หากผู้อ่านได้ติดตามข่าวในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ากระแสการเคลื่อนไหวทางสังคมของหลากหลายกลุ่มในสังคมไทยต่างแสดงความไม่พอใจต่อปัญหาที่มีอยู่ในสังคมและมีการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น การเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การแก้ไขโครงสร้างชายเป็นใหญ่ในสังคม และการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็จะพบว่ายังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาเช่นกันนั่นก็คือ กลุ่ม “นักเรียนเลว” และกลุ่ม“เครือข่ายครูขอสอน” โดยข้อเรียกร้องที่ทั้งสองกลุ่มพยายามจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างของระบบการศึกษาในประเทศไทยเพื่อปลดล็อกให้โรงเรียนเป็นที่ “ปลอดภัย” สำหรับนักเรียนอย่างแท้จริง
ผู้อ่านหลายท่านคงตั้งข้อสงสัยว่า “โรงเรียนจะเป็นพื้นที่อันตรายได้อย่างไร” เพราะจากท่อนหนึ่งของเพลงที่เราต่างคุ้นเคยกันดีที่มีเนื้อหาว่า“โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบมาโรงเรียน” แต่ในปัจจุบันผู้เขียนเองก็สามารถยืนยันได้ว่าภาพเหล่านั้นมันเลือนรางไปแล้วหรือยัง ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เด็กนักเรียนหลายคนในโรงเรียนต้องประสบกับแรงกดทับจากสถานศึกษาในหลายๆ ด้านอันเนื่องมาจากความหละหลวมของโครงสร้างในโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิของนักเรียนทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น เด็กนักเรียนถูกทำโทษด้วยความรุนแรง โดนตัดผมแม้ว่าทรงผมดังกล่าวจะไม่ผิดกฎกระทรวง ตลอดจนการถูกทำร้ายนักเรียนทางจิตใจด้วยคำพูดและการด่าทอหรือใช้คำพูดที่รุนแรง และการโดนปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นของนนักเรียน ซึ่งนอกจากตัวอย่างเหตุการณ์ที่ยกมาแล้วนั้นคุณภาพการให้บริการเชิงกายภาพในโรงเรียนก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำที่ปลอดภัย โรงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การมีห้องเรียนที่ไม่แออัด มีโต๊ะและพื้นที่ที่เพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนอยู่ห่างไกลกับคำว่าพื้นที่ปลอดภัยเช่นกัน
จากความอัดอั้นใจในรั้วโรงเรียนจึงนำมาสู่การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกลุ่มครูที่ไม่ยอมนิ่งเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ “เครือข่ายครูขอสอน” ได้รวมพลังกันตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างในระบบการศึกที่กดทับนักเรียนและได้เสนอข้อเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการให้เริ่มแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่
1.การเรียกร้องเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนของเด็กนักเรียน
2.การส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนในการร่วมกันกำหนดทิศทางบริหารจัดการโรงเรียน
3.การสนับสนุนให้นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพของโรงเรียนได้
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้กระทรวงจัดการเรื่องทางกายภาพของโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพของนักเรียนด้วย เช่นเดียวกับกลุ่มนักเรียนที่เคลื่อนไหวให้เกิดการเรียกร้องให้ปฏิรูปโครงสร้างดังกล่าวภายใต้ชื่อ “กลุ่มนักเรียนเลว” โดยนอกจากกลุ่มนักเรียนเรียกร้องให้โรงเรียนนั้นยกเลิกกฎในโรงเรียนที่มีความล้าหลังและละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วนั้น นักเรียนกลุ่มดังกล่าวยังเรียกร้องให้โรงเรียนเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและยอมรับเสียงร้องเรียนปัญหาของนักเรียนอย่างแท้จริง และในขณะเดียวกันกลุ่มนักเรียนเลวยังเรียกร้องให้เกิดการบริการเชิงกายภาพในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์การเรียนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน อุปกรณ์ในห้องวิทยาศาสตร์เสื่อมคุณภาพ อุปกรณ์กีฬาเก่าทรุดโทรม ไม่เพียงพอ เป็นต้น
โดยสิ่งที่กลุ่มนักเรียนและเครือข่ายคุณครูออกมาเรียกร้องนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนแล้วยังแสดงออกซึ่งความพร้อมที่จะเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาโรงเรียนและระบบการศึกษา เพียงแต่ว่ายังขาดพื้นที่และการปลดล็อกของโครงสร้างที่กดทับอยู่ โดยผู้เขียนมองว่าทางออกที่สำคัญ คือ การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล เช่น การมีส่วนร่วม(participation) หลักความโปร่งใส (transparency) และหลักความรับผิดชอบ (accountability) ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการแก้ปัญหาอันจะนำไปสู่รั้วโรงเรียนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
จากประเด็นดังกล่าวมีการศึกษาจากหลายองค์กร เช่น Organisation for Economic Co-operation and Development(OECD) และ United Nations Development Programme (UNDP) และการศึกษาโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 โดยผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ ได้สนับสนุนว่าความโปร่งใสการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบของโรงเรียนเป็นหลักการที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการสร้างโรงเรียนที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย โดยโรงเรียนจะต้องสร้างความโปร่งใส สามารถที่ตรวจสอบได้ เช่น การจัดทำข้อมูลเปิดที่สำคัญ (school open data) เช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ในโรงเรียน เป็นต้น และมีกลไกในการร้องเรียนที่ไม่เปิดเผยตัวตน (feedback system) ไปพร้อมกับการสร้างการมีส่วนร่วมของทั้งนักเรียน คุณครู โรงเรียน และชุมชน ที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของทั้งกลุ่มนักเรียนและกลุ่มเครือข่ายคุณครู ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้โรงเรียนดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบ (accountability) ให้การบริหารโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องคุณภาพเชิงวิชาการ คุณภาพเชิงกายภาพภายในโรงเรียน ซึ่งองค์กร OECD ได้เสนอรูปแบบการสร้างการมีส่วนร่วมและการสร้างอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการในการ บริหารโรงเรียนที่ประกอบไปด้วยผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้ปกครองและนักเรียน เป็นต้น นอกจากนี้องค์กร Unicef ยังให้ความสำคัญกับหลักการดังกล่าวโดยชี้ว่าเป็นการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนด้วยเช่นกันเนื่องจากการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนจะเป็นเสมือนสายตาที่คอยเฝ้าระวัง และกำกับให้โรงเรียนให้มีการบริหารงานอย่างมีความรับผิดชอบมากที่สุด
จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงจะเห็นได้ว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขโครงสร้างเพื่อลดแรงกดทับกับนักเรียนในด้านต่างๆ เป็นที่จะต้องเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนตามข้อเสนอของกลุ่มนักเรียนและเครือข่ายคุณครู เช่น การแก้ไขกฎระเบียบภายในโรงเรียนและรูปแบบการบริหารที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และการพัฒนาในด้านการให้บริการเชิงกายภาพภายในโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งหลักการสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง สร้างสรรค์ และยั่งยืนนั้นจำเป็นที่จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลหรือมีกลไกที่ส่งเสริมให้เกิดหลักธรรมาภิบาลควบคู่กับการแก้ไขตามข้อเสนอดังกล่าวด้วย เพราะนอกจากหลักธรรมาภิบาลจะช่วยให้โรงเรียนเป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนแล้ว หลักธรรมาภิบาลยังเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างกลไกในการตรวจสอบการบริหารงานของโรงเรียนและการป้องกันการคอร์รัปชันในระบบการศึกษาซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาเหล่านี้อีกด้วย
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอฝากแพลตฟอร์ม We The Students ผลผลิตจากโครงการออกแบบและการทดลองซึ่งเป็นต้นแบบเครื่องมือการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของเยาวชน ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ดำเนินงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีหัวใจสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการบริหารโรงเรียนอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับโรงเรียนและคุณครู ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของโรงเรียนอย่างมีธรรมาภิบาลนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญที่นำไปสู่การเสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัยเสริมยในโรงเรียนอย่างมีธรรมาภิบาลตามข้อเรียกร้องได้
โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fanpage : We The Students Thailand
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี