ผ่านปี 2020 มาได้ไม่นาน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นปีที่ชวนให้น่าจดจำและหวนระลึกถึงอยู่ไม่น้อย เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์ที่ยากจะคาดเดามากมาย จนบังคับให้ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องการงาน การใช้ชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพใจ และความมั่นคงในการดำเนินชีวิต เป็นปีที่ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักว่านอกจากเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจแล้ว “การออมเงินเพื่ออนาคต” ก็นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าการออมเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ย 2% ต่อปีหรือน้อยกว่า อย่างที่เคยทำมาตลอดนั้นดูจะกลายเป็นทางเลือกที่ไม่ยั่งยืนสักเท่าไหร่นัก ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่กำลังจะมาถึงในอนาคต ส่งผลให้ผู้เขียนหันมาสนใจการลงทุนในรูปแบบหุ้นและกองทุนรวมมากขึ้น เพราะเป็นการลงทุนที่เปิดกว้างและมีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งนอกจากผลประกอบการที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกลงทุนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้เขียนให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือกระแสเรื่องการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบกับสังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของธุรกิจด้วย
จากผลสำรวจของบริษัทให้บริการทางการเงิน Morgan Stanley (Nicki Bourlioufas,2017) ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในฝั่งยุโรปเมื่อปี 2015 พบว่า 84% ของนักลงทุนรุ่นใหม่ (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 80sถึง 90s) ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม(Socially Responsible Investing) เพิ่มมากขึ้น โดยนักลงทุนและผู้บริโภครุ่นใหม่มักจะเลือกลงทุนกับธุรกิจที่มีการบริหารงานภายในอย่างโปร่งใส ใส่ใจต่อสภาพแวดล้อม เป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อโลกและต่อแรงงานให้น้อยที่สุด เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษในปี 2006 (smart investor,2017) ที่นักลงทุนมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความโปร่งใสโดยมีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ ESG อยู่ที่ 6,000 ล้านปอนด์ สิบปีต่อมาในปี 2016 การลงทุนขยายตัวและเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านปอนด์ซึ่งปัจจุบันการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Socially ResponsibleInvesting) ได้เป็นที่ยอมรับจากผู้ลงทุนทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างในยุโรปและสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่านอกจากผลตอบแทนที่ยั่งยืนแล้ว ก็ย่อมนำมาซึ่งผลตอบแทนในระยะยาวที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
“แล้วกองทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร” ผู้เขียนได้ศึกษาตัวอย่างกองทุนจากหลากหลายประเทศพบว่าการตื่นตัวต่อการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ขยายไปในวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่นกรณีหุ้น Volkswagen ในปี 2015 ที่มีการบิดเบือนข้อมูลการปล่อยมลพิษออกสู่อากาศของเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้ราคาหุ้นลงไปมากกว่า 50% ในระยะเวลา 6 เดือน (Theguardian,2015) หรือจะเป็นกองทุนบำนาญ (Government Pension Fund Global) ของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นกองทุนที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเป็นจำนวนมหาศาล โดยในปี 2017 ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นธุรกิจประเภทขนส่งเดินเรือชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย เพราะกระบวนการกำจัดซากเรือที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นผลลบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหา Human Rights ต่อกลุ่มแรงงานของบริษัท (Norges Bank Investment,2017) นอกจากนี้ในประเทศออสเตรเลีย มีบริษัทกองทุนที่ชื่อว่า Australian Ethical Investment ก่อตั้งขึ้นในปี 1986 โดยจะเลือกลงทุนในบริษัทด้านนวัตกรรมสีเขียว พลังงานสะอาด บริษัทการแพทย์ที่คิดค้นนวัตกรรมเพื่อโลก และจะไม่ลงทุนในบริษัทยาสูบ เหมืองแร่ ถ่านหิน และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงปัจจัยด้านสิทธิมนุษย์และสัตว์ นอกจากนี้ Australian Ethical Investment ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจเก่าๆ ได้เริ่มเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการออกผลิตภัณฑ์กองทุน Advocacy Fund ซึ่งใช้เงินส่วนหนึ่งเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ESG โดยเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นและเข้าไปรณรงค์พูดคุยกับทีมบริหาร ในการหาทางออกเพื่อให้กับบริษัทเหล่านั้นสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไปได้ (Tim Smith,2020) นี่ถือว่าเป็นตัวอย่างของการจุดประกายให้นักลงทุนตื่นตัวต่อประเด็นดังกล่าว และหันมาให้ความสำคัญต่อการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
“ในประเทศไทยมีการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่” จากการศึกษาของผู้เขียนพบว่าในปี 2017 มีการจัดตั้งกองทุนที่ชื่อว่า กองทุนรวมธรรมาภิบาล (CG Fund: CorporateGovernance Fund) โดยเกิดจากความร่วมมือของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 11 บริษัท ได้แก่ บลจ.กรุงไทย, บลจ.กรุงศรี,กสิกรไทย, บลจ.ทหารไทย, บลจ.ทาลิส, บลจ.ทิสโก้, บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.บัวหลวง, บลจ.บางกอกแคปปิตอล, บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) และ บลจ.เอ็มเอฟซี เพื่อลงทุนในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการกำกับกิจการที่ดีหรือมีธรรมาภิบาลที่ดีและเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล โดยมีเกณฑ์ในการคัดกรองบริษัทที่มาร่วมลงทุน ดังนี้ กองทุนจะพิจารณาลงทุนเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ผ่านการประเมินด้านธรรมาภิบาล โดยต้องได้ CG Rating 4 ดาวขึ้นไป จากสถาบัน IOD และผ่านการรับรองจาก CAC (Thai IOD) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 455 บริษัท เหตุที่เกณฑ์ในการคัดเลือกเป็นเช่นนั้น เพราะกองทุน CG Fund เชื่อมั่นว่า “ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีในระยะยาวย่อมมาจากกิจการที่มีธรรมาภิบาลเช่นกัน” ซึ่งจุดเด่นของกองทุน CG Fund ก็คือนักลงทุนและ บลจ. สามารถเป็นส่วนเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างสร้างสรรค์สังคมที่ดีและรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆ กัน เพราะกองทุนจะแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุน ที่ บลจ. จะได้รับราว 40% เพื่อไปสนับสนุนองค์กรหรือโครงการที่มีแนวคิดในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านการคอร์รัปชันในประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2018 – 2020กองทุน CG Fund ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการโครงการที่มีแนวคิดในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านการคอร์รัปชัน จำนวน 9 โครงการ เป็นงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 37 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวได้กระจายกันไปทำงานเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในภาคส่วนต่างๆ ดังนี้
1. มีโครงการที่ทำงานในมิติเรื่องการป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชันและการปลูกฝังธรรมาภิบาลในภาคเอกชน โดยเสริมสร้างให้ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และคู่ค้าของบริษัทขนาดใหญ่มีนโยบาย ข้อปฏิบัติ และระบบควบคุมภายในที่ดี สามารถใช้ป้องกันการให้และรับสินบน และช่วยกำจัดปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย จำนวน 1 โครงการ คือ CAC For SME โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการไทย (IOD)
2. มีโครงการที่ทำงานในมิติเรื่องการป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชันและการปลูกฝังธรรมาภิบาลในภาครัฐ และภาคประชาสังคมจำนวน 2 โครงการ คือ หนึ่ง โครงการบัตรคะแนนชุมชน (Community Scorecard) โดยสร้างเสริมหลักธรรมาภิบาลผ่านกลไกเครื่องมือ ที่เน้นไปที่หลักการมีส่วนร่วม หลักการเปิดเผยโปร่งใส และการสร้างกลไกความรับผิดชอบร่วมกันทำภายในชุมชน โดยการปลูกฝังความรู้และให้เครื่องมือในการป้องกันการเกิดคอร์รัปชันในท้องถิ่น โดยกลุ่มลูกเหรียง ที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ สอง โครงการแนวร่วม Big Open Data ที่เชื่อมโยง จัดการ และวิเคราะห์ชุดข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อสนับสนุนนักข่าว สื่อ ภาคประชาสังคม และประชาชน เพิ่มมาตรฐานความโปร่งใสใหม่ในสังคมโดยสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกันแบบภาคีเครือข่าย โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย
3.มีโครงการที่ทำงานในมิติเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันโดยภาคประชาสังคม จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการเสริมสร้างศักยภาพให้ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศและระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถการทำหน้าที่ของฝ่ายเลขานุการและผู้สังเกตการณ์อิสระ ให้สามารถพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
4.มีโครงการที่ทำงานในมิติเรื่องการเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันโดยภาคประชาสังคมจำนวน 1 โครงการ คือ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดพลเมืองตื่นรู้สู้โกง (Active Citizen) เพื่อให้ผู้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและร่วมรับผิดชอบกับปัญหาการทุจริตตามบทบาทของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นสังคม ชุมชน สื่อ หรือหน่วยงานต่างๆ โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
5.มีโครงการที่ทำงานในมิติเรื่องการปลูกฝังองค์ความรู้เรื่องการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ หนึ่งเกมส์ Corrupt The Game เป็นโครงการเกมส์ที่สร้างความตระหนัก เรียนรู้ปัญหา และผลกระทบของการคอร์รัปชันกับกลุ่มเยาวชน โดยมีคุณครูเป็นผู้นําร่องการเรียนรู้ ผ่านการเล่นเกม เพื่อสร้างการรับรู้ปัญหาคอร์รัปชัน และการเป็นพลเมืองที่ดีให้กับนักเรียนในอนาคต โดย บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด, สอง โครงการหลักสูตรสุจริตไทย ที่พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรที่ให้ความรู้เรื่องความสุจริต ธรรมาภิบาล การทุจริตคอร์รัปชัน ผลกระทบและวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษา นักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมือง และบุคคลทั่วไป โดย บริษัทสุจริตไทย จำกัด, สาม โครงการการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการพัฒนาครู สู่การปลูกฝังคุณธรรมและธรรมาภิบาลในห้องเรียน ในรูปแบบออนไลน์ โดย บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (Learn Education) และสี่โครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และพฤติกรรมต่อต้านการทุจริต ให้แก่นักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดย มูลนิธิยุวพัฒน์
จะเห็นได้ว่ากองทุน CG Fund จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม เพราะนอกจากโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนกับการลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการบริหารจัดการแล้ว ยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการที่มีแนวคิดในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนอีกด้วย สามารถตามติดข่าวสารจากการลงทุนในกองทุนรวมต่างๆได้ที่ >>> http://www.cgfundthailand.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี