เดียวก็ได้ หรือร่วมมือกับผู้เล่นคนอื่นเพื่อชนะร่วมกันก็ได้ ทำให้ตลอดทั้งเกมจะมีการต่อรองผลประโยชน์ การเสนอข้อตกลงผ่านความสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการสนับสนุนให้ขึ้นสู่อำนาจ หรือความสัมพันธ์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยเพื่อมาคานอำนาจกันไปมา จนนำไปสู่ฉากจบในรูปแบบต่างๆ เมื่อมีใครสักคนเป็นผู้ชนะภารกิจ
ซึ่งจากระยะเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสนำบอร์ดเกม Coconut Empire ไปทดลองเล่นกับผู้คนในแวดวงต่างๆ ทั้งนิสิต นักศึกษา กลุ่มคนทั่วไป กลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ข้อค้นพบที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่า Coconut Empire เป็นบอร์ดเกมที่มีวิธีการเล่นที่ค่อนข้างซับซ้อนในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้เล่นจะค่อยๆ เข้าใจในเงื่อนไขและกติกาที่มาพร้อมกับความรู้สึกคุ้นชินบางอย่างได้ด้วยตนเอง จนสามารถนำไปสู่การถอดบทเรียนที่สะท้อนความจริงของสังคมได้อย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองผลประโยชน์จากการติดสินบน การเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง การฮั้วประมูล และรวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชันโดยการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่างๆให้ตัวเองและพวกพ้อง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเกมนี้ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเกมยังคงฉายภาพการคอร์รัปชันในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการคอร์รัปชันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางการดำเนินชีวิตในทุกวันของพวกเรา แม้อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบ มีการกลไกที่ซับซ้อนและตรวจสอบได้ยากขึ้น แต่มันไม่เคยหายไปไหน
จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นภายในเกม นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำไปสู่การตั้งคำถามของหลายๆคนเมื่อเล่นเกมนี้จบลงว่า “เราในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีอำนาจและทรัพยากรอะไรเหมือนอย่างในเกม เราสามารถทำอะไรได้บ้าง” เพราะ CoconutEmpire ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้เล่นเข้าใจบริบทการคอร์รัปชันในสังคมเพิ่มขึ้นภายใต้ภาพสะท้อนของอาณาจักรกะลาแลนด์เท่านั้น แต่มันยังนำไปสู่การมองเห็นปัญหาทั้งในมิติของผู้ที่ตัดสินใจคอร์รัปชัน และผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันด้วย ซึ่งคำถามสำคัญนี้นำไปสู่การพยายามหาทางออกเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในการต่อรองกับภาครัฐได้มากขึ้น ตลอดจนภาคเสริมที่ชื่อว่ากฎหมายภาคประชาชนที่อยู่ภายในเกมด้วย เพราะผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่มีใครไม่รู้ว่าประเทศของเรามีการคอร์รัปชัน ไม่มีว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือคนกลุ่มใดก็ตามในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เราล้วนเป็นผู้เสียผลประโยชน์ที่อยู่ร่วมกับการทุจริต คอร์รัปชัน และการโกงกินมาอย่างยาวนานแทบทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นจะต้องช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนผู้เพื่อให้ทุกคนสามารถต่อสู่กับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบได้นั้นก็คือ “เครื่องมือสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชัน” ซึ่งสอดคล้องและเชื่อมโยงกับงานที่ผู้เขียนกำลังพัฒนาอยู่ เช่นกัน นั่นก็คือโครงการ Active Youth ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ได้เพียงแต่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติของหลักการและแนวคิดแต่เพียงเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้คือการพยายามพัฒนาให้โครงการสามารถตอบคำถามข้างต้นของผู้คนให้ได้ว่า “ท่ามกลางสถานการณ์การคอร์รัปชันเหล่านี้ พวกเราสามารถทำอะไรได้บ้าง” โดยการพยายามรวบรวมเครื่องมือและหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันจากทุกมิติมาพัฒนาและปรับปรุงให้เครื่องมือเหล่านั้นพร้อมใช้งานในรูปแบบที่สามารถส่งต่อออกไปในวงกว้างให้ได้มากที่สุด และหากใครสนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในการออกผจญภัยไปกับดินแดนแห่งนี้ด้วยกันสามารถติดตามกิจกรรมได้ที่ Fanpage Facebook :Active Youth หรือสั่งซื้อเกมผ่านช่องทาง Inbox ของFanpage Facebook : Coconut Empire ได้โดยตรง ซึ่งตอนนี้คุณนานาได้พัฒนาตัวเสริมภาคประชาชนออกมาเพิ่มความสนุกครบรสเข้าไปในเกมอีกด้วย
สุดท้ายนี้ผู้เขียนมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในสักวันเครื่องมือที่หลายๆ ฝ่ายกำลังพัฒนากันอยู่ในตอนนี้ จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ทุกคนลุกขึ้นมาต่อสู้กับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างเต็มกำลังและมีความหวังที่จะเห็นประเทศของเราดีขึ้นด้วยการร่วมมือกันต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี