หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับประโยคคำถามที่ว่า “ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งหรือยังคะ” “ที่ร้านรับคนละครึ่งไหมคะ” หรือมีป้ายร้านค้าที่แจ้งลูกค้าว่า “ร้านนี้รับคนละครึ่ง” ซึ่งสามารถพบเห็นได้อยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้ ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของคนทั่วไปในตลาดจนถึงร้านอาหารบนห้าง ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ยินถึงโครงการคนละครึ่งก็เกิดความสงสัยว่าโครงการนี้คือโครงการอะไร มีที่มาจากที่ไหน และมีความเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร
หากลองย้อนนึกถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและท่องเที่ยวหลังจากที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติมาตรการพิเศษช่วงสิ้นปีออกมา 3 มาตรการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน โดยมีการเพิ่มวงเงินพิเศษสำหรับการซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็นคนละ 500 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดจะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้
มาตรการต่อมาเป็นโครงการช้อปดีมีคืน มีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับการซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่มีการจ่ายชำระค่าสินค้าจริงโดยรวมกันไม่เกิน 30,000 บาท มาตรการนี้มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ประกอบการค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการขาย หนังสือและสินค้า OTOP โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 เพื่อผู้รับสิทธิใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 โดยคาดว่ามาตรการนี้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดประมาณ 1.2 แสนล้านบาทประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ของโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการคนละครึ่งแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิ์มาตรการนี้ได้
มาตรการสุดท้ายโครงการคนละครึ่ง มีเป้าหมายดูแลช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดาข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2563 ระบุว่าขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 226,161 ร้าน โดยมาตรการนี้จะมีลักษณะการร่วมจ่าย(Co-pay) ระหว่างประชาชนที่เข้าร่วมโครงการและรัฐบาล จะมีการสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไปร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท/คน ผ่าน G-wallet สำหรับประชาชนจะใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง สำหรับร้านค้าใช้ผ่านแอพพลิเคชั่น ถุงเงินมีกำหนดระยะเวลาของโครงการ 3 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 โดยผู้ลงทะเบียนต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในระยะแรกโครงการมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิไม่เกิน 10 ล้านคน และมีการขยายระยะที่สอง เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 ถือว่าเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก มีการคาดการณ์ว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท
จาก 3 มาตรการที่หน่วยงานรัฐจัดทำขึ้นล้วนเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนไทยหลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีพบว่าโครงการเหล่านี้ยังมีช่องว่างพอสมควรทำให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาฉกฉวยและแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งนี้ผู้เขียนขอยกกรณีการทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการคนละครึ่ง 3 กรณีที่มีการพูดถึงในสังคมดังนี้
กรณีพ่อค้าแม่ค้าขึ้นราคาสินค้าและบริการ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เฟซบุ๊คเพจ Drama-addict มีการเปิดเผยข้อมูลจากแฟนเพจที่โดนร้านค้าขึ้นราคาสินค้าจากปกติ เนื่องจากขอจ่ายผ่านโครงการคนละครึ่ง แฟนเพจมีการให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่จังหวัดของเธอกำลังระทมกับโครงการคนละครึ่ง เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้าบางรายเริ่มขึ้นราคาสินค้าและบริการเพิ่มสำหรับคนที่จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่ง หลังจากมีการโพสต์ข้อมูลบนเฟซบุ๊คเพจดังกล่าว สมาชิกแฟนเพจมีการเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าตนก็พบปัญหาการขึ้นราคาสินค้าและบริการเช่นนี้ในพื้นที่ของตนเอง
กรณีต่อมาเป็นการที่ผู้ซื้อฮั้วกับร้านค้าขอแลกเป็นเงินสดออกมาใช้จ่าย และมีการตั้งกลุ่มผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อรวมกลุ่มคนที่อยากแลกเงินสดของโครงการออกมาใช้จ่ายอย่างอื่นนอกเหนือจากร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนในโครงการ ผู้เขียนต้องขอชี้แจงก่อนว่า โครงการคนละครึ่งเป็นโครงการที่ไม่สามารถใช้เงินสดหรือมีการแลกเงินออกมาเป็นเงินสดได้ ต้องเป็นการใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังให้เงินผ่านระบบเท่านั้น โดยลูกค้าจะมียอดเงินที่สามารถใช้ได้ 150 บาทต่อวัน ส่วนวิธีการทุจริตในกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการเสนอของร้านค้า หรือกลุ่มคนที่อ้างตนว่าสามารถรับแลกเงินในแอพพลิเคชั่นออกมาเป็นเงินสดและต้องจ่ายส่วนแบ่งให้ผู้รับแลกเงิน 50 บาท โดยร้านค้าจะสแกนทำทีเหมือนซื้อสินค้าในราคา 300 บาท ซึ่งลูกค้าจ่าย 150 บาท จากนั้นร้านค้าจะเอาเงินสดคืนให้ลูกค้าจำนวน 100 บาท ภายหลังรัฐบาลก็จะจ่ายเงิน 150 บาทแก่ร้านค้าอยู่แล้ว เท่ากับว่าร้านค้าจะได้เงินเข้ากระเป๋า 200 บาทโดยที่ไม่เสียสินค้าส่วนลูกค้าก็ได้เงิน 100 บาท ไปฟรีๆ
กรณีสุดท้ายเป็นการซื้อของในร้านค้าที่ราคาไม่ตรงตามจริง ลูกค้ามักจะอ้างกับทางร้านค้าว่าตนเองไม่มีเงินอยู่ในแอพพลิเคชั่น หลังจากนั้นทางร้านค้าจะเป็นผู้เสนอว่าตนจะโอนเงินเข้าระบบให้จำนวน 150 บาท แต่ลูกค้าต้องซื้อสินค้าในราคา 300 บาท โดยสินค้าที่ลูกค้าจะได้รับจะอยู่ราคา 150 บาท ทำให้ร้านค้าได้กำไร 150 บาท จากส่วนต่างการซื้อขายลักษณะนี้ เพราะภายหลังรัฐบาลจะมีการจ่ายเงินอีกครึ่งแก่ร้านค้า
จากกรณีการทุจริตที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้กระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทยได้ออกมาชี้แจ้งว่า หลังจากนี้จะมีการประสานงานเพื่อติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากตรวจสอบพบการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการผู้ที่ได้รับสิทธิในโครงการจะถูกระงับการใช้แอพพลิเคชั่นและระงับการจ่ายเงินร้านค้าทันที หากประชาชนพบเห็นการทุจริตในรูปแบบเช่นนี้หรือรูปแบบอื่นๆ สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดได้ที่ halfhalf@fpo.go.th หรือโทรศัพท์หมายเลข 0-2273-9020 ต่อ 3697, 3527, 3548, 3509
ทั้งนี้เพื่อให้โครงการคนละครึ่งของภาครัฐที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนตลอดจนช่วยให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้นได้จริง ผู้เขียนเห็นว่าประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญที่จะร่วมด้วยช่วยกันคนละครึ่งกับหน่วยงานรัฐ เข้ามาสอดส่องการกระทำความผิดของผู้ที่พร้อมจะฉกฉวยผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการรับแลกเงินสด การขึ้นราคาสินค้า การซื้อสินค้าไม่ตรงความเป็นจริง หรือการทุจริตในรูปแบบอื่นๆ ที่อาจพบเห็นได้ นอกจากนี้ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มช่องทาง หรือเพิ่มเครื่องมือการแจ้งเบาะแสของประชาชนที่ง่ายและสะดวก เช่น การส่งเบาะแสผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ การส่งเบาะแสทางจดหมาย หรือการมีสายด่วนต่อสายตรงสำหรับรับเบาะแสการทุจริตเฉพาะโครงการ และหน่วยงานภาครัฐควรมีการร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานขับเคลื่อนปัญหาสังคมรวมไปถึงหน่วยงานภาคประชาสังคมที่มีการรับแจ้งเบาะแสการทุจริต เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วนมาช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้การทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นผู้เขียนเชื่อมั่นว่าหากทุกคนร่วมมือกันจะทำให้โครงการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือคนไทยผ่านปัญหาครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี