#SaveChana แฮชแท็กที่ติดอันดับขึ้นเทรนด์ประจำวันทวิตเตอร์อยู่ในช่วงหนึ่งของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างความสนใจให้กับชุมชนสังคมออนไลน์ จนเกิดเป็นข้อสงสัยและการตั้งคำถามมากมายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดกระแสการตั้งแฮชแท็กนี้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ประชาชนชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ลุกขึ้นประท้วงคัดค้านโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ถ้าหากได้ยินผิวเผินก็ฟังดูเป็นโครงการที่ดี แต่ด้วยสาเหตุอะไรทำไมชาวบ้านในพื้นที่ถึงไม่เห็นด้วย?
ย้อนกลับไปเมื่อวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2562 ผลจากการประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบต่อการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จากเดิมที่มีเป้าหมายสร้างเมืองต้นแบบนำร่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ พื้นที่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้มีการขยายผลไปสู่พื้นที่จังหวัดใกล้เคียงเพิ่มอีกหนึ่งจังหวัด นั่นก็คืออำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ภายใต้การผลักดันและเสนอให้เกิดขึ้นโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศอ.บต.
การกล่าวอ้างถึงความหวังดี การ “ดับไฟ” ความขัดแย้งและนำพาความสันติสุขกลับสู่พื้นที่จังหวัดภาคใต้ด้วยการใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ คือคำกล่าวอ้างที่ถูกชูขึ้นเป็นประเด็นสำคัญว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องพิจารณาอนุมัติเห็นชอบและชาวจังหวัดสงขลา ต้องมีเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต การลงมติเห็นชอบครั้งนี้เปรียบเสมือนการตัดสินอนาคตของคนในพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี โดยขาดความเห็นของคนในพื้นที่ทั้งชาวอำเภอจะนะ และประชาชนจังหวัดสงขลา ที่จะได้รับผลกระทบ
เมืองต้นแบบแห่งที่ 4 นี้ มีแผนงานในการพัฒนาใช้เวลารวม 4 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2562-2566 ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 (2) โครงการวางแผนและลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก (Energy Complex) (3) โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ (4) โครงการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม และ (5) โครงการจัดตั้งกองทุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรัฐบาลให้เหตุผลสนับสนุนต่อการพัฒนาโครงการเหล่านี้ว่า จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นมากขึ้น แถมยังช่วยให้เศรษฐกิจอนุภูมิภาคใต้มีความแข็งแรง เชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ ได้ด้วย
อีกหนึ่งแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ระหว่างประเทศในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) เป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian DevelopmentBank: ADB) เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536 โดยรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ มีความเห็นร่วมกันที่จะส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือสรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจภาคเอกชน และให้ความสำคัญกับการเข้ามามีบทบาทของภาคเอกชนในการชี้นำ แก้ไขแผนงานต่างๆหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบให้สอดคล้องต่อความต้องการในการลงทุน ซึ่งแน่นอนว่าจังหวัดสงขลาเป็นเป้าหมายหลักของการเป็นศูนย์กลางพัฒนาทั้งด้านการเป็นเมืองท่า ดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและการสำรวจก๊าซธรรมชาติซึ่งรัฐบาลเคยวางแผนสร้าง “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ สะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล สงขลา-สตูล เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา พร้อมกับเส้นทางคมนาคมเชื่อมทั้งสองอ่าวเข้าด้วยกันทั้งถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ ในการขนส่งก๊าซธรรมชาติไปยังพื้นที่บ้านสวนกวาง อำเภอจะนะ มาแล้ว แต่โครงการก็ต้องพับเก็บไปเนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดสตูลถูกขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นหนึ่งในพื้นที่อุทยานธรณีโลก
แต่ถ้าหากเราลองมองย้อนกลับมาดูวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ จะพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านหาเลี้ยงชีพเป็นหลัก มีความเป็นอยู่ผูกพันกับธรรมชาติและท้องทะเล ซึ่งโครงการพัฒนาระดับ “เมกะโปรเจทก์” มีการก่อสร้างเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ท่าเรือ ไปจนถึงการสร้างโรงไฟฟ้า ที่ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมของชาวบ้านในอำเภอจะนะสักเท่าไร กระนั้น ศอ.บต.เองก็ได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านจาก 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และต.สะกอม ขึ้นในวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2562 แต่สุดท้ายก็ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นหลังจากที่โครงการถูกอนุมัติไปแล้ว สาเหตุนี้จึงกลายเป็นชนวนที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความไม่พอใจ และไม่เข้าใจต่อการวางแผนโครงการพัฒนาดังกล่าวว่า หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลดีหรือไม่ดีต่อวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่เกิดจากการตั้งนิคมอุตสาหกรรมและการก่อสร้างขนาดใหญ่จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้นได้อย่างไร
เวลาผ่านล่วงเลยไปจนครบปีที่โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอำเภอจะนะได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากรัฐบาล ทำให้เป็นที่มาของกระแสความเคลื่อนไหวทางสังคมออนไลน์ด้วยการตั้งแฮชแท็ก #SaveChana #ปกป้องแหล่งผลิตอาหาร #หยุดนิคมอุตสาหกรรมฯจะนะ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อแสดงถึงจุดยืนต่อความไม่เห็นด้วยและเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
หากเราลองทบทวนกันดูให้ดีจะพบว่า ประเด็นปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ แต่อาจเกิดขึ้นในหลากหลายพื้นที่ และหลากหลายบริบทปัจจัยปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคตของตนเองอย่างเต็มที่โดยภาคประชาชน การถูกเมินเฉยจากภาครัฐบ่อยครั้งเข้าทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจและหมดความไว้ใจที่มีต่อรัฐ หนำซ้ำเมื่อปล่อยไว้เรื้อรัง นานวันเข้ากลายเป็นรูปแบบวิถีการทำงานที่เคยชินของหลายหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปเสียแล้ว
ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากย้ำเตือนกับทุกๆ ท่านผ่านตัวหนังสือเหล่านี้ ว่านี่ไม่ใช่แค่การตีแผ่เล่าเรื่องปัญหาของคนในพื้นที่จังหวัดสงขลาเท่านั้น แต่อยากให้ตระหนักว่าการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียง และสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมตัดสินอนาคตของตนเองได้ คือ หัวใจสำคัญของการพัฒนาแก้ปัญหา และขับเคลื่อนสังคมต่อไปได้อย่างไร้ความขัดแย้ง การเข้ามามีส่วนช่วยติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆของภาคประชาชนคือสิ่งที่ รัฐบาล หน่วยงานภาคสังคมและภาคเอกชนควรตระหนักถึงเป็นอันดับแรกในการวางแผนพัฒนาบริหารที่ดีมีประสิทธิภาพ สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี