เข้าสู่เดือนธันวาคม เป็นเดือนสุดท้ายของปีที่หลายๆ คนจะได้ย้อนทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก่อนเริ่มบทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาย้อนทบทวนอะไรไปด้วยกันสักหน่อยว่าที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่หรือจะเป็นพื้นที่ต่างๆ ที่เราเคยผ่านไป ผู้อ่านเคยเห็นสิ่งเหล่านี้บ้างหรือไม่ ตึก อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่เห็นว่าจะได้ใช้งานสักที หรือเห็นว่าสร้างมาแล้วแต่ทำไมจึงถูกทิ้งร้าง รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างที่อาจจะสร้างไม่ทันเสร็จ แต่กลับถูกทิ้งไว้เหลือเพียงซากสิ่งของให้ดูต่างหน้าจนบางทีแทบจะดูไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าก่อนหน้านั้นมันกำลังถูกก่อสร้างเป็นสิ่งใด
เพื่อจะให้เห็นภาพนี้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจะขอยกข้อสังเกตที่ได้จากการติดตามเฟซบุ๊คเพจต้องแฉ ที่ได้เผยแพร่ประเด็นสิ่งปลูกสร้างถูกทิ้งร้างในหลายๆ จังหวัดอยู่บ่อยครั้งจากการที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ร่วมกันสอดส่องและส่งเรื่องราวไปในเพจต้องแฉ เพื่อร่วมกันหาคำตอบจนนำไปสู่การตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างประปาถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานในหลายจังหวัด, หอนาฬิกางบเกือบ 10 ล้านบาท ที่จังหวัดสกลนคร ที่สร้างไม่เสร็จเหลือแต่ซากถูกทิ้งร้างและกำลังอยู่ในการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสกลนคร รวมถึงล่าสุดที่ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยโสธรและชมรม STRONG -จิตพอเพียง ต้านทุจริตจังหวัดยโสธรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเข้ารับฟังการชี้แจงจากเทศบาลเมืองยโสธร กรณีข้อสงสัยจากเพจต้องแฉเรื่องอาคารอุทยานการเรียนรู้เมืองยโสธรถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานจริงมานานหลายปี เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีโครงการก่อสร้างต่างๆ ของรัฐอย่างมากมายในหลายพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นมาแต่ไม่เกิดผลสำเร็จในการใช้งาน สิ่งเหล่านี้ชวนให้น่าสงสัยหรือไม่ว่าเมื่อเกิดการใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปแล้วแต่ทำไมกลับไม่ได้ใช้งานและถูกทิ้งร้างไปในที่สุด เป็นความผิดพลาดจากสิ่งใด เป็นการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่
จากข้อสงสัยข้างต้นผู้เขียนไม่อาจอนุมานได้ว่านี่คือการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ คงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นเช่นนี้มีสาเหตุมาจากอะไร แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเกิดความสิ้นเปลืองจากการที่งบประมาณถูกใช้ไปอย่างไม่เกิดผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง บทความนี้ผู้เขียนจึงขอแบ่งปันข้อมูลที่ได้ศึกษาจากวิชาการงบประมาณภาครัฐ ที่จัดโดย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแง่ของการจัดทำงบประมาณภาครัฐว่ามีขั้นตอนอย่างไร ปัญหาความไม่ราบรื่นที่มักเกิดขึ้นในขั้นตอนนำงบประมาณไปใช้นั้นเกิดจากสาเหตุใดในที่นี้จะขอพูดถึงเพียงปัญหาโครงการก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้างสร้างไม่ได้ใช้งานต่างๆ ที่ได้ตั้งข้อสงสัยไว้ข้างต้น และจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง รายละเอียดมีดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 การจัดทำแผนงบประมาณ มี 3 ขั้นตอนได้แก่
1.ขั้นจัดทำแผนงบประมาณ โดยเจ้าหน้าที่วางแผนงบประมาณ ผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ
2.ขั้นให้ความเห็นชอบงบประมาณ โดยสมาชิกรัฐสภา/สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะกรรมการกำกับดูแลธรรมาภิบาลขององค์กร ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่วางแผนงบประมาณ
3.ขั้นบริหารงบประมาณหรือนำงบประมาณไปใช้ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเป็นการนำเงินงบประมาณไปใช้ตามแผนงานที่ได้จัดทำไว้ บุคลากรของหน่วยงานทุกคนจะเข้าไปมีส่วนร่วมโดยแตกต่างกันออกไปตามบทบาทหน้าที่ อาจจะเป็นผู้ควบคุมการเบิกจ่ายผู้อนุมัติการจัดซื้อหรือเบิกจ่าย ผู้จัดทำบัญชีและไปถึงเป็นผู้ใช้งบประมาณได้เช่นกัน
ประการที่ 2 สาเหตุความไม่ราบรื่นที่เกิดในขั้นตอนการนำงบประมาณไปใช้
ในที่นี้ขอยกประเด็นเฉพาะการนำงบไปใช้กับโครงการก่อสร้างแต่สร้างไม่เสร็จ ถูกทิ้งร้างหรือสร้างไม่ได้ใช้งาน สิ่งเหล่านี้คือการที่หน่วยงานได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณและจัดทำโครงการออกมาเป็นผลผลิต (Output) แต่ไม่ปรากฏผลลัพธ์ (Outcome) ออกมาตามแผนงานจริง สาเหตุอาจเกิดได้จากข้อบกพร่องของการจัดทำแผนงบประมาณที่ขาดความสมเหตุสมผล ไม่อาจเป็นจริงได้ หรืออาจเกิดจากข้อมูลที่ผิดพลาด การขาดข้อมูลหรือวิเคราะห์ปัญหาผิดพลาดทำให้ผลผลิตกับผลสำเร็จของแผนงานไม่เชื่อมต่อกัน
ประการที่ 3 วิธีการแก้ไขปัญหาของภาครัฐจะทำอย่างไรได้บ้าง
1.ต้องประมาณการรายได้ให้ถูกต้อง โดยตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นวิทยาศาสตร์ ผู้รับผิดชอบไม่ถูกกดดันและไม่มีผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of interest)
2.ต้องจัดทำแผนงบบประมาณด้วยความรอบคอบ ใช้ความรู้เป็นฐาน คือ มีเป้าหมายชัดเจน มีการวิเคราะห์ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารต้องเข้าไปร่วมจัดทำแผนงบประมาณ ประมาณค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องประเมินความพร้อมของโครงการ หน่วยงานให้ความเห็นชอบต้องรับผิดชอบอย่างรอบคอบ
จึงอาจกล่าวได้ว่าภาครัฐควรมีการวางแผนที่รอบคอบตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มจัดทำแผนงานไปจนถึงการนำงบประมาณไปใช้เพื่อไม่ให้เกิดความสิ้นเปลืองในการใช้งบประมาณ และจะต้องมีการสื่อสารให้กับประชาชนได้ทราบด้วยว่าหน่วยงานมีแผนงานอะไร จะดำเนินการเมื่อไรและอย่างไร ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วมจากประชาชนตามกลไกธรรมาภิบาลของภาครัฐ แต่หากภาคประชาชนหรือภาคส่วนต่างๆ มีข้อสังเกต พบความผิดปกติที่ทำให้สงสัยได้ว่าจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันหรือความไม่โปร่งใส พวกเราในฐานะพลเมืองของประเทศชาติจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง สิ่งที่สำคัญคือการมีข้อมูลในมือเพื่อง่ายต่อการขุดคุ้ย การตั้งข้อสงสัยอย่างมีที่มาที่ไป หรือเมื่อเปิดโปงเรื่องราวด้วยข้อมูลถูกต้องจะทำให้การเปิดโปงนั้นน่าเชื่อถือและง่ายต่อการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น แต่การจะมีข้อมูลในมือนั้นหลายคนคงท้อใจในการพยายามค้นหาจากหลายๆ ที่ และบางครั้งก็ไม่ทราบด้วยว่าจะเริ่มหาจากแหล่งข้อมูลใดได้บ้าง
ผู้เขียนเล็งเห็นว่าเครื่องมือหนึ่งที่ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้คือ ACT Ai เครื่องมือต้านโกงภาคประชาชน หรือแม้แต่ภาครัฐก็สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้ได้เช่นกันเพียงเข้าไปที่ https://actai.co/ และพิมพ์คำค้นหาใดๆ ที่ต้องการสืบค้นจะช่วยให้เราเห็นได้ว่าหน่วยงานรัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ใช้งบประมาณไปเท่าไร ใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง ไปจนถึงหน่วยงานนั้นๆ เคยจัดทำโครงการอะไรอีกบ้าง บริษัทเอกชนผู้รับจ้างเคยรับงานที่ไหนมาแล้วบ้างและเคยเป็นคู่แข่งเสนอราคากับบริษัทอื่นๆ ที่ส่อเค้าการฮั้วกันบ้างหรือไม่ เป็นต้น ต่อจากนี้เมื่อภาครัฐมีการจัดทำโครงการใด เราก็สามารถค้นหาข้อมูลเพื่อร่วมกันตรวจสอบและติดตามได้อย่างง่ายๆ หากใครพบเห็นโครงการก่อสร้าง
ที่ถูกทิ้งร้าง สร้างไม่ได้ใช้งานอย่าลืมเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ที่ACT Ai และส่งข้อมูลไปที่เพจต้องแฉ เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันติดตาม ขยายผลให้เกิดการตรวจสอบ อย่าปล่อยให้งบประมาณเหล่านั้นถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็น
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี