Start-Up series ที่เพิ่งจบไปไม่นานนี้ น่าจะเป็นซีรี่ส์ที่ประสบความสำเร็จในปี 2020 และถูกพูดถึงในแง่มุมต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการเป็นซีรี่ส์ที่ปลุกกระแสธุรกิจ Startup ด้านการสอดแทรกแง่มุมในการเริ่มธุรกิจ ด้านแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจเพื่อสังคมหรือที่เรียกว่า Social Enterprise ออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในตอนสุดท้ายที่ซีรี่ส์ดำเนินมาถึงจุดที่นวัตกรรม
รถขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยไร้คนขับกำลังใกล้ประสบความสำเร็จ แต่ยังมีข้อกังวลบางอย่างที่ CEO ที่กล้าคิด กล้าทำ ทุกอย่างยังต้องกลัว นั่นคือ ต่อให้ Product (สินค้า หรือบริการ) จะดีแค่ไหน แต่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันด้วย (Ecosystem)ไม่ว่าจะเป็น ด้านกฎหมาย สภาพแวดล้อมบนท้องถนนต้องเป็นไปตามโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ผู้เขียนต้องกลับมาย้อนดูธุรกิจเพื่อสังคม หรือโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสังคมต่างๆ รอบตัวของเราว่าที่ยังไปไม่ได้ไกลนั้นอาจจะเป็นเพราะ Ecosystem ในบ้านเรายังไม่พร้อมหรือเปล่า
หากจะชี้ให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น เราคงเคยได้ยินข่าวเรื่องการเปิดตัวระบบใบขับขี่ออนไลน์ DLT Smart License เมื่อต้นปี 2562 ของกรมการขนส่งทางบกที่ต้องการมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน แต่ก็เป็นของขวัญที่ผู้รับดีใจได้ไม่นานเพราะมีข้อโต้แย้งมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในภายหลังว่ายังไม่ได้รับข้อมูลการใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจากกรมการขนส่งทางบก เพราะฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาภายหลังได้ กรณีนี้ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถอย่างเราถึงกับเกิดคำถามว่า “อ้าว....เขาไม่ได้คุยกันมาก่อนเหรอ” เพราะประชาชนเกิดความสับสนเป็นอย่างมากว่าตกลงแอพพลิเคชั่นนี้ใช้ได้จริงหรือไม่ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่านอกจากการสร้างนวัตกรรมที่ดีแล้ว การสื่อสารและความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน
จากเรื่องแอพพลิเคชั่นที่เกือบจะไม่พร้อม เพราะขาดการสื่อสารของหน่วยงาน 2 หน่วยงานเราลองมองภาพให้กว้างขึ้น สู่ปัญหาสังคมใหญ่ๆ เช่น การคอร์รัปชันก็เป็นอีกปัญหาที่แก้ได้ยาก เพราะนอกจากจะเป็นปัญหาที่อยู่มานาน เรียกได้ว่าเป็นต้นตอของปัญหาสังคมอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนนั้น เรื่องของความพร้อมในการแก้ปัญหาของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกัน ก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้นยังเดินหน้าได้ไม่ไกลนัก ถึงแม้องค์กรที่รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันอย่าง ป.ป.ช. จะได้แถลงในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล International Anti-Corruption Day (9 ธ.ค. ของทุกปี) ว่าภาพรวมการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมีแนวโน้มในทางบวกมากขึ้น เพราะได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุม เร่งรัดให้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในด้านวินัยและอาญาอย่างจริงจัง สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนของชมรม STRONG ที่เข้มแข็งขึ้นในการจับตา และแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศก็ตาม
บทบาทของภาคประชาชนนั้นนับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณของภาครัฐ ซึ่งการทุจริตด้านจัดซื้อจัดจ้างเป็นข้อร้องเรียนที่ ป.ป.ช. ได้รับมากที่สุดในปี 2562 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 207,060 ล้านบาท แต่ประชาชนคนธรรมดาจะเข้ามาจับตาการใช้งบประมาณของภาครัฐนั้นก็ทำได้ยากเหลือเกิน ถึงแม้ภาครัฐจะเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ในระบบออนไลน์ e-GP แต่การจะเข้าไปหาข้อมูลสักโครงการนั้นช่างยากลำบาก เพราะจำเป็นต้องกรอกข้อมูลโครงการให้ถูกต้อง รวมทั้งยังต้องเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง
จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ด้วยตัวเอง จึงเป็นกำแพงที่ทำให้คนธรรมดาไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจับตามองการใช้งบประมาณของภาครัฐได้ง่ายนักส่วนนี้เองทำให้ภาคประชาสังคมอย่างองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และเครือข่ายเข้ามาร่วมมือกันสร้างเครื่องมือเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนจับตามองการใช้จ่ายงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ง่ายขึ้นอย่างระบบ ACT Ai ที่วันนี้เปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้แล้ว แต่กว่าจะรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลสำคัญของภาครัฐมาประมวลเป็นระบบ ACT Ai ได้นั้นก็เจออุปสรรคต่างๆ มากมาย โดยเรื่องที่สำคัญที่สุด คือการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์จะสามารถอ่าน และดึงมารวบรวมเป็นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ยังทำได้ยากมาก ยกตัวอย่างเช่น หากเราเห็นข่าวนักการเมืองที่ดูร่ำรวยผิดปกติ เราสามารถหาข้อมูลบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองที่ ป.ป.ช. เปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ได้ แต่ต้องใช้ต้นทุนในการหาข้อมูลและการอ่านมากพอสมควร เพราะข้อมูลนั้นอยู่ในรูปแบบของไฟล์ PDF ที่ไม่สามารถให้คอมพิวเตอร์ประมวลข้อมูลออกมาได้โดยอัตโนมัติ เมื่อจะนำมาเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จึงจำเป็นต้องใช้เวลา และแรงงานมนุษย์ในการอ่าน และแยกแยะข้อมูลที่เกี่ยวข้องลงในระบบฐานข้อมูลอีกอยู่ดี
ดังนั้น การสร้าง Eecosystem ที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน นั่นคือภาครัฐเปิดเผยข้อมูลที่พร้อมในทุกรูปแบบ ภาคเอกชนและประชาสังคมสนับสนุนกระบวนการ เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และภาคประชาชนเข้ามาร่วมใช้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย จะช่วยลดเวลา ลดทรัพยากร แต่เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมของประชาชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน
นันท์วดี แดงอรุณ HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี